อย่างไรก็ตาม ได้กำชับให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ติดตามสถานการณ์ภัยแล้งและปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรและประชาชนอย่างใกล้ชิด เพื่อปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่ที่ประสบปัญหาภัยแล้งและปัญหาภัยพิบัติต่าง ๆ ทันทีเมื่อสภาพอากาศเอื้ออำนวย อีกทั้งยังได้หารือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน) และนำเรียนนายกรัฐมนตรีถึงแนวทางการการแก้ไขปัญหาในเรื่องบุคคลากรของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ซึ่งนายกรัฐมนตรีเห็นควรให้มีการปรับโครงสร้างกำลังคน และมีการจัดซื้อยุทโธปกรณ์ทดแทนที่เสื่อมสภาพไปแล้ว อีกทั้งจะมีการซ่อมแซมยุทโธปกรณ์ที่ชำรุดเสียหายอย่างต่อเนื่อง ซึ่งได้มอบหมายอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตรไปปฏิบัติการ
สำหรับภาพรวมของปัญหาภัยแล้งในปีนี้ เนื่องจากปริมาณน้ำในเขื่อนในแต่ละที่มีปริมาณน้อย แต่กระทรวงเกษตรฯ มีการเตรียมการรับมือสถานการณ์ภัยแล้ง ซึ่งโครงการต่าง ๆ ที่กรมชลประทานดูแลอยู่นั้น มีการขับเคลื่อนโดยตลอด อีกทั้งในขณะนี้รองนายกรัฐมนตรี (พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ) ได้กำกับดูแลอย่างใกล้ชิด และได้สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ภัยแล้งในปี 2563 ที่จะถึงนี้ อย่างไรก็ตาม ต้องมีการรณรงค์ให้ทุกภาคส่วนให้ความรู้แก่เกษตรกร ซึ่งสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคและเกษตรกร หากปริมาณน้ำมีจำนวนจำกัด ต้องช่วยกันรักษาและใช้น้ำอย่างประหยัด หรือการปลูกพืชใช้น้ำน้อย เป็นต้น
ด้านนายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ยังคงมีการตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 18 หน่วยปฏิบัติการกระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ได้แก่ เชียงใหม่ พิษณุโลก ตาก ลพบุรี กาญจนบุรี นครราชสีมา ขอนแก่น สุรินทร์ ระยอง สุราษฎร์ธานี และสงขลา อีกทั้งยังมีฐานเติมสารฝนหลวง จำนวน 3 ฐาน ได้แก่ สระแก้ว บุรีรัมย์ และนครสวรรค์ มีอากาศยาน จำนวน 28 ลำ ได้แก่ อากาศยานของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร จำนวน 20 ล้า (Caravan จำนวน 10 ลำ Casa จำนวน 6 ลำ Super King Air จำนวน 2 ลำ และ CN-235 จำนวน 2 ลำ) อากาศยานของกองทัพอากาศ จำนวน 7 ลำ (BT-67 จำนวน 3 ลำ และ AU-23 จำนวน 4 ลำ) และอากาศยานของกองทัพบก จำนวน 1 ลำ (Casa จำนวน 1 ลำ) เพื่อเดินหน้าช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรที่ประสบปัญหาภัยแล้ง และพื้นที่ที่มีความต้องการน้ำด้านการเกษตรในช่วงปลายฤดูฝน รวมทั้งเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้กับเขื่อน/อ่างเก็บน้ำ จำนวน 20 แห่ง ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแม่กวงอุดมธารา เขื่อนแม่มอก เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เขื่อนกระเสียว เขื่อนทับเสลา เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนลำพระเพลิง เขื่อนลำตะคอง เขื่อนลำแชะ เขื่อนลำนางรอง เขื่อนมูลบน อ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มาก อ่างเก็บน้ำคลองสียัด อ่างเก็บน้ำประแสร์ อ่างเก็บน้ำบางวาด อ่างเก็บน้ำบางเหนียวดำ อ่างเก็บน้ำป่าพะยอม และอ่างเก็บน้ำคลองหัวช้าง
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit