กลุ่ม KTIS ผุดโครงการ 'ซุปเปอร์อ้อย’ ยกระดับคุณภาพอ้อยสูงขึ้น ใช้เทคโนโลยีเชื่อมข้อมูลจากไร่สู่โรงงาน เพิ่มคุณภาพชีวิตชาวไร่

08 Nov 2019
กลุ่ม KTIS ผุดโครงการ "ซุปเปอร์อ้อย" โดยสนับสนุนองค์ความรู้ งานวิจัย นวัตกรรม และเทคโนโลยีใหม่ๆ ให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อย ตามแนวทางสร้าง 'สมาร์ทฟาร์มเมอร์' หวังยกระดับคุณภาพอ้อยและสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กับชาวไร่อ้อย ล่าสุดนำเทคโนโลยี GPS และ GIS เข้ามาใช้ติดตาม ตรวจสอบ และวิเคราะห์ข้อมูล ตั้งแต่ในแปลงอ้อย รถตัดอ้อย และรถบรรทุกอ้อย เพื่อประสิทธิภาพสูงสุดในการนำอ้อยเข้าสู่โรงงาน และแก้ปัญหาการสูญเสียเวลาการรอคิวเข้าหีบ
กลุ่ม KTIS ผุดโครงการ 'ซุปเปอร์อ้อย’ ยกระดับคุณภาพอ้อยสูงขึ้น ใช้เทคโนโลยีเชื่อมข้อมูลจากไร่สู่โรงงาน เพิ่มคุณภาพชีวิตชาวไร่

นายประพันธ์ ศิริวิริยะกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือกลุ่ม KTIS ผู้นำในอุตสาหกรรมน้ำตาลและอุตสาหกรรมต่อเนื่องครบวงจร เปิดเผยว่า เพื่อการเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน กลุ่ม KTIS จึงให้ความสำคัญกับความมั่นคงทางวัตถุดิบอย่างมากมาโดยตลอด ซึ่งบุคคลสำคัญในด้านวัตถุดิบก็คือเกษตรกรชาวไร่อ้อย ดังนั้น กลุ่ม KTIS จึงได้พัฒนากระบวนการเสริมสร้างคุณภาพอ้อยผ่านการให้ความรู้ อบรมสัมมนา และสาธิตการใช้เครื่องไม้เครื่องมือและเทคโนโลยีใหม่ๆ ให้กับชาวไร่อ้อยอย่างต่อเนื่อง โดยได้จัดทำอย่างเป็นระบบและวัดผลได้ เช่น การมีโรงเรียนเกษตรกรอ้อย และอุทยานการเรียนรู้ ที่กระจายตามพื้นที่ต่างๆ

"ปรัชญาของกลุ่ม KTIS ที่เรายึดมั่นมาตลอด คือ ชาวไร่อ้อยมั่งคั่ง กลุ่มเคทิสมั่นคง ดังนั้น กลุ่มเราจึงให้ความสำคัญกับชาวไร่อ้อยมาก โดยได้มอบหมายให้พนักงานฝ่ายไร่ลงไปสัมผัสใกล้ชิดกับชาวไร่อ้อย เพื่อจะได้รับรู้ว่าจะต้องเติมเต็มหรือช่วยเหลืออะไรให้กับชาวไร่อ้อยบ้าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความรู้ เทคนิคการเพาะปลูกให้ได้ผลผลิตต่อไร่ที่สูง รวมไปถึงการใช้เครื่องมือ เครื่องจักรกล หรือเทคโนโลยีต่างๆ โดยล่าสุดได้จัดทำโครงการซุปเปอร์อ้อย ซึ่งเป็นการนำเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาประยุกต์ใช้กับการจัดหาอ้อย ตัดอ้อย และขนส่งอ้อยเข้าสู่โรงงาน อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด" นายประพันธ์กล่าว

นายภูมิรัฐ หวังปรีดาเลิศกุล ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายไร่ กลุ่ม KTIS ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ส่วนหนึ่งของโครงการ "ซุปเปอร์อ้อย" คือการนำเทคโนโลยี GPS และ GIS เข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการวัตถุดิบหรืออ้อย โดยสามารถติดตาม ตรวจสอบ และวิเคราะห์ข้อมูลอ้อยได้อย่างครบถ้วน

ทั้งนี้ การเก็บเกี่ยวอ้อยเข้าหีบจะมี 3 ขั้นตอนหลักๆ คือ ฝ่ายจัดหาปริมาณอ้อย งานตัดอ้อย และ งานขนส่งอ้อยเข้าสู่โรงงาน ซึ่งเดิมทั้ง 3 ด้านนี้ทำงานแบบแยกส่วน ทางบริษัทฯ จึงมาคิดว่าหากมีโซลูชั่นที่สามารถจัดการงานทั้ง 3 มิตินี้เข้าด้วยกัน ก็น่าจะทำให้ประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการจัดการอ้อยดีขึ้น โดยจะได้อ้อยที่มีความพร้อมในการเข้าหีบสูงสุด บริหารจัดการรถตัดอ้อยในแต่ละพื้นที่ได้อย่างเหมาะสม รวมถึงเกิดความคล่องตัวด้านการขนส่ง ทำให้ใช้เวลาในการขนส่งอ้อยเข้าสู่โรงงานน้อยลง

"จากการประเมินในเชิงตัวเลข ตั้งแต่ตัดอ้อย ขนส่ง จนกระทั่งเข้าหีบ บางกรณีใช้เวลานานถึง 70 ชั่วโมง แต่โซลูชั่นที่นำเข้ามาใช้ สามารถลดเวลาลงมาเหลือเพียงไม่เกิน 16 ชั่วโมง ซึ่งเวลาที่ลดลงนี้ชาวไร่อ้อยสามารถนำไปทำอย่างอื่นที่จะทำให้พวกเขามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ ส่วนในด้านของวัตถุดิบนั้น เราก็จะได้อ้อยที่มีคุณภาพดีขึ้น ชาวไร่อ้อยก็จะได้รับค่าอ้อยที่สูงขึ้น โดยได้ตั้งเป้าไว้ว่า ด้วยเทคโนโลยีนี้ และการพัฒนาเกษตรกรสู่สมาร์ทฟาร์มเมอร์ จะสามารถยกระดับคุณภาพอ้อยได้สูงกว่าเดิมถึง 30%" นายภูมิรัฐกล่าว

กลุ่ม KTIS ผุดโครงการ 'ซุปเปอร์อ้อย’ ยกระดับคุณภาพอ้อยสูงขึ้น ใช้เทคโนโลยีเชื่อมข้อมูลจากไร่สู่โรงงาน เพิ่มคุณภาพชีวิตชาวไร่ กลุ่ม KTIS ผุดโครงการ 'ซุปเปอร์อ้อย’ ยกระดับคุณภาพอ้อยสูงขึ้น ใช้เทคโนโลยีเชื่อมข้อมูลจากไร่สู่โรงงาน เพิ่มคุณภาพชีวิตชาวไร่ กลุ่ม KTIS ผุดโครงการ 'ซุปเปอร์อ้อย’ ยกระดับคุณภาพอ้อยสูงขึ้น ใช้เทคโนโลยีเชื่อมข้อมูลจากไร่สู่โรงงาน เพิ่มคุณภาพชีวิตชาวไร่