ส่วนต่อขยายสีแดงอ่อน และสีแดงเข้ม
จากมติ ครม.เมือต้นปี 2562 เห็นชอบโครงการก่อสร้างรถไฟชานเมืองส่วนต่อขยายสายสีแดง 2 โครงการ วงเงินลงทุนส่วนต่อขยายรวม 16,772.58 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นรถไฟฟ้าวิ่งบนรางขนาด 1 เมตร เดินรถด้วยระบบไฟฟ้าที่จ่ายไฟเหนือหัว (Overhead feeding system) วิ่งด้วยความเร็วสูงสุด 160 กม./ชม. เมื่อแล้วเสร็จจะเติมเต็มโครงข่ายของสายสีแดงช่วงบางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน ซึ่งจะเปิดให้บริการภายในเดือน ม.ค. 2564 ทำให้การเดินทางเชื่อมต่อในกลางกรุงเทพฯกับชานเมืองด้านทิศเหนือ ไปยังพื้นที่ จ.ปทุมธานี และตะวันตกไปยัง จ.นครปฐม สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น โดยมีสถานีกลางบางซื่อเป็นจุดเชื่อมต่อส่วนต่อขยาย แยกเป็น สายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา ระยะทาง 14.8 กม. วงเงิน 10,202.18 ล้านบาท ประกอบด้วยการสร้างสถานีเพิ่ม 4 สถานี ได้แก่ สถานีฉิมพลี สถานีกาญจนาภิเษก สถานีศาลาธรรมสพน์ และสถานีศาลายา ส่วนสายสีแดงเข้ม ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระยะทาง 8.84 กม. วงเงิน 6,570.40 ล้านบาท มีการก่อสร้างสถานีเพิ่ม 4 สถานี ได้แก่สถานีคลองหนึ่ง สถานีเชียงรากน้อย สถานีมหาวิทยาลัยกรุงเทพที่สร้างเพิ่มใหม่ และสถานีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ใช้เวลาก่อสร้าง 36 เดือน กำหนดแล้วเสร็จราวกลางปี 2566
ศักยภาพของพื้นที่ศาลายา
ผศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ประธานเปิดงาน กล่าวว่า ในระยะเวลา 4 ปี ข้างหน้า เมื่อระบบรถไฟรางคู่ รถไฟฟ้าและรถไฟความเร็วสูงแล้วเสร็จ ทำให้เกิดความต้องการผู้เชี่ยวชาญและบุคลากรระบบขนส่งทางรางเพิ่มอีกอย่างน้อย 20,000 คน ทั้งนี้ ในปัจจุบัน คณะวิศวะมหิดล โดยกลุ่มสาขาวิชาโลจิสติกส์และระบบขนส่งทางราง เร่งผลิตบุคลากรรองรับการขนส่งระบบราง เปิดการเรียนการสอนในระดับปริญญาโท 2 หลักสูตร ได้แก่ 1.หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน เป็นสหวิทยาการที่บูรณาการศาสตร์ด้านวิศวกรรมและการบริหารจัดการเข้าด้วยกัน และ 2.หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาระบบขนส่งทางราง (หลักสูตรนานาชาติ) ระยะ 2 ปี
การพัฒนาพื้นที่รอบสถานีศาลายา นับเป็นพื้นที่ซึ่งมีความโดดเด่นทั้งทางประวัติศาสตร์ วิถีวัฒนธรรม ทรัพยากร การศึกษาวิจัยและมีศักยภาพสูงรองรับอนาคต นอกจากจะมีโครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีแดงอ่อน ตลิ่งชัน - ศาลายาแล้ว ในอนาคตยังมีอีก 6 โครงการคมนาคมขนส่งสำคัญอีกด้วย ได้แก่ โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ถนนวงแหวนรอบที่ 3 , โครงการรถไฟความเร็วสูง ลงสู่ภาคใต้ , โครงการถนนนครอินทร์ – ศาลายา, โครงการสนามบินนครปฐม, โครงการนำร่อง คลองมหาสวัสดิ์ เชื่อมล้อ-ราง-เรือ ,โครงการต่อขยายถนนยกระดับบรมราชชนนี เป็นต้น
สนข.คมนาคม เร่งผลักดันร่าง พรบ.TOD
นายชยธรรม์ พรหมศร รองผู้อำนวยการ สนง.นโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคม กล่าวว่านับจากนี้ไป รถไฟฟ้าที่รัฐบาลอนุมัติแล้ว 464 ก.ม. โดยทำเสร็จแล้ว 25 % และจะทยอยเปิดไปจนครบ 10 สายเป็นโครงข่ายสมบูรณ์ปี 2572 ในอนาคตจะเปลี่ยนพฤติกรรมการเดินทางเข้าสู่ระบบรางมากขึ้น ปัจจุบันมีคนใช้ระบบราง 6 แสนคนต่อวัน ต่อไปน่าจะทะลุหลักล้าน โดยสายสีเขียวจะเป็นกระดูกสันหลังหลัก (Backbone) หลายคนตั้งคำถาม เหตุใดการพัฒาพื้นที่ รอบสถานีรถไฟฟ้าของไทยจึงไม่เหมือนอย่างในญี่ปุ่น เหตุเพราะกฏหมายเป็นอุปสรรค และขาดการวางแผนที่รอบด้าน
เราต้องมี Master Plan ในการพัฒาพื้นที่รอบสถานี Transit Oriented Development (TOD) อย่างที่ทางคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ทำ โดยลงพื้นที่สำรวจ ศึกษาวิเคราะห์วิจัย ออกแบบ เปิดการมีส่วนร่วมของชุมชน และทำแผนศึกษาวิจัยออกมา ก่อนหน้านี้ พื้นที่เวนคืน หรือก่อสร้างรถไฟฟ้าจะใช้เฉพาะสาธารณประโยชน์เท่านั้น ไม่สามารถนำมาสร้างรายได้ กระทรวงคมนาคมจึงได้เร่งผลักดัน พ.ร.บ.การพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีขนส่งมวลชน (TOD) ให้สามารถออกเป็นกฎหมายได้ใน 1-2 ปีข้างหน้า เพื่อส่งเสริมให้องค์กรท้องถิ่นสามารถนำพื้นที่ไปสร้างมูลค่าเพิ่มทางรายได้ดังเช่นในนานาประเทศ และเสริมศักยภาพการพัฒนาเมืองในประเทศไทยให้ยั่งยืนอีกด้วย
TOD ต้องครบ Work –Live – Play
นายนคร จันทศร ที่ปรึกษาผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า ที่ผ่านมาเรามักจะเห็นการพัฒนาเมืองตามยถากรรมเป็นสายริบบิ้น (Ribbon Development) บ้านอาคารสร้างขึ้นตามแนวถนน หรือแนวรถไฟฟ้าที่เกิดขึ้น แนวคิดการพัฒนา TOD ต้องเป็น Work –Live – Play เป็นแหล่งงาน สามารถใช้ชีวิตและพักผ่อนหย่อนใจได้ ไม่ใช่มาซื้อคอนโดเมืองอยู่เพราะหนีรถติด เสาร์อาทิตย์กลับไปนอนบ้านนอกเมือง TOD นั้นจะต้องมีพื้นที่สร้างสรรค์และนิเวศทางธรรมชาติ มีระบบ Feeder ขนคนมาป้อนถานีรถไฟฟ้า ออกแบบให้เดินเท้า 5 - 10 นาที จากฟีดเดอร์หรือที่พักอาศัย รวมเวลาเดินทางจากบ้านไปทำงานและรอฟีดเดอร์ไม่ควรเกิน 1 ชั่วโมงครึ่งเปรียบเทียบ 2 พื้นที่ ขณะที่พื้นที่รอบสถานีธรรมศาสตร์มีภาระหนักจากด้านการจราจรและการจัดการที่ดินที่ซับซ้อนกว่า ศาลายาน่าจะเริ่มพัฒนาได้เร็วกว่า เนื่องจากเจ้าของที่ดินหลักมีจำนวนน้อยราย กล่าวคือ สำนักทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ การรถไฟแห่งประเทศไทย และมหาวิทยาลัยมหิดล สถานีศาลายาและธรรมศาสตร์ จะเป็นต้นแบบของการพัฒนา TOD ที่มีการศึกษาวิจัยวางแผนพัฒนาก่อน โดยยึดประโยชน์ส่วนรวม ทำให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน
แผนพัฒนาพื้นที่รอบสถานีศาลายา...ต้นแบบพัฒนา TOD
ผศ.ดร.วศพร เตชะพีรพานิช รองหัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมโยธาและสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ผลการศึกษาและวิจัยการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีศาลายาเพื่อรองรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง พบว่า ในอนาคตตำบลศาลายามีแนวโน้มที่จะมีประชากรและผู้สัญจรเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้เกิดการเชื่อมต่อกันด้านคมนาคม และการบูรณาการพื้นที่ให้เป็นประโยชน์ จึงมีแผนการศึกษาพัฒนาและดำเนินการ 3 โครงการ คือ โครงการที่ 1 การศึกษาแนวทางการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีขนส่งมวลชน (Study of Transit – Oriented Development) โดยดำเนินการศึกษาข้อมูลการใช้ประโยชน์ที่ดิน ข้อมูลประชากรและพื้นที่ การออกแบบพื้นที่ตามเกณฑ์ TOD Standard 4 หมวด คือ การเดิน, จักรยาน, การเชื่อมต่อ และระบบขนส่งรอบสถานีขนส่งมวลชน ได้เสนอแนะการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีใน 2 ระยะ ดังนี้
ในระยะที่ 1 (ก่อนการประกวดราคาก่อร้างสายสีแดงอ่อน) ประกอบด้วย 1. มหาวิทยาลัยมหิดล จัดทำทางข้าม ทางเดินและทางจักรยานระยะ 300 เมตร เชื่อมจากมหาวิทยาลัยมายังสถานีศาลายา 2. เทศบาลตำบลศาลายา / กรมทางหลวงชนบท / สภ.พุทธมณฑล รวมจุดเชื่อมต่อรถโดยสารสาธารณะให้อยู่บริเวณด้านหน้าสถานี และปรับปรุงป้ายรถโดยสารประจำทาง และจัดทำจุดจอด รับ-ส่ง ผู้โดยสารรถตู้สาธารณะ 3.กรมทางหลวง / กรมทางหลวงชนบท ปรับปรุงทางเท้าและป้าย บนถนนหลักถนนพุทธมณฑลสาย 4 และถนน 3004 4.เทศบาลตำบลศาลายา ปรับปรุงทางเท้าและทางจักรยานในพื้นที่สถานีให้ได้มาตรฐานสำหรับคนทุกวัยและสร้างทางเดิน และทางจักรยานริมคลองมหาสวัสดิ์
ในระยะที่ 2 (หลังการประกวดราคาก่อสร้าง) ประกอบด้วย 5. กรมทางหลวงชนบท ปรับปรุงการเชื่อมต่อถนน ทล 4006 กับถนนเลียบทางรถไฟ รวมทั้งติดตั้งสัญญาณไฟจราจร 6.รฟท.ปรับปรุงพื้นที่ด้านหน้าสถานี ให้เป็นพื้นที่สีเขียว มีทางเดินร่มเงา มีลานกิจกรรม รวมถึงปรับปรุงแนวพื้นที่ด้านข้างสถานีเป็นที่จอดรถ และพื้นที่พาณิชยกรรม 7.รฟท. จัดทำทางข้ามด้านหน้าและด้านหลังสถานี เพื่อเชื่อมต่อชุมชนโดยรอบ 8.รฟท. เพิ่มโครงข่ายทางถนนที่เชื่อมต่อระหว่างถนนทวีวัฒนาและถนนเลียบทางรถไฟ 10.สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ / เทศบาลตำบลศาลายา ปรับปรุงทางเข้าหลักของสถานีรถไฟ ให้เป็นเส้นทางการเดินและทางจักรยาน และเป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์ 11.สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ปรับปรุงการใช้พื้นที่ให้เป็นพื้นที่พาณิชยกรรม เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจในพื้นที่ 12.สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ / กรมทางหลวง เพิ่มโครงข่ายการเดินรถ เชื่อมต่อถนนพุทธมนฑลสาย 4 เข้าสู่ถนนเลียบทางรถไฟ
โครงการที่ 2 แนวทางการพัฒนาการเดินทางในพื้นที่ชานเมืองโดยใช้ระบบขนส่งสาธารณะ (Enhancing Suburban Mobility Using Public Transportation) มีดังนี้ 1. การพัฒนาจุดเชื่อมต่อรถสาธารณะ สามารถเข้า - ออก ได้สะดวกทั้งสองทิศทาง 2. ปรับปรุงการให้ข้อมูลการเดินรถ โดยออกแบบแผนผังเส้นทางการเดินรถสาธารณะในบริเวณพื้นที่ศาลายาไว้แล้ว 3. ปรับปรุงโครงสร้างในการให้สัมปทานและการบริหารจัดการการเดินรถสาธารณะ 4. ออกนโยบายส่งเสริมการใช้รถสาธารณะที่เป็นรูปธรรม เพิ่มความถี่ในการเดินรถสาธารณะ จัดการเดินรถให้มีตารางที่แน่นอน รวมถึงการปรับปรุงการให้บริการ
โครงการที่ 3 การศึกษาแนวทางการพัฒนาเส้นทางสัญจรปราศจากสิ่งกีดขวางสู่ระบบรางของชุมชน (The Barrier – Free Railway Feeder Pathway For Community Development) เสนอแนะแนวทาง 1. แผนการพัฒนาเส้นทางสัญจรพื้นที่ศาลายา แบ่งเป็น 3 ระยะ คือระยะสั้น (เร่งด่วน) ปรับปรุงเส้นทางนำร่องมุ่งเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ระยะกลาง ปรับปรุงโครงข่ายเส้นทางพื้นฐานเชื่อมต่อทั้งหมด เน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ระยะยาว ปรับปรุงโครงข่ายเชื่อมต่อระดับชุมชนทั้งหมดและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานโดยมุ่งเน้นการพัฒนา 2. การจำกัดจำนวนรถบรรทุกที่วิ่งผ่านพื้นที่ โดยเปลี่ยนเส้นทางรถบรรทุกให้ใช้เส้นทางพุทธมณฑลสาย 5 เป็นหลัก และจำกัดเวลาการเข้าพื้นที่ของรถบรรทุก ทั้งนี้ แนวคิดนี้ยังต้องการความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ 3. การปรับปรุงตัวชี้วัดให้เหมาะสมกับพื้นที่ศึกษา
สถานีธรรมศาสตร์ เชื่อมต่อระดับภูมิภาคอย่างยั่งยืน
ทางด้าน รศ.ดร.ภาวิณี เอี่ยมตระกูล ผู้อำนวยการศูนย์แห่งความเป็นเลิศทางวิชาการด้านวิจัยและนวัตกรรมเพื่อการขนส่งเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า สถานีรถไฟมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ตั้งอยู่ในพื้นที่จังหวัดปทุมธานี ซึ่งเป็นศูนย์กลางของการเชื่อมโยงในระดับภูมิภาค (Regional center) และเป็นศูนย์กลางของการกระจายสินค้าได้เป็นอย่างดี เกิดการจ้างงาน การอพยพของคนเข้ามาสู่พื้นที่และเกิดพื้นที่เมืองที่มีความหนาแน่น ส่งผลให้เกิดการพัฒนาพื้นที่ด้านพาณิชยกรรมอย่างเข้มข้น แผนศึกษาพัฒนาพื้นที่รอบสถานีธรรมศาสตร์ 5 โครงการ มีดังนี้
โครงการที่ 1 กรอบการวิเคราะห์นโยบายและการวางแผนการพัฒนาพื้นที่บริเวณรอบสถานีขนส่งมวลชนระบบรางที่เอื้อต่อการใช้ระบบขนส่งสาธารณะเพื่อการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน โครงการที่ 2 การวางแผนและออกแบบโครงข่ายคมนาคมขนส่งระบบรองและสิ่งแวดล้อมสรรค์สร้างที่ส่งเสริมการเชื่อมต่อการใช้ระบบขนส่งมวลชนระบบรางของคนทุกกลุ่ม ทั้งโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการเดินเท้า (Pedestrian Mall) และ โครงสร้างเพื่อคมนาคมขนส่งสาธารณะ (Transit Mall) พื้นที่บริการรถโดยสาร และอื่นๆ
โครงการที่ 3 กลยุทธ์การวางแผนเมืองและออกแบบสิ่งแวดล้อม เพื่อเอื้อต่อการพัฒนาบริเวณรอบสถานีขนส่งมวลชนระบบราง โครงการที่ 4 แนวทางการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีเพื่อสร้างความเป็นย่านศูนย์กลางธุรกิจและการค้าแห่งศตวรรษที่ 21 อย่างยั่งยืน และโครงการที่ 5 แนวทางการออกแบบวางผังที่อยู่อาศัยและพื้นที่สาธารณะบริเวณรอบสถานีขนส่งมวลชนระบบรางทีเอื้อต่อการใช้ระบบขนส่งสาธารณะ
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit