การประชุมวิชาการนานาชาติครั้งนี้ยังเปิดเวทีให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญระดับโลกจากนานาประเทศ อาทิ โปแลนด์ อิตาลี ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย เยอรมนี นำเสนอผลการศึกษาการใช้จุลินทรีย์ที่อยู่ในรูปแบบโพรไบโอติก เพื่อการรักษาโรคแบบเจาะจง ซึ่งในแต่ละกรณีศึกษาได้บำบัดรักษาผู้ป่วยและเห็นผลในทางที่ดี อีกทั้งยังได้รับเกียรติจากแพทย์ไทยผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ เป็นประธานในช่วงการบรรยายกลุ่มความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน และพูดถึงแนวโน้มในการใช้โพรไบโอติกในแต่ละสาขาและในแต่ละโรคอย่างตรงจุด ในการประชุมครั้งนี้ มีแพทย์ เภสัชกร นักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญกว่า 250 คนจาก 25 ประเทศทั่วโลก เข้าร่วมงานเพื่อรับฟังผลงานวิจัยและแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับการนำจุลินทรีย์มาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการดูแลสุขภาพและบำบัดรักษาผู้ป่วยโรคต่างๆ
การใช้จุลินทรีย์ในโรคเด็ก
แพทย์หญิง Hania Szajewska จากมหาวิทยาลัยการแพทย์วอร์ซอว์ ประเทศโปแลนด์ ได้นำเสนอผลการศึกษาการใช้จุลินทรีย์ในกุมารเวชศาสตร์ซึ่งได้ทดลองในกลุ่มคนไข้ พบว่า กลุ่มของจุลินทรีย์ที่มีชีวิตในรูปแบบโพรไบโอติกช่วยรักษาโรคอุจจาระร่วงในเด็กให้หายได้เร็วขึ้น โดยแพทย์หญิง Hania Szajewska แนะนำว่า ผู้ปกครองควรปรึกษาแพทย์ในการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์โพรไบโอติกที่มีงานวิจัยรองรับ อีกทั้งยังควรศึกษาสายพันธุ์ของโพรไบโอติกที่มีผลต่อประสิทธิภาพในการรักษาที่แตกต่างกัน รวมถึงข้อจำกัดในการใช้ในเด็กคลอดก่อนกำหนด
การใช้จุลินทรีย์ในสูตินรีเวช
แพทย์หญิง Alessandra Graziottin ผู้อำนวยการศูนย์นรีเวชศาสตร์และเวชศาสตร์ทางเพศ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย San Raffaele Resnati ประเทศอิตาลี กล่าวว่า ความเชื่อมโยงการทำงานระหว่างสมองและทางเดินอาหาร (Gut-brain axis) และจุลินทรีย์ในลำไส้ที่เสียสมดุล ส่งผลต่อสุขภาพอนามัยของแม่ตั้งครรภ์และเด็กหลังคลอด นอกจากนี้ ภาวะติดเชื้อของผู้หญิงในรูปแบบต่างๆ เช่น โรคลำไส้แปรปรวน อาการปวดท้องน้อย ภาวะการมีบุตรยาก รวมถึงกลุ่มอาการถุงน้ำในรังไข่หลายใบ ต่างมีสาเหตุจากภาวะเสียสมดุลดังกล่าว ซึ่งหนึ่งในนั้นมีผลมาจากการใช้ยาปฏิชีวนะ ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในรูปแบบโพรไบโอติก สามารถช่วยปรับสมดุลจุลินทรีย์ในลำไส้และส่งผลดีต่อสุขภาพโดยรวมของสตรีมีครรภ์
การใช้จุลินทรีย์เพื่อรักษาโรคลำไส้อักเสบ
นายแพทย์ Toshifumi Hibi ผู้อำนวยการศูนย์การวิจัยและรักษากลุ่มโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง มหาวิทยาลัยคิตะซาโตะ ประเทศญี่ปุ่น ผู้ศึกษากลไกการทำงานของโพรไบโอติกในการรักษาโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง กล่าวว่า แม้โรคดังกล่าวจะมีสาเหตุจากหลายปัจจัย แต่เชื้อแบคทีเรียดีในลำไส้เป็นตัวแปรที่ช่วยเพิ่มการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน โดยกรดไขมันสายสั้น (Short-chain fatty acids) ที่ผลิตโดยแบคทีเรียในสกุลคลอสตริเดียม มีบทบาทในการกระตุ้นเซลล์ที (T cells) หนึ่งในเซลล์ชนิดย่อยในเซลล์เม็ดเลือดขาวลิมโฟไซต์ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการสร้างและพัฒนาความสามารถของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย โดยการวิจัยพบว่า ผู้ป่วยโรคลำไส้อักเสบมีแบคทีเรียสกุลนี้ในร่างกายน้อยกว่าปกติ จึงอาจเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดโรค โพรไบโอติกจึงมีบทบาทในการบำบัดรักษากลุ่มโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง ทั้งนี้นายแพทย์ Toshifumi Hibi ได้เน้นย้ำว่า ควรศึกษาและเลือกใช้ผลิตภัณฑ์โพรไบโอติกที่มีสายพันธุ์ที่มีกลไกการออกฤทธิ์ที่เป็นประโยชน์ต่อลำไส้ และเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการทดสอบทางการแพทย์แล้ว
การใช้จุลินทรีย์เพื่อรักษาโรคลำไส้แปรปรวน
ปัจจุบันพบว่า คนส่วนใหญ่มักมีภาวะ Dysbiosis หรือการที่ในระบบทางเดินอาหารมีเชื้อจุลินทรีย์ที่ไม่ดีมากกว่าจุลินทรีย์ชนิดดี ภาวะความไม่สมดุลดังกล่าวส่งผลให้เกิดความผิดปกติของสภาวะกรดด่างในเลือด กลายเป็นความเสื่อมหรือโรคต่างๆ เพราะการทำงานของเซลล์ผิดปกติ โดยนายแพทย์ Robert Zeiser จากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยไฟร์บวร์ก ประเทศเยอรมนี พบว่า การใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อรักษาโรคกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กอักเสบอาจส่งผลให้เกิดโรคลำไส้แปรปรวนตามมา เนื่องจากจุลินทรีย์มีภาวะไม่สมดุล ในทางกลับกัน การรักษาโรคลำไส้แปรปรวนด้วยโพรไบโอติกให้ผลที่น่าพอใจ อีกทั้งยังส่งผลดีต่อร่างกาย เนื่องจากช่วยปรับสมดุลของจุลินทรีย์ในลำไส้ นอกจากนี้ นายแพทย์ Peter Gibson หัวหน้าศูนย์วิจัยวิทยาทางเดินอาหาร มหาวิทยาลัยโมนาช ประเทศออสเตรเลีย ยังได้นำเสนอผลการศึกษาเพิ่มเติมว่า โรคลำไส้แปรปรวนมีสาเหตุหนึ่งมาจากระบบแกนเชื่อมโยงระหว่างสมองและทางเดินอาหาร โดยมีจุลินทรีย์ในลำไส้เป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้ระบบประสาทนี้ทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ การวิจัยในหนูทดลองพบว่า โพรไบโอติกบางสายพันธุ์ช่วยปรับกลไกการทำงานในร่างกายและพฤติกรรม ย้ำถึงประโยชน์ของโพรไบโอติกอีกด้านที่ช่วยคลายเครียด โดยประโยชน์ของจุลินทรีย์ในรูปแบบโพรไบโอติกที่มีต่อสารสื่อประสาทในสมอง จะส่งผลช่วยให้ระบบทางเดินอาหารทำงานเป็นปกติ ช่วยลดปัญหาเกี่ยวกับระบบขับถ่าย ท้องผูก ท้องเสียได้อีกทางหนึ่ง
นอกจากการใช้จุลินทรีย์ในการบำบัดรักษาโรคที่พบบ่อยในปัจจุบันดังกล่าวแล้ว วิทยากรผู้เชี่ยวชาญการแพทย์เฉพาะทางชั้นนำระดับโลกยังได้นำเสนอแนวทางในการใช้จุลินทรีย์ในการรักษาโรคมะเร็ง และการใช้จุลินทรีย์ในผู้ที่มีภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วน และเบาหวาน ซึ่งยังอยู่ระหว่างการศึกษาวิจัย การประชุมวิชาการนานาชาติ "การใช้จุลินทรีย์ที่อยู่ในรูปแบบโพรไบโอติก เพื่อรักษาแบบเจาะจง" ในครั้งนี้ จึงเป็นการเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโพรไบโอติก ในฐานะจุลินทรีย์ที่มีบทบาทในการรักษาโรคแต่ละชนิดอย่างจำเพาะเจาะจงและตรงจุด เป็นแนวทางใหม่ที่มีความปลอดภัยและมีผลวิจัยทางการแพทย์รับรอง อีกทั้งยังก่อให้เกิดการเผยแพร่ความรู้ให้กับแวดวงสาธารณสุขในวงกว้าง เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้และสร้างเครือข่าย เป็นประโยชน์ต่อการแพทย์ไทยในการนำโพรไบโอติกมาใช้เพื่อส่งเสริมสุขภาพหรือการบำบัดรักษาผู้ป่วยตามความเชี่ยวชาญเฉพาะทางได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น
รับชมวิดีโอ บทสัมภาษณ์แพทย์ไทย ประธานในช่วงการบรรยายกลุ่มความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านจากการประชุมวิชาการนานาชาติครั้งนี้ เกี่ยวกับการใช้จุลินทรีย์ที่อยู่ในรูปแบบโพรไบโอติก ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อการรักษาโรคในปัจจุบัน ได้ที่ https://youtu.be/QfxA6ngZjck
เกี่ยวกับบริษัท เมก้า ไลฟ์ไซแอ็นซ์ จำกัด (มหาชน)
บริษัท เมก้า ไลฟ์ไซแอ็นซ์ จำกัด (มหาชน) ผลิต ทำการตลาด จำหน่ายและกระจายสินค้าเวชภัณฑ์คุณภาพสูง รวมถึงผลิตภัณฑ์บำรุงสุขภาพ และยาในประเทศกำลังพัฒนา เมก้า ไลฟ์ไซแอ็นซ์ มุ่งเน้นในการให้บริการในตลาดที่กำลังพัฒนาและเติบโตอย่างรวดเร็ว ด้วยผลิตภัณฑ์ของบริษัทที่มีจำหน่ายใน 31 ประเทศทั่วโลก เมก้า ไลฟ์ไซแอ็นซ์ ประกอบด้วยสองส่วน คือ เมก้า วี แคร์ (MEGA We Care) ซึ่งมุ่งเน้นการผลิต ขาย รวมถึงการทำตลาด และแมกซ์แคร์ ซึ่งมุ่งเน้นในธุรกิจการจัดจำหน่ายสินค้า โรงงานการผลิตของ เมก้า ไลฟ์ไซแอ็นซ์ ดำเนินงานภายใต้มาตรฐานระดับโลก และได้รับการรับรองมาตรฐานการผลิตที่เข้มงวด จากสถาบันต่างๆ ได้แก่ Therapeutic Goods Administration ประเทศออสเตรเลีย และ Federal Institute for Drugs and Medical Devices (BfArM – ประเทศเยอรมัน) อีกทั้งได้ดำเนินงานตามมาตรฐานการผลิตของสหภาพยุโรป (European Union Good Manufacturing Practices)
บริษัท เมก้า ไลฟ์ไซแอ็นซ์ จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ภายใต้สัญลักษณ์ "MEGA"
ท่านสามารถเข้าไปดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เวปไซต์ www.megawecare.com
HTML::image( HTML::image( HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit