มธบ.ตั้งวงเสวนาติวเข้ม นักศึกษานิติ, รปศ. หวังปูทางแนวคิดอาชีพ “ผู้กำหนดนโยบายแห่งอนาคต” กูรูด้านไอที แนะทักษะที่ “นักกฎหมาย” ต้องมีใน “ยุคดิจิทัล”

05 Nov 2019
DPU X มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์(มธบ.) ร่วมกับคณะนิติศาสตร์ปรีดีพนมยงค์และคณะรัฐประศาสนศาสตร์ เปิดประสบการณ์ใหม่ให้นักศึกษากับคอนเซ็ป Playfessional ชอบทางไหนต้องไปให้สุด ตอน "ผู้กำหนดนโยบายแห่งอนาคต Future Policy Makers" เพื่อวิเคราะห์ทักษะที่นักกฎหมายควรมีในโลกที่เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โดยดร.พณชิต กิตติปัญญางาม ผู้อำนวยการ DPU X มธบ. เป็นผู้ดำเนินรายการตลอดการเสวนา พร้อมด้วย ดร.ชินาวุธ ชินะประยูร ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ด้านเศรษฐกิจดิจิทัล สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและการทดลองแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ดร.ภูมิ ภูมิรัตน ที่ปรึกษาเทคโนโลยี สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.)วิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิร่วมเสวนา
มธบ.ตั้งวงเสวนาติวเข้ม นักศึกษานิติ, รปศ. หวังปูทางแนวคิดอาชีพ “ผู้กำหนดนโยบายแห่งอนาคต” กูรูด้านไอที แนะทักษะที่ “นักกฎหมาย” ต้องมีใน “ยุคดิจิทัล”

ดร.พณชิต กิตติปัญญางาม ผู้อำนวยการ DPU X มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวว่า ในอดีตการกำหนดนโยบายสาธารณะเป็นหน้าที่ของนักนโยบาย และ นิติกร แต่การกำหนดนโยบายในอนาคตต้องนำเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้อง ดังนั้น นักกำหนดนโยบายต้องศึกษาบทบาทของเทคโนโลยีที่มีผลกับพฤติกรรมของมนุษย์ เพื่อออกแบบนโยบายที่เหมาะสม หากนักนโยบายไม่มีความรู้เรื่องดังกล่าวและออกแบบกฎหมายมาคุมทุกอย่าง จะส่งผลให้เทคโนโลยีที่อยู่ในมือมนุษย์ไม่เหมาะกับพฤติการณ์ที่เกิดขึ้น และหากไม่ได้ใช้เทคโนโลยีอย่างเต็มประสิทธิภาพ จะกลายเป็นปัญหาของประเทศแทน อย่างไรก็ตามไม่ว่าเทคโนโลยีจะชะลอตัวหรือเร็วขึ้น นโยบายที่ถูกต้องควรออกในระยะที่เหมาะสมกับสังคมหรือบริบทนั้นๆ นักนโยบายในอนาคตจึงต้องมีศาสตร์การเข้าถึงประชาชนร่วมด้วย นี่เป็นสิ่งที่ต้องการสื่อสารให้กับนักศึกษาคณะนิติศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์เข้าใจถึงทักษะดังกล่าว

"การศึกษาเทคโนโลยีที่มีบทบาทกับมนุษย์ จะทำให้เข้าใจการออกแบบและกำหนดนโยบายในอนาคตได้ โดยต้องใช้วิสัยทัศน์ของความเป็นผู้ประกอบการในการตัดสินใจและจัดการสิ่งนั้น ที่สำคัญยังสามารถก่อให้เกิดการออกแบบอย่างเหมาะสม ในยุคที่ให้ประชาชนเป็นศูนย์กลางหลักและเทคโนโลยีเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้การออกแบบอย่างลงตัว ช่วยสร้างสังคมให้อยู่อย่างมีความสุข ดังนั้นนักศึกษาควรนำหลักคิดนี้สร้างความเข้าใจ เป็นสิ่งสำคัญฝึกฝน เพื่อเป็นผู้กำหนดนโยบายในอนาคต" ผู้อำนวยการ DPU X กล่าว

ด้าน ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและการทดลองแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ผู้กำหนดนโยบายในอนาคตจะต้องคำนึงถึง 2 เรื่องหลัก คือ 1.ต้องใช้ข้อมูลจากพฤติกรรมของคนมาใช้ประโยชน์ แทนที่การคิดตามคำสั่งหรือคิดตามกฎหมายที่ออกแบบจากบนลงล่าง และ2.ต้องคำนึงถึงความรู้สึกและอารมณ์ร่วมกันในการดำเนินนโยบายร่วมกับประชาชน ดังนั้นการกำหนดนโยบายในอนาคตจะต้องสร้างมาจากความรู้สึกและความต้องการของประชาชนเป็นหลัก ส่วนความเสี่ยงของผู้กำหนดนโยบายหากมองตามเทคโนโลยีจะมีความเสี่ยงสูง เมื่อดำเนินนโยบายจะรับความเสี่ยงเพียงผู้เดียว แต่ในอนาคตถ้าสังคมไว้ใจและมีส่วนร่วมกำหนดนโยบายมากขึ้นความเสี่ยงจะลดลง ในอนาคต ดิจิทัลเข้ามามีบทบาทต่อการตัดสินใจของมนุษย์ ซึ่งเป็นโจทย์ที่นักกำหนดนโยบายต้องหาคำตอบ เมื่อมนุษย์เป็น Analog ส่วนโลกกลายเป็น Digital การเรียนตามทฤษฎีหรือแนวคิดอาจไม่ใช่สิ่งเดียวที่จะช่วยกำหนดนโยบายในอนาคตได้ เพราะข้อมูลที่มากมายจะทำให้คนสามารถเข้าถึงและเข้าใจได้ง่ายกว่าการท่องจำ

"การเข้าร่วมเสวนาในครั้งนี้ นักศึกษาจะเห็นมุมมองของการกำหนดนโยบายที่ไม่ได้มาจากนิติศาสตร์หรือรัฐประศาสนศาสตร์อย่างเดียว แต่สามารถเรียนรู้เทคโนโลยีที่ถนัดในการออกแบบแพลตฟอร์ม ให้คนมีส่วนในการกำหนดนโยบายร่วมกัน ซึ่งในอนาคตถ้านำความรู้ไปปรับใช้จะช่วยออกแบบและนำไปสู่นโยบายในอนาคตได้"ผศ.ดร.ธานี กล่าว

ขณะที่ดร.ชินาวุธ ชินะประยูร ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ด้านเศรษฐกิจดิจิทัล สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล มองว่า ในสมัยที่โลกยังไม่รู้จักเทคโนโลยี มีการแบ่งเขตปกครองอย่างชัดเจน การกำหนดนโยบายในยุคนั้นจะใช้นักกฎหมายหรือภาครัฐเป็นศูนย์กลางการออกกฎหมาย ซึ่งสามารถควบคุมได้ง่าย แต่ปัจจุบันเมื่อโลกเปลี่ยนไปรัฐบาลไม่สามารถควบคุมกำกับประชาชนได้ วิธีกำหนดนโยบายจึงต้องเปลี่ยนตาม เน้นกำหนดนโยบายที่สอดคล้องกับประชาชน โดยนำปัญหาของประชาชนมาตั้งเป็นศูนย์กลางในการออกแบบ ปัจจุบันเทคโนโลยีไปเร็วกว่ากฎหมาย ดังนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่นักกฎหมายต้องมี Regulatory Sandbox หรือพื้นที่ทดลองนวัตกรรมใหม่ที่กฎหมายยังไปไม่ถึง ซึ่งเป็นคอนเซ็ปท์ที่นักกฎหมายต้องรู้ โดยหัวใจหลักคือการเปลี่ยนแนวคิดใหม่ ซึ่งสมัยก่อนลำดับการออกกฎหมายคือ ลงราชกิจจานุเบกษา ประกาศ บังคับใช้ แต่ปัจจุบัน ต้องใช้วิธีการทดสอบด้วยเทคโนโลยีเพิ่มเติม หรือการทำประชาพิจารณ์ เพื่อหาตัวชี้วัดกฎหมายที่ออกแบบสามารถควบคุมได้หรือไม่ หรือในทางเทคนิคคือการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายและการตรวจสอบเนื้อหา(Regulation Impact Assessment-RIA) ก่อนออกกฎหมาย เมื่อเกิดพื้นที่การทดลองใช้กฎหมาย นักกำหนดนโยบายสามารถพัฒนาการออกกฎหมายที่ตอบโจทย์ประชาชนได้ดีขึ้น

"ในอดีตพื้นฐานการเรียนกฎหมายถูกปลูกฝังให้ท่องจำและรู้ลึกในศาสตร์เดียว แต่ปัจจุบันคนที่เรียนด้านกฎหมายต้องรู้ลึก รู้จริง และต้องศึกษาแอพพลิเคชั่นของกฎหมายใหม่ เพื่อตามเทคโนโลยีให้ทันในขณะที่เรียนอยู่จนพัฒนาไปถึงตอนที่นำไปใช้ในชีวิตจริง ถ้ามองกฎหมายในอดีตเป็นเครื่องมือ เมื่อเทียบกับปัจจุบันอาจดูเก่าต้องมีการปรับปรุงแก้ไข หากไม่พยายามทำความเข้าใจแต่ใช้วิธีศึกษากับคนข้ามศาสตร์จะยิ่งเข้าใจยาก" ดร.ชินาวุธกล่าวและว่า เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไป ทำให้เกิดการสร้างกฎเกณฑ์ใหม่สังคมมีต้นทุนที่จะตัดสินใจใช้เทคโนโลยี แต่ปัญหาอาจอยู่ที่ความเร็วและข้อจำกัด การเป็นนักกำหนดนโยบายในอนาคตไม่สามารถตัดสินใจได้เต็มร้อย จะนำข้อมูลมาตัดสินเพียงอย่างเดียวไม่ได้ต้องนำพฤติกรรมของมนุษย์มาวิเคราะห์ด้วย เพราะสิทธิของประชาชนมีความสำคัญมาก แต่จะทำอย่างไรให้ใช้ต้นทุนและโอกาสที่เกิดขึ้นอย่างเหมาะสม ท้ายที่สุดต้องวิเคราะห์ตามประเด็นทั้งส่วนที่มองเห็นและมองไม่เห็นด้วย

ดร.ภูมิ ภูมิรัตน ที่ปรึกษาเทคโนโลยี สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) กล่าวว่า หน้าที่หลักของตนคือช่วยผู้ที่มีอำนาจในการออกกฎหมายเข้าใจเทคโนโลยีมากขึ้น มีความแม่นยำคำตอบที่ชัดเจน นอกจากนี้ยังช่วยแก้ปัญหาเกี่ยวกับบทบาทของเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมคนในสังคม ซึ่งจากประสบการณ์การทำงานด้านเทคโนโลยีกว่า 4 ปี ทำให้เห็นความแตกต่างระหว่างนักกำหนดนโยบายในอดีต ในปัจจุบันและในอนาคต รวมถึงนักเทคโนโลยีในอดีตด้วย ซึ่งหมายความว่านักเทคโนโลยีในอดีต เน้นการกระตุ้นให้นักนโยบายเข้าใจว่าถึงเวลาที่ต้องใช้เทคโนโลยีมาช่วยกำหนดนโยบาย เพื่อลดการออกนโยบายบนความกลัว และชี้ให้เห็นว่าในอนาคตเทคโนโลยีจะเข้ามาเปลี่ยนแปลงตรรกะพื้นฐานของสังคม และโครงสร้างทางสังคม ถ้าผู้ออกแบบนโยบายไม่เข้าใจความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ นโยบายจะเข้ากันไม่ได้กับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป เพราะฉะนั้นถ้านักออกแบบไม่เข้าใจธรรมชาติของข้อเท็จจริง ผลที่คาดหวังจะได้ก็จะไม่ได้

มธบ.ตั้งวงเสวนาติวเข้ม นักศึกษานิติ, รปศ. หวังปูทางแนวคิดอาชีพ “ผู้กำหนดนโยบายแห่งอนาคต” กูรูด้านไอที แนะทักษะที่ “นักกฎหมาย” ต้องมีใน “ยุคดิจิทัล” มธบ.ตั้งวงเสวนาติวเข้ม นักศึกษานิติ, รปศ. หวังปูทางแนวคิดอาชีพ “ผู้กำหนดนโยบายแห่งอนาคต” กูรูด้านไอที แนะทักษะที่ “นักกฎหมาย” ต้องมีใน “ยุคดิจิทัล” มธบ.ตั้งวงเสวนาติวเข้ม นักศึกษานิติ, รปศ. หวังปูทางแนวคิดอาชีพ “ผู้กำหนดนโยบายแห่งอนาคต” กูรูด้านไอที แนะทักษะที่ “นักกฎหมาย” ต้องมีใน “ยุคดิจิทัล”