ดร.ณรงค์ฤทธิ์ วงศ์สุวรรณ ผู้อำนวยการองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย(อ.ส.ค.)กล่าวว่า ในปี2563 อ.ส.ค.จะเร่งขับเคลื่อนทำเกษตรอินทรีย์ในฟาร์มโคนม เพื่อสนองนโยบายการพัฒนาเกษตรอินทรีย์และรองรับแผนปฏิบัติการด้านเกษตรอินทรีย์ พ.ศ. 2560 – 2565 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์อย่างเต็มรูปแบบ ประกอบกับปัจจุบันกระแสความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศให้ความสำคัญในการเลือกบริโภคผลิตภัณฑ์นมออร์แกนิคมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆไม่เพียงเฉพาะผลิตภัณฑ์นมแต่รวมถึงสินค้าทั่วไป ซึ่งเป็นผลจากการที่ผู้บริโภคใส่ใจในสุขภาพเพิ่มมากขึ้น โดยในต่างประเทศสินค้ากลุ่มผลิตภัณฑ์นมออร์แกนิคได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เช่น สหรัฐอเมริกา สินค้ากลุ่มผลิตภัณฑ์นมออร์แกนิค มีอัตราการเจริญเติบโตมากกว่า 7-10 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์ทั่วไป ดังนั้นเกษตรอินทรีย์จึงเป็นทางเลือกที่มีศักยภาพในการพัฒนาเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน
โดยที่ผ่านมาฝ่ายวิจัยและพัฒนาการเลี้ยงโคนม อ.ส.ค.ได้ทำฟาร์มโคนมอินทรีย์ (Organic Dairy Farm) ตามมาตรฐานปศุสัตว์อินทรีย์และถือเป็นฟาร์มโคนมอินทรีย์ต้นแบบรายแรกของประเทศไทยขึ้นณ ฟาร์มโคนมไทย-เดนมาร์ค ต.มิตรภาพ อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี บนเนื้อที่กว่า 134 ไร่ มีฝูงโคนมอยู่ประมาณ 460 ตัว โดยแยกเป็น โคนมเพศเมีย 380 ตัว เป็นแม่โครีดนมได้ประมาณ 100 ตัว เฉลี่ยนน้ำนมดิบที่รีดได้ ประมาณ 9.08 กิโลกรัม/ตัว/วัน โดยทาง อ.ส.ค. สามารถผลิตน้ำนมดิบอินทรีย์ได้ถึง 1,200 กิโลกรัม/วัน ซึ่งจากผลดำเนินการประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก โดยฟาร์มอินทรีย์ได้ผ่านการตรวจรับรองจากกรมปศุสัตว์และได้ใบรับรองการผลิตโคนมอินทรีย์และน้ำนมดิบอินทรีย์ ตามข้อกำหนดของสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ(มกอช). ปัจจุบัน อ.ส.ค. เป็นฟาร์มโคนมอินทรีย์ต้นแบบ เป็นแหล่งศึกษา เรียนรู้ และถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับน้ำนมดิบ และมีแผนส่งเสริมและขยายสมาชิกเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมให้หันมาทำฟาร์มโคนมอินทรีย์เพิ่มขึ้น เพื่อรองรับการเติบโตและขยายการตลาดนมออร์แกนิคของอ.ส.ค.ในอนาคต
ปัจจุบันน้ำนมออร์แกนิคที่ฟาร์มโคนมอินทรีย์ของ อ.ส.ค. ผลิตได้ต่อวัน จะแบ่งมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์นมพรีเมี่ยมภายใต้ตราสินค้า "ไทย-เดนมาร์ค มอร์แกนิค" 2 ชนิดคือ โยเกิร์ตออร์แกนิค 30% อีก 70% ใช้เป็นวัตถุดิบในการแปรรูปนมมอร์แกนิค โดยนมมอร์แกนิค จะผลิตขนาด 200 ซีซีและขนาดบรรจุเป็นแกลลอนหรือแฟมิลี่ไซต์ ส่วนอีกผลิตภัณฑ์คือโยเกิร์ตออร์แกนิค 100% จำนวน 2 รสชาติ ได้แก่ รสธรรมชาติและรสน้ำผึ้งออร์แกนิค ที่มีคุณสมบัติเหนือกว่าโยเกิร์ตทั่วไป เพราะมีประโยชน์จากเชื้อจุลินทรีย์ถึง 4 สายพันธุ์จึงดีต่อระบบย่อยอาหารและระบบขับถ่าย
ส่วนนมมอร์แกนิค เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีไขมันไม่อิ่มตัว มีความเป็นธรรมชาติสูง ไม่มีสารเคมี และสารอาหารก็มีความแตกต่างกับนมทั่วไป จุดเด่นในโภชนาการคือ มีกรดไขมันชนิดโอเมก้า-3, โอเมก้า- 6 และมีค่า CLA สูงกว่าน้ำนมปกติทั่วไป โดยคุณประโยชน์ที่สำคัญคือ การช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน และ ต่อต้านการเกิดมะเร็งด้วย นับได้ว่าเป็นน้ำนมที่มีคุณภาพและเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค ซึ่ง2ผลิตภัณฑ์ปัจจุบันผู้บริโภคให้การตอบรับที่ดี โดยนมพาสเจอร์ไรส์ "มอร์แกนิค" และ "โยเกิร์ตออร์แกนิค" ในปี 2562 มียอดขายกว่า 7.5 ล้านบาท แสดงให้เห็นว่าความนิยมของผลิตภัณฑ์ออร์แกนิคของผู้บริโภคยุคใหม่ใส่ใจเรื่องความปลอดภัยต่อสุขภาพมากขึ้นเรื่อยๆและผลิตนมมอร์แกนิค ของไทย-เดนมาร์คนับได้ว่าตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายได้เป็นอย่างดี
สำหรับการจัดจำหน่าย อ.ส.ค.ยังคงเน้นทำตลาดโดยเฉพาะกลุ่มผู้บริโภคที่ดูแลสุขภาพ รวมถึงกลุ่มครอบครัวในเขตชุมชนเมืองที่มีความฉลาดเลือกสรรหาผลิตภัณฑ์ที่มีประโยชน์ โดยปัจจุบันมีวางจำหน่าย 4 ช่องทางหลัก ได้แก่ ร้านThai-Denmark Milk land ทุกสาขา, ร้านค้าไทย-เดนมาร์ค สาขาตลาด อตก. ร้านค้าฟาร์มท่องเที่ยวไทย-เดนมาร์ค อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี ขณะเดียวกันยังวางจำหน่ายที่ซุปเปอร์มาร์เก็ตหลายแห่ง อาทิ วิลล่ามาร์เก็ต (Villa Market), แม็กแวลู่ (Max Value), ท็อปส์ซุปเปอร์มาร์เก็ต (Tops Supermarket) และโฮมเฟรชมาร์ท (Home Fresh mart) ทั้งยังขายผ่านตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์นมแช่เย็น ได้แก่ ภูรีออร์แกนิค,บริษัทป.โยสินพันธมิตรร่วมค้า และเพียวมิลค์168 เป็นต้น ซึ่งอ.ส.ค.จะเร่งส่งเสริมการตลาดอย่างเข้มข้นเพื่อให้สินค้าเป็นที่รู้จักของผู้บริโภคเพิ่มขึ้น และสามารถชิงส่วนแบ่งตลาดสุขภาพได้เร็วขึ้นโดยขณะนี้ได้เร่งวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์นมออร์แกนิคเพิ่มขึ่นเพื่อรองรับการขยายตัวของตลาดในอนาคต
ดร.ณรงค์ฤทธิ์ได้กล่าวถึงแนวทางในการพัฒนาฟาร์มโคนมอินทรีย์ของ อ.ส.ค. ด้วยว่า จะมุ่งเน้นถึงคุณภาพของน้ำนมเป็นหลัก โดยดำเนินตามขั้นตอนตั้งแต่การคัดเลือกสถานที่ การให้อาหารโคนมอินทรีย์ แบ่งเป็นอาหารข้น และอาหารหยาบ โดยอาหารข้นจะต้องได้รับใบรับรองว่าเป็นผลิตภัณฑ์อินทรีย์ ส่วนอาหารหยาบจะต้องจัดทำแปลงหญ้าเลี้ยงโคโดยใช้ปุ๋ยคอกจากมูลโค ปล่อยโคแทะเล็มในแปลงหญ้า และผลิตอาหารหยาบอินทรีย์หมักและแห้ง หรือจัดหาพืชอาหารสัตว์อินทรีย์ชนิดอื่น เพื่อเพิ่มโภชนะโปรตีน และพลังงานให้แก่โคนม ได้แก่ กระถิน อ้อย มันสำปะหลัง เป็นต้น โดยไม่ใช้สารเคมี ด้านการจัดการสุขภาพ จะเน้นการใช้พืชสมุนไพรในรักษาและป้องกันโรค โดยการทำวัคซีนตามโปรแกรม รวมถึงการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม โดยจัดทำบ่อพักน้ำเสียจากคอกโคนม และจัดการนำเศษหญ้าและมูลสัตว์มาผลิตปุ๋ยอินทรีย์เพื่อบำรุงดิน
HTML::image( HTML::image( HTML::image(