ไขมันทรานส์ อันตราย!! ที่แฝงมากับความอร่อย..

19 Nov 2019
"แค่เราทานอาหารที่มีน้ำมัน หรืออาหารที่มีไขมันมากๆ เป็นส่วนประกอบ ก็มีแววที่จะอ้วนได้ แล้วถ้ายิ่งเราทานไขมันทรานส์ ที่เป็นไขมันไม่ดี ก็ยิ่งจะเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคต่างๆ มากขึ้น ถึงเวลาแล้วที่เราควรหันมาใส่ใจอาหารการกิน เพื่อป้องกันโรคภัยที่อาจเกิดขึ้นได้"
ไขมันทรานส์ อันตราย!! ที่แฝงมากับความอร่อย..

จากข่าวการประกาศของกระทรวงสาธารณสุข ที่ในประเทศไทยจะมีการประกาศยกเลิก การใช้และนำเข้าอาหารที่มีส่วนประกอบของไขมันทรานส์ เพราะได้มองเห็นผลเสียของไขมันทรานส์ที่เป็นตัวก่อโรคหลากหลายชนิด ... แต่อย่าเพิ่งกังวลไป เพราะกฎที่ออกมานี้ มุ่งเน้นเพื่อควบคุมผู้ผลิตที่จะไม่ให้ใช้ส่วนผสม หรือวัตถุดิบที่มีไขมันทรานส์ลงไปในอาหารให้ผู้บริโภครับประทาน อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคอย่างเราๆ ก็ควรจะมีความรู้เกี่ยวกับเรื่องของไขมันทรานส์กันไว้บ้าง เพื่อที่จะสามารถเลือกทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อไปได้

วันนี้เราเลยจะมาพูดถึงว่า ไขมันทรานส์คืออะไร ? มีผลเสียอย่างไร ? และจะรู้ได้อย่างไรว่าไขมันทรานส์อยู่ที่ไหนบ้าง ? วันนี้เราจะมาพูดถึงเรื่องนี้จาก นพ.รัตนชัย ชาญชัย อายุรแพทย์โรคหลอดเลือดหัวใจ โรงพยาบาลลานนา จะมาให้ความรู้กันครับก่อนอื่นมารู้จักกับ ไขมันทรานส์กันก่อน !!!

ไขมันทรานส์ (Tran Fat) เป็นไขมันชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นจากกระบวนการเติมไฮโดรเจนเข้าไปในน้ำมันพืช โดยการเปลี่ยนโครงสร้างโมเลกุลของน้ำมันพืช เพื่อทำให้น้ำมันพืชสามารถคงสภาพแข็งตัว หรือกึ่งแข็งกึ่งเหลว นิยมใช้ในการประกอบอาหารพวกของทอด ไม่เป็นไข และสามารถทนความร้อนได้สูง แถมยังสามารถเก็บไว้นานโดยไม่เหม็นหืน แถมยังให้รสชาติเหมือนกับไขมันที่ได้จากสัตว์ และที่สำคัญคือมีราคาถูก ทำให้เป็นที่นิยมในการนำมาประกอบอาหาร ซึ่งมันมักแฝงมากับอาหารจำพวก ฟาสต์ฟูดส์ ของทอด โดนัท พัฟ พาย คุ้กกี้ เบเกอรี่ต่างๆ ที่เราไม่รู้หรอกว่า ใช้เนยจริงๆ หรือมาร์การีน เป็นส่วนประกอบกันแน่ แต่การวิจัยต่างๆ ได้ยืนยันแล้วว่า ไขมันทรานส์มันเป็นภัยต่อสุขภาพจริงๆ เพราะไขมันทรานส์ เป็นไขมันที่อันตรายมากกว่าไขมันอิ่มตัวถึงสองเท่าอาหาร หรือส่วนประกอบของอาหารที่มักมีไขมันทรานส์

"เนยขาว มาร์การีน ครีมเทียม ครีมเทียมข้น" อาหารหรือส่วนผสมเหล่านี้ มักมีส่วนผสมของไขมันทรานส์เป็นอันดับต้นๆ ดังนั้นเราถึงพบอาหารที่มีไขมันทรานส์สูง ในอาหารตระกูลขนมหวานฝรั่งอย่างเช่น คุกกี้ เค้ก โดนัท วิปครีม พาย ขนมกรุบกรอบต่างๆ อาหารฟาสต์ฟู้ดต์ และอาหารที่มีส่วนประกอบที่กล่าวไว้ข้างต้น เพราะเป็นส่วนประกอบสำคัญในการทำขนมเหล่านี้

อาหารหรือขนมที่มาจากผู้ผลิต ที่ไม่ได้คำนึงถึงผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาวของผู้บริโภค อาจจะต้องมีการปรับเปลี่ยนสูตรการผลิตใหม่ เนื่องจากมีการควบคุมในเรื่องของส่วนผสมที่มีไขมันทรานส์เหล่านี้ แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีอาหาร หรือผลิตภัณฑ์แปรรูป ที่จำหน่ายตามท้องตลาด จากข้อมูลในตารางแสดงคุณค่าทางโภชนาการที่ข้างผลิตภัณฑ์แล้ว แม้ว่าจะพบว่ามี Trans Fat หรือไขมันทรานส์เป็นเลข 0 แต่ก็ไม่ได้หมายความในอาหารนั้นๆ จะไม่มีไขมันทรานส์อยู่เลย ดังนั้นเป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องรู้จักเลือกกิน เลือกใช้ของที่มีคุณภาพ เพื่อเป็นการป้องกันตนเองจากโรคภัยที่อาจเกิดขึ้นได้ในระยะยาวต่อไป

จะเป็นอย่างไรเมื่อทานอาหารที่มีไขมันทรานส์ ?การรับประทานอาหารที่ประกอบด้วยไขมันทรานส์ อาจจะไม่ได้เห็นผลในทันที แต่จะส่งผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาว เนื่องจากมีหลักฐานที่ระบุว่า ไขมันทรานส์ สามารถเพิ่มระดับของ LDL ซึ่งเป็นคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี หรือไขมันเลว และยังไปลด HDL ซึ่งเป็นคอเลสเตอรอลชนิดดี หรือไขมันดี สิ่งนี้นำไปสู่โรคหัวใจขาดเลือด หลอดเลือดอุดตัน คอเลสเตอรอลสูง ภาวะอ้วน และรวมถึง อาจเป็นปัจจัยในการกระตุ้นให้เกิดโรคเบาหวาน มะเร็งบางชนิด รวมทั้งโรคภูมิแพ้ได้อีกด้วย

ป้องกันตนเองอย่างไรจาก ไขมันทรานส์ ?

แม้เราจะทราบว่า ไขมันทรานส์ มาจากน้ำมันพืชที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะทานน้ำมันพืช ขนมหวาน เบเกอรี่ หรือแม้แต่ "กล้วยทอด" ไม่ได้อีก ตรงนี้อยากให้เราแค่ตระหนักถึงอันตรายจากไขมันต่างๆ ที่อาจมีได้ในอาหารที่เราทานในทุกๆวัน เพราะฉะนั้น การป้องกันที่ดีที่สุด ก็คือ การเริ่มต้นจากตัวเอง ด้วยการเลือกทานอาหารที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง และเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ ในการประกอบอาหาร ก็จะเป็นวิธีการหนึ่งที่ทำให้เราหลีกเลี่ยงจากไขมันทรานส์ได้

การตรวจสุขภาพประจำปี ก็เป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะจะทำให้เราทราบว่าสุขภาพร่างกายเราแข็งแรงดีอยู่หรือเปล่า ซึ่งโดยทั่วไปแล้วการตรวจพื้นฐาน ก็จะทำให้เราทราบความเสี่ยงเบื้องต้นของการก่อเกิดโรคแล้ว เช่น การตรวจไขมันในเลือด หากพบว่าค่า LDLสูง ซึ่งหมายถึงระดับไขมันไม่ดีในเลือดของเราสูง ก็อาจแปลว่าเราทานอาหารที่มีไขมัน หรือคอลเลสเตอรอลสูงนั่นเอง ซึ่งเจ้าตัวนี้ ในระยะยาวอาจกลายเป็นไขมันไปอุดตันหลอดเลือดหัวใจ หรือหลอดเลือดสมอง ก็เป็นได้ แต่ที่แน่ๆ มีไขมันมากไป อ้วนขึ้นแน่นอนนะครับ

นอกจากนั้นเอง การตรวจสุขภาพหัวใจ โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุเกิน 35 ปีขึ้นไป ซึ่งการตรวจหาโอกาสการเกิดโรคสามารถทำได้หลายวิธี เช่น การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจโดยการวิ่งสายพาน (EST) ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) การตรวจหัวใจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ความเร็วสูง (Cardiac CT) หรือหากผู้ป่วยที่มีข้อขบ่ชี้ที่เสี่ยงต่อโรคหัวใจ แพทย์อาจใช้วิธีการสวนหัวใจ เพื่อหาสาเหตุที่แน่นอน ซึ่งการสวนหัวใจนี้ นอกจากจะวินิจฉัย หากพบว่ามีไขมันไปอุดตันหลอดเลือดหัวใจ ยังสามารถรักษาได้ในคราวเดียวกัน โดยการใส่บอลลูนเข้าไปขยายหลอดเลือดหัวใจ เพื่อให้เลือดสามารถไปเลี้ยงหัวใจได้ตามปกติ

แต่อย่าให้ถึงต้องรักษาเลย การดูแลสุขภาพตนเองแต่เนิ่นๆ เป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะการออกกำลังกายเป็นประจำ การพักผ่อนให้เพียงพอ และมีสุขภาพจิตที่ดี ตรวจสุขภาพประจำปี ก็ลดโอกาสเสี่ยงต่อโรคต่างๆ แล้วครับ

ศูนย์บอลลูนขยายหลอดเลือดหัวใจ โรงพยาบาลลานนา โทร.053-999-777

ฝากข่าวประชาสัมพันธ์?

ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit