ระบบธนาคารพาณิชย์มีเงินกองทุนทั้งสิ้น 2,738 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากการจัดสรรกำไรเข้าเป็นเงินกองทุนและการออกตราสารหนี้ด้อยสิทธิของธนาคารพาณิชย์ไทยบางแห่ง ส่งผลให้อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS ratio) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 19.2 และมีเงินสำรองเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน 9.9 พันล้านบาท มาอยู่ที่ 690.5 พันล้านบาท ส่งผลให้อัตราส่วนเงินสำรองที่มีต่อเงินสำรองพึงกันเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 196.3 เพื่อรองรับความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจ ด้านอัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องเพื่อรองรับกระแสเงินสดที่อาจไหลออกในภาวะวิกฤต (Liquidity Coverage Ratio: LCR) อยู่ในระดับสูงที่ร้อยละ 185.0
การชะลอตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจส่งผลกระทบต่อการเติบโตของสินเชื่อและคุณภาพสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ โดยเฉพาะลูกหนี้ธุรกิจ SME ขนาดกลางและขนาดเล็กส่งผลให้การเติบโตของสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ลดลงต่อเนื่องจากร้อยละ 4.2 ในไตรมาสก่อน มาอยู่ที่ร้อยละ 3.8 โดยมีรายละเอียดดังนี้
สินเชื่อธุรกิจ (ร้อยละ 64.7 ของสินเชื่อรวม) ขยายตัวร้อยละ 1.3 โดยสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ (ไม่รวมธุรกิจการเงิน) ขยายตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากร้อยละ 2.2 ในไตรมาสก่อน มาอยู่ที่ร้อยละ 2.6 แม้ว่าลูกหนี้ธุรกิจขนาดใหญ่บางรายนำเงินจากการออกหุ้นกู้มาทยอยชำระหนี้ สินเชื่อธุรกิจ SME (ไม่รวมธุรกิจการเงิน) หดตัวร้อยละ 1.0 จากที่ขยายตัวร้อยละ 0.1 ในไตรมาสก่อน โดยสินเชื่อลดลงในธุรกิจ SME ทั้งขนาดกลางและขนาดเล็ก
สินเชื่ออุปโภคบริโภค (ร้อยละ 35.3 ของสินเชื่อรวม) ยังคงเติบโตในระดับสูง แม้อัตราการเติบโต จะลดลงจากร้อยละ 9.2 ในไตรมาสก่อน มาอยู่ที่ร้อยละ 8.7 โดยหลักเป็นผลจากสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่เติบโตลดลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 2 หลังมีการเร่งปล่อยสินเชื่อในช่วงก่อนมาตรการ LTV มีผลบังคับใช้ และสินเชื่อรถยนต์ที่เติบโตลดลงตามยอดขายรถยนต์ที่ชะลอตัวลง ทั้งนี้ สินเชื่อสินเชื่อส่วนบุคคลและสินเชื่อบัตรเครดิตขยายตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง
คุณภาพสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ในภาพรวมมีสัดส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non-Performing Loan: NPL) ต่อสินเชื่อรวมเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 2.95 เป็นร้อยละ 3.01 โดยยอดคงค้าง NPL อยู่ที่ 469.5 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน 19 พันล้านบาท จากลูกหนี้รายใหญ่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ และสินเชื่อ SME เป็นสำคัญ ในขณะที่ยอดคงค้าง NPL ของสินเชื่อที่อยู่อาศัยและรถยนต์ยังเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ สัดส่วนสินเชื่อที่กล่าวถึงเป็นพิเศษ (Special Mention: SM) ลดลงจากร้อยละ 2.74 ในไตรมาสก่อน มาอยู่ที่ร้อยละ 2.59 เนื่องจากลูกหนี้รายใหญ่บางรายถูกเปลี่ยนการจัดชั้นเป็น NPL
ในไตรมาส 3 ปี 2562 ระบบธนาคารพาณิชย์มีกำไรสุทธิ 96.5 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน จากรายได้พิเศษจากการขายเงินลงทุนของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่แห่งหนึ่งเป็นสำคัญ ส่งผลให้ภาพรวมกำไรสุทธิในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2562 อยู่ที่ 214.4 พันล้านบาท หากตัดรายการพิเศษ กำไรสุทธิในไตรมาสนี้ยังคงเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อน จากการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิตามการเติบโตของสินเชื่อรายย่อย รายได้จากเงินปันผล และรายได้ค่าธรรมเนียมจากค่านายหน้าค้าหลักทรัพย์และขายประกัน ขณะที่ค่าใช้จ่ายสำรองเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับสินเชื่อด้อยคุณภาพและความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจ โดยอัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (Return on Asset: ROA) เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 1.26 ในไตรมาสก่อน มาอยู่ที่ร้อยละ 1.98* ขณะที่อัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้ดอกเบี้ยเฉลี่ย (Net Interest Margin : NIM) ทรงตัวที่ร้อยละ 2.74
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit