เอ็นไอเอแนะองค์กรยุคใหม่ต้องสร้างแต้มต่อด้วยนวัตกรรม พร้อมชี้เทรนด์ปรับตัวด้านนวัตกรรมที่องค์กรต้องรู้ก่อนเข้าสู่ปี 2020

14 Nov 2019
- เอ็นไอเอเปิดตัว IOP โปรแกรมปลุกไฟองค์กรไทยให้ก้าวสู่องค์กรนวัตกรรม ด้าน"เคลมดิ" แนะธุรกิจยุคใหม่ต้องผันตัวเป็น "ปลาเร็ว" พร้อมหนุนสร้างนวัตกรรมด้วยบิสิเนสโมเดล
เอ็นไอเอแนะองค์กรยุคใหม่ต้องสร้างแต้มต่อด้วยนวัตกรรม พร้อมชี้เทรนด์ปรับตัวด้านนวัตกรรมที่องค์กรต้องรู้ก่อนเข้าสู่ปี 2020

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA เปิดตัวโครงการพัฒนาศักยภาพด้านนวัตกรรมองค์กร หรือ Innovative Organization Program เผยองค์กรยุคใหม่ต้องรู้จักปรับตัวและสรรหานวัตกรรม เพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงต่างๆ และดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยสิ่งสำคัญที่จะช่วยผลักดันให้เกิดองค์กรนวัตกรรมได้นั้นจะต้องเริ่มจากการเปลี่ยน "วัฒนธรรมองค์กร" ให้รู้จักกล้าคิด กล้าตั้งคำถาม และกล้าที่จะทดลองลงมือทำในสิ่งที่ยังไม่เคยเกิดขึ้น และต้องค้นหาเทคโนโลยีจากภายนอกที่เป็นที่ยอมรับและนำมาปรับใช้ในองค์กร (Open Innovation) รวมทั้งการรู้จักบ่มเพาะ – ปฏิบัติทักษะแห่งอนาคต โดยเฉพาะทักษะที่มีแนวโน้มการนำระบบปัญญาประดิษฐ์เข้ามาแทนที่

ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า NIA มีเป้าหมายในการส่งเสริมและขับเคลื่อนระบบนวัตกรรมแห่งชาติ โดยผู้ประกอบการภาคเอกชน หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ และองค์กรภาครัฐถือเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนระบบนวัตกรรมของประเทศให้สามารถสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ รวมถึงการพัฒนาและเติบโตทางสังคมอย่างยั่งยืน NIA จึงได้ริเริ่มโครงการพัฒนาศักยภาพด้านนวัตกรรมองค์กร หรือ Innovative Organization Program (IOP) ขึ้น เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพด้านนวัตกรรมองค์กรของหน่วยงานให้เป็นหน่วยงานที่สามารถเติบโตและสร้างเข้มแข็งบนฐานของนวัตกรรม เพราะในการก้าวไปสู่ "องค์กรนวัตกรรม" ไม่ใช่เพียงแค่การผลิตสินค้า หรือบริการที่มีความเป็นเทคโนโลยีและนวัตกรรมเท่านั้น แต่ทุกองค์กรควรจะต้องสรรหาโซลูชั่นใหม่ๆ ที่ช่วยในการบริหารจัดการแนวทางการดำเนินงานให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ มีความยั่งยืน และสามารถรับมือได้ทันกับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในบริบทโลก ทั้งนี้ สิ่งสำคัญที่จะช่วยผลักดันให้เกิดองค์กรนวัตกรรมได้นั้นจะต้องเริ่มจากการเปลี่ยน "วัฒนธรรมองค์กร" ให้รู้จักกล้าคิด กล้าตั้งคำถาม และกล้าที่จะทดลองลงมือทำในสิ่งที่ยังไม่เคยเกิดขึ้น การพัฒนาทักษะทรัพยากรมนุษย์ให้รู้จักเปิดรับสิ่งใหม่ๆ และไม่ยึดติดกับโมเดลเดิมๆที่เคยประสบความสำเร็จ การค้นหาเทคโนโลยีจากภายนอกที่เป็นที่ยอมรับและนำมาปรับใช้ในองค์กร (Open Innovation) รวมทั้งการรู้จักบ่มเพาะ – ปฏิบัติทักษะแห่งอนาคต โดยเฉพาะทักษะที่มีแนวโน้มการนำระบบปัญญาประดิษฐ์เข้ามาแทนที่

นางธีรีสา มัทวพันธุ์ รองผู้อำนวยการด้านยุทธศาสตร์องค์กร สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า โครงการพัฒนาศักยภาพด้านนวัตกรรมองค์กร หรือ Innovative Organization Program : IOP นี้ จะช่วยให้องค์กรเห็นความสำคัญของการก้าวไปสู่องค์กรนวัตกรรมเพิ่มมากขึ้น และจะเป็นเครื่องมือในการช่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมให้แก่องค์กรใน 3 ระดับ 8 มิติด้วยกัน ดังนี้ 1. ระดับยุทธศาสตร์ ซึ่งเป็นตัวกำหนดภาพรวมในการขับเคลื่อน เชื่อมโยงเป้าหมายและทิศทางขององค์กร ประกอบด้วย 2 มิติ ได้แก่ มิติด้านยุทธศาสตร์นวัตกรรม (Innovation Strategy) และมิติด้านการมุ่งเน้นธุรกิจ (Business Focus) 2. ระดับโครงสร้างพื้นฐานที่สนับสนุนการสร้างนวัตกรรม ประกอบด้วย 4 มิติ ได้แก่ มิติด้านบุคลากร (People) มิติด้านองค์ความรู้ (Knowledge) มิติด้านวัฒนธรรม (Culture) และมิติด้านทรัพยากร (Resource) และ 3. ระดับปฎิบัติการ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เป็นประโยชน์กับองค์กรอย่างเต็มรูปแบบ ประกอบด้วย 2 มิติ ได้แก่ มิติด้านผลิตผล (Results) และมิติด้านกระบวนการ (Process) โดยอาศัยโมเดลการพัฒนาศักยภาพด้านนวัตกรรมองค์กร หรือ Innovative Organization Model ซึ่งเป็นโมเดลที่นำเอากรอบแนวทางการบริหารนวัตกรรมองค์กรระดับนานาชาติ มาพัฒนาต่อยอดให้เหมาะสมกับบริบทของการบริหารจัดการองค์กรรูปแบบต่าง ๆ ในประเทศไทยทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน โดย NIA จะมีการให้บริการเพื่อยกระดับความสามารถทางนวัตกรรมกับองค์กรใน 3 ขั้นตอน ดังต่อไปนี้ 1. การบริการประเมินศักยภาพนวัตกรรมขององค์กรออนไลน์ (Online Self Evaluation) 2. การเข้าประเมินเพื่อระบุโอกาสในการพัฒนาศักยภาพโดยผู้เชี่ยวชาญ (On-site Assessment) 3. การบริการให้ความรู้และคำปรึกษาต่างๆ ด้านนวัตกรรม (Development Program) เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับยุทธศาสตร์องค์กรและผู้ดำเนินธุรกิจได้รับรู้ข้อมูลที่จะเป็นประโยชน์สำหรับปรับใช้ในการออกแบบแนวทางการจัดการนวัตกรรมภายในองค์กร เพื่อต่อยอดองค์กรไปสู่การเป็นองค์กรนวัตกรรมต่อไป

ด้านนายกิตตินันท์ อนุพันธ์ CEO & Co-Founder บริษัท เอนนี่แวร์ ทู โก จำกัด ผู้พัฒนาแพลตฟอร์ม เคลมดิ และผู้ได้รับรางวัลองค์กรนวัตกรรมดีเด่น ประเภทธุรกิจขนาดกลาง ประจำปี 2562 ให้ความเห็นว่า การสร้างนวัตกรรมในองค์กรไม่ใช่เรื่องยากสำหรับบริษัทหรือหน่วยงานที่กำลังดำเนินงานในปัจจุบัน แต่สิ่งที่สำคัญคือการเปลี่ยนวัฒนธรรมของคนในองค์กรให้รู้จักเห็นความสำคัญของสิ่งใหม่ๆ และซึมซับเทคโนโลยีซึ่งกำลังมีบทบาทและแพร่กระจายอยู่ทั่วทุกมุมโลก นอกจากนี้ ในการก้าวสู่หลักการดังกล่าวได้นั้น สิ่งสำคัญที่ต้องคิดนอกเหนือจากการพัฒนานวัตกรรมในตัวผลิตภัณฑ์ และการบริการคือ การสร้างนวัตกรรมให้กับรูปแบบธุรกิจ หรือที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่า Business Model Innovation ซึ่งมีความจำเป็นอย่างมากสำหรับการแข่งขันทางธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นทางด้านตลาด การตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค และยังสามารถแสวงหาผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้นได้ด้วยการสร้างสรรค์สิ่งที่มีความแตกต่างจากคู่แข่งได้อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันนี้การทำธุรกิจไม่ใช่ยุคที่ปลาใหญ่กินปลาเล็กอีกต่อไป ผู้ประกอบการหลายๆรายต้องเปลี่ยนแนวคิดหรือความเชื่อดังกล่าวด้วยการผันตัวเป็น "ปลาเร็ว" โดยอาศัยความว่องไวทั้งการคิด การตัดสินใจ การลงมือทำ ซึ่งคนที่ไวกว่าย่อมมีความได้เปรียบกว่าคนที่ยังคิดช้าหรือย่ำอยู่กับที่ และยังสามารถพัฒนาสิ่งใหม่ๆให้เกิดขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังต้องมองภาพใหญ่ของโลกให้มีความชัดเจนว่าใครต้องการอะไร รวมทั้งก้าวตามให้ทันยุคที่เทคโนโลยีกำลังครองโลกทั้ง Connected Cloud, Chatbots, Big Data Data Analytic IoT, AI. Machine Learning และอื่นๆ ไปประยุกต์ใช้ในทางธุรกิจให้เหมาะสม

สำหรับผู้ที่สนใจรายละเอียด สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สถาบันการมองอนาคตนวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) โทรศัพท์ 02-0175555 เว็บไซต์ www.nia.or.th หรือ facebook.com/niathailand

HTML::image( HTML::image( HTML::image(