นายประภัตร กล่าวว่า กลุ่มข้าวอินทรีย์ศรีสุพรรณบุรีเกิดจากการรวมตัวกันของเกษตรกรผู้ที่มีความตั้งใจผลิตข้าวคุณภาพด้วยกระบวนการทำนาอินทรีย์ ปัจจุบันมีสมาชิก 14 รายที่ขอรับรองมาตรฐาน Organic Thailand โดยทำการผลิตข้าวในรูปแบบกลุ่ม มีพื้นที่เพาะปลูก 136 ไร่ ปริมาณผลผลิตรวมของกลุ่ม 90,700 กิโลกรัม หรือเฉลี่ยประมาณ 500 กิโลกรัม/ไร่ ข้าวอินทรีย์ที่สมาชิกผลิตได้นำไปสีเพื่อบริโภคเองในครัวเรือน และจำหน่ายเป็นข้าวอินทรีย์แก่ผู้บริโภคในชุมชนและร้านค้าที่รับไปจำหน่าย
นายประภัตร กล่าวต่อว่า การผลิตข้าวอินทรีย์คือการที่เกษตรกรไม่ใช้สารเคมีทางการเกษตรทุกชนิด ซึ่งทำให้ข้าวมีผลผลิตที่มีคุณภาพ ปลอดสารพิษ และอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ เป็นการพัฒนาการเกษตรแบบยั่งยืน ทั้งนี้ กลุ่มข้าวอินทรีย์ศรีสุพรรณถือเป็นตัวอย่างที่ดีในการนำไปเป็นแนวทางการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ให้กับกลุ่มอื่นๆ โดยมีแปลงผลิตข้าวอินทรีย์ที่ผ่านการรับรองขอบข่ายแหล่งผลิตข้าวอินทรีย์ (T1) ปี 2561 จากกรมการข้าว อย่างไรก็ตามปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกษตรกร สามารถผลิตข้าวคุณภาพได้ คือ การใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวพันธุ์ดี โดยปัจจุบันเกษตรกรมีความต้องการใช้เมล็ดพันธุ์ดีในจำนวนมาก ดังนั้นจึงได้มอบนโยบายให้มีการขยายพื้นที่แปลงใหญ่เกษตรอินทรีย์โดยนำร่องใน อ.ศรีประจันต์ จ.สุพรรณบุรี ตำบลละ 500 ไร่ โดยกรมการข้าวจัดหาเมล็ดพันธุ์และประกันรับซื้อคืนในราคาตันละ 20,000 บาท พร้อมสนับสนุนเจาะบ่อบาดาลเพื่อการเกษตรระบบโซลาเซลล์ โดย 1 บ่อ สามารถช่วยเหลือเกษตรกรได้ 500 ไร่ นอกจากนี้มอบหมายให้นายอำเภอศรีประจันต์ จัดประชุมสร้างความเข้าใจกับเกษตรกรทุกตำบล พร้อมทั้งมีวิทยากรให้ความรู้ในการทำเกษตรอินทรีย์ เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรสามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวอินทรีย์คุณภาพดี ทั้งยังช่วยเพิ่มการผลิตเมล็ดพันธุ์ให้เพิ่มปริมาณให้ได้ 200,000 - 300,000 ตัน/ปี ให้เพียงพอกับความต้องการของเกษตรกร
ในการนี้ ยังได้เดินทางไปยัง แปลงใหญ่ข้าวสวนแตง ของนายพิชิต เกียรติสมพร ต.สวนแตง อ.เมืองสุพรรณ จ.สุพรรณ เพื่อเยี่ยมชมแปลงเรียนรู้เกษตรอัจฉริยะข้าว ของกรมการข้าว โดยประกอบด้วยสมาชิก จำนวน 83 ราย ดำเนินการปลูกข้าว 3 พันธุ์ ได้แก่ กข41 กข43 และปทุมธานี 1 มีพื้นที่ 970 ไร่ มีการให้บริการสมาชิก อาทิ จัดทำแปลงสาธิตเพื่อการเรียนรู้ บริการเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดี บริการปุ๋ยเคมีราคาถูก โดยแปลงเรียนรู้เกษตรอัจฉริยะ ได้ดำเนินการเมื่อปี 2562 ได้มีการติดตั้งเซนเซอร์ตรวจสภาพต้นข้าว กล้องดักจับแมลง ท่อวัดระดับน้ำอัจฉริยะ ซึ่งเกษตรสามารถเรียกดูข้อมูลได้จาก โทรศัพท์มือถือ การบริหารจัดการ การฉีดพ่นสารชีวภัณฑ์โดยใช้โดรน พบว่า สามารถลดแรงงานในการดำเนินงาน ลดปริมาณน้ำในการฉีดพ่นสาร และลดปริมาณการใช้สารเคมีกำจัดแมลง เนื่องจากมีเซนเซอร์ในการตรวจจับแมลง และมีการสำรวจแปลงอย่างสม่ำเสมอ นอกจากนี้ในอนาคตจะขยายผลการดำเนินงานแปลงเกษตรอัจฉริยะ กับสมาชิกนาแปลงใหญ่ข้าว ต.สวนแตง อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี จำนวน พื้นที่ 1,800 ไร่ ต่อไป
สำหรับโรงงานแปรรูปน้ำนมดิบ สหกรณ์การเกษตรเมืองสุพรรณบุรี ต.สระแก้ว อ.เมือง จ.สุพรรณ มีสมาชิกเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม จำนวน 14 ราย ปริมาณโคนม จำนวน 1,121 ตัว ปริมาณน้ำนมดิบ จำนวน 6.211 ตัน /วัน และปริมาณที่ส่งนมพาสเจอร์ไรส์(โครงการอาหารเสริม(นม)โรงเรียน จำนวน 34,000 ถุง/วัน โดยสหกรณ์มีแผนธุรกิจในการรวบรวมน้ำนมดิบ จำนวน 2,000 ตัน เดือนกันยายน 2562 สหกรณ์รวบรวมน้ำนมดิบได้ 1,649.41 ตัน เป็นเงิน 32,273,287.15 บาท นำไปแปรรูป 884.03 ตัน เป็นเงิน 15,807,363.96 บาท