นายวิน พรหมแพทย์, CFA ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนพรินซิเพิล จำกัด เปิดเผยว่า จากภาพรวมเศรษฐกิจโลกที่ยังคงมีแนวโน้มชะลอตัวจากภาวะสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน ประกอบกับสภาวะตลาดหุ้นไทยที่มีความผันผวนในช่วงที่ผ่านมา รวมทั้งการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของเฟดและ กนง. ทำให้ภาวะอัตราดอกเบี้ยยังคงอยู่ในระดับต่ำ ทีมบริหารจัดการยังคงแนะนำให้กระจายการลงทุนในกองทุนรวมที่เข้าลงทุนในสินทรัพย์กลุ่มกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ (Property Funds) ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REITs) และกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund) ในประเทศไทยและในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งยังคงให้ผลตอบแทนจากเงินปันผลในระดับที่น่าสนใจ ขณะที่อัตราพื้นที่ว่างของโครงการอสังหาริมทรัพย์ให้เช่าในปัจจุบันอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ ส่วนค่าเช่ามีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นได้อีกในอนาคต และพฤติกรรมนักลงทุนที่ต้องการลงทุนในสินทรัพย์ประเภท Yield Play Asset หรือสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนจากการจ่ายเงินปันผล ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ REITs เป็นสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูงสุดนับตั้งแต่ต้นปี 2562 (ที่มา: Bloomberg วันที่ 31 ส.ค. 2562)
ทั้งนี้ ทีมจัดการลงทุนมีมุมมองเชิงบวกต่อการลงทุนในกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ REITs และกองทุนโครงสร้างพื้นฐานในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค โดยในกลุ่มออฟฟิศเกรด A ยังคงมีดีมานด์ที่แข็งแกร่ง กลุ่ม Prime industrial (โรงงานอุตสาหกรรมระดับบน) และกลุ่ม Prime retail (ค้าปลีกระดับบน) ยังคงมีอัตราค่าเช่าอยู่ในช่วงการเติบโต
สำหรับประเทศไทย ภาพรวมธุรกิจค้าปลีกยังคงมีดีมานด์เติบโตในอัตราที่สูงกว่าซัพพลาย โดยมีพื้นที่ค้าปลีกให้เช่ารวมประมาณ 7.72 ล้านตารางเมตร แต่มีอัตราพื้นที่ว่างยังคงอยู่ในระดับต่ำที่ 5.8% (ข้อมูลจาก CBRE ณ 30 มิถุนายน 2562) ส่วนค่าเช่าออฟฟิศในทุกพื้นที่และทุกระดับยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องและมีพื้นที่ว่างในระดับต่ำ ขณะที่ประเทศสิงคโปร์พบว่า ออฟฟิศให้เช่าเกรดเอในย่านธุรกิจ มีพื้นที่ว่างลดลงเหลือเพียง 3.5% และอัตราค่าเช่าสูงกว่าประเทศอื่นในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคที่ตารางฟุตละ 11.45 เหรียญสิงคโปร์ต่อเดือน ส่วนประเทศออสเตรเลีย ออฟฟิศให้เช่าในย่านธุรกิจของเมืองซิดนีย์และเมลเบิร์น มีอัตราพื้นที่ว่างอยู่ในระดับต่ำเป็นประวัติการณ์ที่ 3.7% และ 3.3% ตามลำดับ ในประเทศอเมริกาออฟฟิศให้เช่ายังคงเป็นตลาดที่น่าสนใจจากความต้องการเช่าพื้นที่มีอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้อุตสาหกรรมในกลุ่มคลังสินค้าเพื่อการขนส่งและดาต้าเซ็นเตอร์ทั่วโลก ก็มีความน่าสนใจเนื่องจากได้รับปัจจัยบวกจากการเติบโตของเทคโนโลยีสารสนเทศและธุรกิจอี-คอมเมิร์ช
บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน พรินซิเพิล จึงเตรียมเปิดตัวกองทุนใหม่ภายใต้ชื่อ 'กองทุนเปิดพรินซิเพิล เอ็นแฮนซ์ พร็อพเพอร์ตี้ แอนด์ อินฟราสตรัคเจอร์ เฟล็กซ์ อินคัม' หรือ Principal Enhanced Property and Infrastructure Flex Income Fund' (PRINCIPAL iPROPEN) ซึ่งมีนโยบายการลงทุนและสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์แต่ละประเภท ที่แตกต่างจากกองทุน PRINCIPAL iPROP (กองทุนนี้ลงทุนกระจุกตัวในกลุ่มอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ (Property Sector Fund) ดังนั้นหากมีปัจจัยลบที่ส่งผลกระทบต่อการลงทุนดังกล่าวผู้ลงทุนอาจสูญเสียเงินลงทุนจำนวนมาก) ที่มีอยู่ในปัจจุบัน เช่น เพิ่มสัดส่วนการลงทุนกองทรัสต์ฯ ในประเทศออสเตรเลีย ญี่ปุ่นและฮ่องกง เป็นต้น เพื่อเพิ่มทางเลือกแก่นักลงทุนที่ต้องการลงทุนในสินทรัพย์กลุ่มกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ REITs และกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานในกลุ่มประเทศเอเชีย แต่สามารถรับความผันผวนที่เพิ่มขึ้นเพื่อโอกาสรับผลตอบแทนเงินปันผลที่ดีกว่า และแสวงหาโอกาสการลงทุนในสินทรัพย์แบบ Freehold คุณภาพดี พร้อมทั้งขยายขอบเขตการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับอสังหาริมทรัพย์ อาทิ หุ้นของบริษัทที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับระบบโครงสร้างพื้นฐาน ฯลฯนายวิน กล่าวว่า กองทุน PRINCIPAL iPROPEN เป็นกองทุนประเภท Fund of Funds ที่มีนโยบายลงทุนในไทยและต่างประเทศ เน้นลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ และ/หรือกองทรัสต์ และ/หรือกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน และ/หรือกองทุน ETF (Exchange Traded Fund) ตราสารที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โครงสร้างพื้นฐาน กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนฯ ส่วนที่เหลืออาจลงทุนในตราสารทุน ตราสารหนี้ ตราสารทางการเงิน ตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุน เงินฝาก ตราสารทีมีลักษณะของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแฝง (Structure noted) รวมถึงหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินอื่นทั้งใน และ/หรือต่างประเทศ โดยมีความเสี่ยงการลงทุนในระดับ 8 มีการป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนตามดุลยพินิจของผู้จัดการกองทุนฯ
"จุดเด่นของกองทุน PRINCIPAL iPROPEN จะเน้นกระจายการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีคุณภาพดีและมีรายได้จากค่าเช่าที่มั่นคงในภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิก โดยเพิ่มความยืดหยุ่นในการลงทุน ให้สามารถเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานได้มากขึ้น และสามารถลงทุนในหุ้นที่เกี่ยวข้องกับอสังหาริมทรัพย์และโครงสร้างพื้นฐานอีกด้วย นอกจากนี้ ยังกระจายความเสี่ยงการลงทุนสินทรัพย์ที่หลากหลายในหลายประเทศ และขยายขอบเขตการลงทุนในสินทรัพย์แบบ Freehold (ลงทุนในกรรมสิทธิ์) ตลอดจนบริหารจัดการโดยทีมผู้เชี่ยวชาญการลงทุนใน REITs ของกลุ่ม Principal โดยกลุ่มสินทรัพย์ที่มองว่าน่าสนใจลงทุน ได้แก่ Office, Retail, Logistics, Data Centers และ Infrastructures" นายวิน กล่าว
กองทุนดังกล่าวพร้อมเปิดเสนอขายหน่วยลงทุนครั้งแรก (IPO) วันที่ 14 – 22 พฤศจิกายน 2562 ที่ราคาเสนอขายหน่วยละ 10 บาท กำหนดวงเงินสั่งซื้อขั้นต่ำครั้งละ 5,000 บาท โดยมีทุนจดทะเบียนกองทุน 5,000 ล้านบาท เปิดเสนอขาย 2 ชนิด คือ ชนิดสะสมมูลค่า (Class A) และชนิดจ่ายเงินปันผล (Class D) สำหรับนักลงทุนที่สนใจสามารถขอหนังสือชี้ชวนหรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน พรินซิเพิล จำกัด โทร. 02 686 9595 www.principal.th
กองทุนรวมดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาคำขออนุมัติจัดตั้งและจัดการกองทุนจากสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต./ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า (กองทุน) เงื่อนไข ผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน/ เนื่องจากกองทุนเน้นลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ และ/หรือทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REITs) และ/หรือกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งกองทุนดังกล่าวมีความเสี่ยงในลักษณะเดียวกับการลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์หรือโครงสร้างพื้นฐานโดยตรง เช่น ความเสี่ยงจากความผันแปรของค่าเช่าและอัตราการเช่า การเพิ่มขึ้นของภาษีทรัพย์สิน การเปลี่ยนแปลงของกฎหมายหรือกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง ความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม ความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ ค่าเสื่อมราคาของอาคารเมื่อเวลาผ่านไป และการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ย เป็นต้น รวมถึงความเสี่ยงจากการกระจุกตัวอาจทำให้มีความผันผวนมากกว่าการลงทุนที่กระจายการลงทุนในหลายอุตสาหกรรม/ กองทุนเปิดพรินซิเพิล เอ็นแฮนซ์ พร็อพเพอร์ตี้ แอนด์ อินฟราสตรัคเจอร์ เฟล็กซ์ อินคัม มีการลงทุนในต่างประเทศ บางส่วนซึ่งจะไม่เกินร้อยละ 79 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน กองทุนจึงมีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ บริษัทจัดการอาจลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน (Hedging) โดยขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของบริษัทจัดการ ผู้ลงทุนอาจจะขาดทุนหรือได้รับกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน/หรือได้รับเงินคืนต่ำกว่าเงินทุนเริ่มแรกได้
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit