โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งในโครงการพัฒนาแหล่งน้ำบางปะกงตอนบนและสาขา เพื่อให้มีแหล่งน้ำเพียงพอสำหรับการเพาะปลูก การอุปโภค-บริโภค ตลอดถึงช่วยป้องกันและบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ รวมทั้งรองรับการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรมในบริเวณพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก อ่างเก็บน้ำฯ สามารถกักเก็บน้ำได้ 98 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็นแหล่งน้ำต้นทุนสำหรับพื้นที่เพาะปลูกในฤดูฝน 44,000 ไร่ ในฤดูแล้ง 8,500 ไร่ และส่งน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค การประมงและพื้นที่อุตสาหกรรมจำนวน 11.90 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี
ล่าสุดพลอากาศเอกชลิต พุกผาสุข องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริพื้นที่ภาคกลาง พร้อมคณะอนุกรรมการฯ เดินทางไปติดตามการดำเนินงานของโครงการฯ พร้อมรับฟังการบรรยายสรุปผลการดำเนินงานโครงการฯ จากผู้แทนกรมชลประทาน พบว่า โครงการฯ อยู่ระหว่างการดำเนินการก่อสร้างคลองส่งน้ำสายใหญ่ทั้งฝั่งซ้ายและฝั่งขวา โดยฝั่งซ้ายมีความยาวประมาณ 28 กิโลเมตร สามารถช่วยเหลือพื้นที่ที่ใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำคลองหลวงฯ เพิ่มขึ้นประมาณ 17,000 ไร่ ส่วนฝั่งขวาเพิ่มขึ้นประมาณ 27,000 ไร่ ซึ่งคาดว่าฝั่งขวาจะแล้วเสร็จประมาณปี 2563 ฝั่งซ้ายจะแล้วเสร็จประมาณปี 2566 แต่เนื่องจากคลองส่งน้ำ ณ ปัจจุบันยังไม่แล้วเสร็จ ทำให้อ่างเก็บน้ำต้องระบายน้ำผ่านอาคารระบายน้ำ River Outlet ส่งน้ำไปทางลำน้ำเดิมคือคลองหลวงฯ ซึ่งมีพื้นที่การเกษตรของราษฎรได้รับประโยชน์ใน 2 อำเภอ คืออำเภอเกาะจันทร์และอำเภอพนัสนิคม ใน 11 ตำบล พื้นที่รวมประมาณ 25,000 ไร่
นายวุฒิชัย นรสิงห์ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาคลองหลวงรัชชโลทรฯ เปิดเผยว่า ก่อนการส่งน้ำจะมีการเชิญกลุ่มผู้ใช้น้ำ กำนัน ผู้ใหญ่บ้านและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่อยู่ในเขตพื้นที่ใช้น้ำ มารับทราบปริมาณน้ำต้นทุนในขณะนั้นว่ามีเท่าไหร่ เพื่อการบริหารจัดการน้ำให้ครอบคลุมได้ทั่วถึงและได้รับประโยชน์อย่างเท่าเทียมกัน และแบ่งรอบเวรการใช้น้ำที่ทุกส่วนที่เกี่ยวข้องได้รับรู้และตัดสินใจร่วมกัน
"พื้นที่แถวนี้พืชหลักๆ คือปลูกข้าว พืชไร่ และมะนาว ส่วนพืชใช้น้ำน้อยมีอ้อยและข้าวโพด ปัจจุบันมีน้ำต้นทุน ในอ่างอยู่ประมาณ 60 ล้านลูกบาศก์เมตร จากความจุของอ่าง 98 ล้านลูกบาศก์เมตร ก็ต้องช่วยกันบริหารจัดการว่าจะใช้อย่างไรให้เพียงพอไปจนถึงหน้าแล้งปี 2563 จึงได้มีการประชาสัมพันธ์แจ้งเกษตรกรให้ลดพื้นที่การเพาะปลูกในช่วงหน้าแล้งที่จะถึงนี้" นายวุฒิชัย นรสิงห์ กล่าว
ทางด้านนางไพรินทร์ อรุณสวัสดิ์ ราษฎรบ้านสามแยก หมู่ที่ 5 ต.ท่าบุญมี อ.เกาะจันทร์ จ.ชลบุรี เผยว่า ประชาชนในพื้นที่ส่วนใหญ่จะทำนา ทำไร่ ทำสวน ส่วนหนึ่งประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป ที่ผ่านมาพื้นที่มีปัญหาเรื่องน้ำที่ไม่เพียงพอ จึงทำสวนขนุนเป็นส่วนใหญ่ เพราะเมื่อต้นโตแล้วจะใช้น้ำน้อยกว่าการทำนา ผลผลิตส่วนใหญ่ส่งจำหน่ายประเทศจีน ส่วนที่เหลือจะนำมาแปรรูปจำหน่ายภายในประเทศ โดยจำหน่ายทั่วไปและตลาดออนไลน์แบบรวมกลุ่มกันทำการผลิต ปัจจุบันสมาชิกมีรายได้ประมาณ 3,000-3,500 บาทต่อเดือนต่อคน"เป็นอาชีพเสริมที่มีรายได้มากพอสมควร สามารถนำมาจุนเจือครอบครัวได้ นอกจากนี้ ประชาชนในพื้นที่ส่วนหนึ่งก็จะประกอบอาชีพประมงน้ำจืดในอ่างเก็บน้ำ แล้วนำปลามาแปรรูปสามารถสร้างเป็นอาชีพหลักได้หลายราย ซึ่งหากต้องลดพื้นที่การทำนาหรือทำสวนในช่วงหน้าแล้งเพราะปริมาณน้ำมีน้อยก็จะไม่กระทบมากนัก ตอนนี้ทุกคนรอระบบการส่งน้ำเข้าพื้นที่แปลงเพาะปลูกเมื่อถึงตอนนั้นก็จะมาทำการเพาะปลูกเพิ่มขึ้นเพราะเป็นรายได้หลักที่จะได้รับทุกปี" นางไพรินทร์ อรุณสวัสดิ์ กล่าว
ด้านนายปฏิภาณ จันทร์ประโคน เกษตรกรที่ประกอบอาชีพประมงในอ่างเก็บน้ำฯ เผยว่า ในแต่ละวันที่ออกหาปลาในอ่างเก็บน้ำฯ จะได้ปลาประมาณ 50-60 กิโลกรัม ขายได้ประมาณ 500 กว่าบาท และในบางวันสามารถจับปลาได้มากถึง 200 กิโลกรัม ส่วนใหญ่เป็นปลานิล ปลาช่อน และปลาตะเพียน ซึ่งเป็นพันธุ์ปลาที่ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำมาปล่อยช่วงที่เริ่มทำการเก็บกักน้ำ นับเป็นรายได้เสริมที่เพียงพอต่อการใช้ชีวิตและเลี้ยงครอบครัวเป็นอย่างดี
"ประทับใจในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ท่านสอนในเรื่องการใช้ชีวิตตามแนวทางปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ทำให้ไม่ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย หาได้เท่าไหร่ส่วนหนึ่งเก็บออมที่เหลือไม่ใช้จ่ายเกินตัว และที่ท่านพระราชทานอ่างเก็บน้ำแห่งนี้ให้กับประชาชนในพื้นที่ทำให้ประชาชนมีอาชีพมั่นคงในทุกด้าน ทั้งเพาะปลูก และการทำประมง ทำให้ทุกคนมีรายได้ที่แน่นอนและต่อเนื่อง รู้สึกตื้นตันใจและขอขอบพระคุณพระองค์ท่านอย่างหาที่สุดมิได้" นายปฏิภาณ จันทร์ประโคน กล่าว
โครงการอ่างเก็บน้ำคลองหลวง รัชชโลทร อันเนื่องมาจากพระราชดำรินั้น มีขนาดความจุ 98 ล้านลูกบาศก์เมตร ปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้างคลองส่งน้ำและคลองระบายน้ำทั้งฝั่งซ้ายและฝั่งขวาพร้อมอาคารประกอบ ซึ่งเมื่อการก่อสร้างระบบส่งน้ำแล้วเสร็จก็จะสามารถส่งน้ำให้กับพื้นที่ชลประทานได้ถึง 44,000 ไร่
นอกจากนี้ กรมชลประทานยังได้ขยายผลต่อยอดโครงการฯ โดยดำเนินโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บกักน้ำอ่างเก็บน้ำคลองหลวงฯ เพื่อเพิ่มความจุอ่างเก็บน้ำจาก 98 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็น 125 ล้านลูกบาศก์เมตร ชะลอการไหลของน้ำที่จะลงไปยังพื้นที่ท้ายน้ำในช่วงฤดูน้ำหลาก เพื่อป้องกันและบรรเทาอุทกภัยให้กับพื้นที่อำเภอเกาะจันทร์ อำเภอพนัสนิคม และอำเภอพานทอง และรองรับการขยายตัวของทุกภาคส่วนในพื้นที่ภาคตะวันออกอีกด้วย
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit