นายชาญศิลป์ฯ เปิดเผยว่า กลุ่ม ปตท. ตระหนักถึงความสำคัญในการพัฒนาประเทศบนฐานขององค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี จึงได้ริเริ่มก่อตั้งโรงเรียนกำเนิดวิทย์ (KVIS) ในระดับชั้นมัธยมศึกษา และสถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC)ในระดับบัณฑิตศึกษา(ปริญญาโทและปริญญาเอก) ขึ้น เมื่อปี พ.ศ 2558 โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ปัจจุบัน สถาบันวิทยสิริเมธี มีนิสิตจำนวน 5 รุ่น ใน 4 สำนักวิชา คือ 1. สำนักวิชาวิทยาการโมเลกุล 2. สำนักวิชาวิทยาการพลังงาน 3. สำนักวิชาวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมชีวโมเลกุล ได้รับการสนับสนุนการจัดตั้งโดยธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) 4. สำนักวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ ได้รับการสนับสนุนการจัดตั้งโดยธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งนิสิตที่สำเร็จการศึกษาในปี 2561 ปัจจุบันได้เข้าทำงานเป็นนักวิทยาศาสตร์ และวิศวกร ของหน่วยงานวิจัยกับบริษัทในกลุ่ม ปตท. รวมทั้งบริษัทเอกชนชั้นนำทั้งในและต่างประเทศ ผลสำเร็จสำคัญของสถาบันฯ ในปี 2561 มีผลงานวิจัยที่เป็นประจักษ์จำนวน 171 ผลงาน นอกจากนี้ VISTEC ยังได้รับการจัดลำดับใน Nature Index ranking เป็นอันดับที่ 1 ของประเทศไทย และเป็นอันดับ 3 ในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน (ASEAN) ทางด้านสาขา Chemistry และติดอันดับที่ 12 ของมหาวิทยาลัยดาวรุ่งที่ก่อตั้งมาไม่เกิน 30 ปี จากทั่วโลก
สถาบันวิทยสิริเมธี ถือใบอนุญาตจัดตั้งโดยมูลนิธิพลังสร้างสรรค์นวัตกรรม โดยได้รับการสนับสนุนหลักจาก กลุ่ม ปตท. สถาบันการเงินชั้นนำ รวมทั้งบริษัทเอกชนชั้นนำและหน่วยงานต่างๆ จนสามารถผลิตผลงานวิจัยที่นำมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์แก่สังคมได้จริง อาทิ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีกักเก็บพลังงาน ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน และโครงการการสร้างมูลค่าเพิ่มให้ขยะอินทรีย์ผ่านกระบวนการชีววิทยาสังเคราะห์(ขยะเพิ่มทรัพย์) ซึ่งโครงการดังกล่าวได้ดำเนินการแล้วในจังหวัดน่าน โดยได้รับการสนับสนุนจากธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ทั้งนี้ สถาบันฯ มุ่งพัฒนางานวิจัยและผลิตนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ เพื่อสร้างสรรค์เทคโนโลยี นวัตกรรม และองค์ความรู้ใหม่อันจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศได้อย่างยั่งยืน ตามเจตนารมณ์ของ กลุ่ม ปตท. ต่อไป
สำหรับโรงเรียนกำเนิดวิทย์ นักเรียนที่จบในปีการศึกษา 2561 มีจำนวน 70 คน ได้รับทุนเพื่อการศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีมหาวิทยาลัยชั้นนำในประเทศ 15 ทุน ทุนศึกษาต่อต่างประเทศ 27 ทุน นอกจากนี้ นักเรียนรุ่น 1 สามารถสร้างผลงานวิจัยได้ 35 เรื่อง และรุ่น 2 สามารถสร้างผลงานวิจัยได้ 32 เรื่อง รวมทั้งยังมีผลการพัฒนาทักษะด้านภาษาอังกฤษอย่างเป็นรูปธรรม แสดงให้เห็นถึงความพร้อมและความสามารถของผู้เรียนในการศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกได้
เวลาประมาณ 14.00 น. กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จพระราชดำเนินไปศูนย์เรียนรู้ป่าวังจันทร์ สถาบันปลูกป่าและระบบนิเวศ ปตท. ต.ป่ายุบใน อ.วังจันทร์ จ.ระยอง เพื่อทรงติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานศูนย์เรียนรู้ป่าวังจันทร์ และโครงการ "วังจันทร์รวมรัก ปลูกผักแบ่งปัน" ซึ่งเป็นโครงการที่ส่งเสริมการมีส่วนร่วมกับชุมชน และสนับสนุนการดำเนินงานตามแนวพระราชดำริฯ ส่งผลให้เกิดการแบ่งปันผลผลิตขึ้นในชุมชน นอกจากเก็บผลผลิตไว้บริโภคเพื่อลดรายจ่าย ยังเกิดรายได้เสริมจากการจำหน่ายผักในสถานีบริการน้ำมัน ปตท. ต.ป่ายุบใน อ.วังจันทร์ จ.ระยอง โดย ปตท. สนับสนุนพื้นที่ให้วางจำหน่ายตั้งแต่ปลายเดือนเมษายน 2561 ภายใต้ชื่อ "ร้านผักวังจันทร์" ปัจจุบัน มีสมาชิกในโครงการฯ ทั้งสิ้น 78 ครัวเรือน และขยายผลสู่แปลงผักอาหารกลางวันของโรงเรียนในตำบลป่ายุบในจำนวน 3 โรงเรียน รวมทั้ง ทรงติดตามความก้าวหน้าการพัฒนาศูนย์เรียนรู้ บนพื้นที่ 154 ไร่ ที่ ปตท. ได้น้อมเกล้าฯ ถวาย ซึ่งกรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงมีพระราชดำริที่จะสร้างศูนย์เรียนรู้ เผยแพร่ความรู้ด้านเกษตรสมัยใหม่ ให้แก่นักเรียนและผู้ที่สนใจ ทรงพระราชทานนามว่า "ศูนย์เรียนรู้เกษตรนวัต สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา" นอกจากนี้ ปตท. ได้ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สนับสนุนการทำเกษตรที่นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในระบบการผลิต เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพและอาหารปลอดภัย ถ่ายทอดสู่ชุมชน ประชาชนทั่วไป และสนับสนุนการเรียนการสอนสาขาวิชาเกษตรนวัต โรงเรียนจิตรลดาวิชาชีพ สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา ผ่านจุดเรียนรู้ "โรงเรือนต้นแบบ" ในศูนย์เรียนรู้ป่าวังจันทร์
ต่อมา กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จพระราชดำเนินติดตามความก้าวหน้าการดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์เพื่อเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) ภายใต้เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ณ อาคารหอชมวิว ที่สามารถมองเห็นทัศนียภาพในเขตพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ และเห็นความก้าวหน้าในการก่อสร้างโครงการ EECi ซึ่งเป็นการพัฒนาระหว่างกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย สวทช. และ ปตท. ซึ่ง ปตท. สนับสนุนการพัฒนาพื้นที่ในด้านโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคที่ทันสมัย ในรูปแบบ Smart Natural Innovation Platform และ สวทช. จะพัฒนาและประสานความร่วมมือกับพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ เพื่อสร้างให้ EECi เป็นศูนย์กลางวิจัยพัฒนานวัตกรรม เสริมสร้างศักยภาพของประเทศไทยให้มีความสามารถในการแข่งขันระดับนานาชาติต่อไป
"ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กลุ่ม ปตท. ได้มุ่งมั่นให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการความยั่งยืน 3 ด้านอย่างสมดุล (หลัก 3P) คือ การทำธุรกิจควบคู่กับการการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ดูแลชุมชน และสังคม (People) การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (Planet) และเป็นฐานความมั่นคงแก่ภาคเศรษฐกิจและสังคมเติบโตอย่างแข็งแรงและยั่งยืน (Prosperity) ตลอดจนพร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อก้าวสู่การเป็นไทยแลนด์ 4.0" นายชาญศิลป์ กล่าวในตอนท้าย
HTML::image( HTML::image( HTML::image(