เปลี่ยนผ่านการพัฒนาประเทศสู่ Digital Construction
ดร.ทศพร ศรีเอี่ยม กรรมการ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ และประธานจัดงานวิศวกรรมแห่งชาติ 2562 กล่าวว่า อุตสาหกรรมออกแบบและก่อสร้าง มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาเมืองและสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจแก่ประเทศปีละกว่า 1.2 ล้านล้านบาท ผู้ประกอบการ สถาปนิก วิศวกร จำเป็นต้องเปลี่ยนผ่านสู่อุตสาหกรรมก่อสร้างดิจิทัล หรือ Digital Construction ปัจจุบัน วิศวกรในประเทศไทยมีจำนวน 240,000 คน สถาปนิก 20,000 คน ผู้ประกอบการและซัพพลายเชนอีกจำนวนมาก จำเป็นต้องเปลี่ยนผ่านเพื่อก้าวสู่แพลตฟอร์ม "Digital Construction" และภูมิทัศน์ใหม่ๆ ซึ่ง BIM (Building Information Modeling) เป็นหนึ่งในกลไกของ Digital Infrastructure กระบวนการบูรณาการของทุกส่วนในงานก่อสร้างบนโมเดลเดียวกัน สร้างความก้าวหน้าท่ามกลางการแข่งขันที่เพิ่มสูงขึ้น และคลื่นเทคโนโลยีที่ถาโถมเข้ามา อาทิ การสื่อสาร 5G , 3D printing , Robotic และ Automation เพื่อพัฒนางานก่อสร้างให้ทรงพลังอย่างยั่งยืน เพิ่มคุณภาพ ประหยัดกำลังคนแก้ปัญหาแรงงานที่ขาดแคลน ประหยัดเวลาและพลังงาน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการบริหารจัดการที่แม่นยำและโปร่งใส
BIM เป็นกระบวนการครบวงจรชีวิตอาคาร เป็นฐานข้อมูลเมืองดิจิทัล
นายวิจิตร ศิลาวิเศษฤทธิ์ สภาสถาปนิก กล่าวว่า BIM หรือ Building Information Modeling เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ถูกพัฒนาขึ้นสำหรับวงการก่อสร้าง ไม่ใช่ซอฟท์แวร์ แต่เป็นกระบวนการ ตั้งแต่การเริ่มต้นของอาคารจนครบวงจรชีวิตของอาคาร (Life Cycle) เริ่มตั้งแต่การวางโจทย์โครงการ , วิเคราะห์-ออกแบบแนวคิดโครงการ , การออกแบบอาคารหรือโครงสร้างด้วยแบบจำลอง 3 มิติ โดยสามารถสร้างแบบจำลองเสมือนจริงในคอมพิวเตอร์ รวมไปถึงการคำนวณ ระบุขนาด สเปค จำนวนวัสดุ เหล่านี้จะส่งผลดีต่อสถาปนิกและวิศวกรผู้ออกแบบทุกฝ่าย ทั้งงานโครงสร้าง งานสถาปัตยกรรม งานระบบ สามารถทำงานบนโมเดลเดียวกันได้ ทำให้ประสานงานระหว่างทีมออกแบบและบริหารต้นทุนโครงการได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ตลอดกระบวนการตั้งแต่ออกแบบจำลองแบบอาคาร 3 มิติ ทดสอบ และควบคุมงานก่อสร้าง การบำรุงรักษาหลังสร้างเสร็จ ในอนาคตบทบาทของอุตสาหกรรมก่อสร้างและ BIM จะสามารถวางโครงสร้างพื้นฐานในรูปแบบของ BIM ซึ่งจะช่วยให้เกิดการบริหารจัดการเมืองแบบ Smart City ได้ง่ายขึ้น เนื่องจากมีข้อมูลของเมืองในรูปแบบ Digital สามารถนำไปใช้กับการวิเคราะห์ บริหารจัดการเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ในยุคดิสรัปชั่นสถาปนิกและวิศวกรต้องเตรียมพร้อมกับความเปลี่ยนแปลง เช่น BIM , AI จะเป็นปัจจัยพื้นฐานต่อยอดและพัฒนาเทคโนโลยีนวัตกรรมใหม่ๆ
2 ปีที่ผ่านมา เราได้ศึกษาและวิจัยพัฒนาแนวทางการใช้เทคโนโลยี BIM 2 เล่ม ด้วยความร่วมมือจากองค์กรในประเทศและนานาประเทศ อาทิ ยุโรป ฮ่องกง สิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม เพื่อให้ BIM Standard เป็นมาตรฐานกลางที่สามารถใช้ทำงานร่วมกับผู้อื่น ต่างองค์กรและต่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ คาดว่าจะแล้วเสร็จในปลายปี 2563 จะเห็นได้ว่าการพัฒนา BIM ในประเทศจีนได้สร้างการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจขนานใหญ่ สิงคโปร์ มาเลเซีย รุดหน้าไปไกลแล้ว ตามด้วยประเทศเวียดนามที่นำ BIM มาใช้สร้างความเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว เนื่องจากมีศักยภาพทางด้านอุตสาหกรรมสูง จึงมีความจำเป็นต้องเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านต่างๆ ทั้งทางด้านสาธารณูปโภค โครงการพัฒนาเมืองใหม่ การพัฒนาคมนาคม และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ฯ สำหรับประเทศไทยเองมีศักยภาพและจุดเด่นการเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจอาเซียน แต่ยังนำเทคโนโลยี BIM มาใช้น้อย เนื่องจากชุดคำสั่งมีราคาต้นทุนสูง และการใช้งานหลายอย่างไม่เหมาะกับความต้องการที่แตกต่างในประเทศไทย ทำให้หลายองค์กรยังคงนิยมใช้เทคโนโลยีดั้งเดิมแบบ 2 มิติ
งานวิศวกรรมแห่งชาติ 62 เปิดเวทียกร่าง Digital Construction
ทั้งนี้ ในงานวิศวกรรมแห่งชาติ 2562 ซึ่งจัดโดย วสท.ในวันที่ 13 – 15 พ.ย. 62 ณ ฮอลล์ 4 อิมแพ็คฟอรั่ม เมืองทองธานี ภายใต้ธีม "Engineering for Society : Digital Transformation" ซึ่งเป็นมหกรรมแสดงผลิตภัณฑ์ นวัตกรรมและเทคโนโลยี พร้อม 55 หัวข้อสัมมนา สำหรับคนไทยได้มาอัพเดทกับโลกที่เปลี่ยนแปลง จะเปิดเวทีเสวนา เรื่อง "3 องค์กรวิชาชีพปักธง BIM Standard ประเทศไทย...ยกระดับอุตสาหกรรมก่อสร้างดิจิทัลรองรับยุคเทรดวอร์ - ดิสรัปชั่น" เพื่อระดมข้อคิดเห็นเสนอข้อกำหนดต่างๆ สู่การยกร่างเป็นมาตรฐานดิจิทัลคอนสตรัคชั่น (Digital Construction) ระดับประเทศ
ประโยชน์ของ BIM Standard ต่อประเทศไทย
นายทรงพล ยมนาค ผู้ทรงคุณวุฒิ สภาสถาปนิก กล่าวว่า ปัจจุบันผู้ประกอบการ สถาปนิก วิศวกร ต่างคนต่างใช้ BIM จากประเทศต่างๆ โดยที่เรายังไม่มีมาตรฐาน BIM Standard ของประเทศไทยเลย ดังนั้นการพัฒนา Thailand BIM Standard เป็นครั้งแรกจะเป็นผลดีเกิดประโยชน์ต่อประเทศไทยหลายด้าน คือ 1. ส่งเสริมศักยภาพในการแข่งขันของอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเครื่องยนต์หลักที่สร้างรายได้แก่ประเทศ 2. เป็นมาตรฐานกลางทั้งทางด้านโปรแกรม และผู้ใช้งาน และแนวทางการเลือกใช้งาน BIM สามารถส่งต่อข้อมูลข้ามประเทศได้อย่างสอดคล้องกันกับมาตรฐานของนานาประเทศ 3. เสริมสร้างความก้าวหน้าของเทคโนโลยีในการก่อสร้างและสถาปัตยกรรมทำให้วิศวกร สถาปนิก และบุคลากรในวิชาชีพพัฒนาก้าวทันโลก 4. ยกระดับความก้าวหน้าในการประกอบวิชาชีพด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี 5. ส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ใหม่ในอุตสาหกรรมก่อสร้าง 6. ส่งเสริมคุณภาพและประสิทธิภาพของอุตสาหกรรมก่อสร้าง ที่ถูกต้องแม่นยำและโปร่งใสด้วยธรรมาภิบาล
5 ข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล ขับเคลื่อน BIM วาระแห่งชาติ
ดร.ธเนศ วีระศิริ นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ สรุป 5 ข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนี้ 1. ขอให้รัฐบาลบรรจุแผนพัฒนา BIM เป็นวาระแห่งชาติ ไว้ในแผน Digital แห่งชาติและ Thailand 4.0 ดังเช่น ประเทศเวียดนามที่ล้ำหน้าประเทศไทยไปไกล เนื่องจากนายกฯ เวียดนามผลักดันและลงนามในแผน BIM แห่งชาติด้วยตนเอง 2. รองรับอนาคต โดย BIM จะเชื่อมต่อทำให้นโยบายพัฒนา Smart Cities ของไทยมีประสิทธิภาพและขับเคลื่อนได้รวดเร็ว 3. เร่งยกระดับการพัฒนาประเทศและศักยภาพก่อสร้างไทยเป็น Digital Constructions ที่แข่งขันได้ในเวทีสากล อาเซียนและRCEP 4. รัฐบาลควรเร่งพัฒนาบุคคลากรด้าน BIM ใน 2 กลุ่ม คือ 1. บรรจุเข้าหลักสูตรมหาวิทยาลัย และอาชีวศึกษา 2. Reskill คนทำงานและผู้ประกอบการให้อัพเดทกับเทคโนโลยี BIM 5. หน่วยงานรัฐควรส่งเสริมการใช้ Thailand BIM Standard เพื่อเป็นมาตรฐานกลางของประเทศไทยสำหรับงานก่อสร้างทั้งภาครัฐและภาคเอกชน โดยสอดคล้องกับหลักสากล
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit