ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยหลังจากรับฟังการบรรยายและตรวจเยี่ยมการเพิ่มผลิตภาพแรงงานของบริษัท ไทยเพิ่มพูนอุตสาหกรรม จำกัด ว่า กระทรวงแรงงาน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงานได้เชิญชวนให้นายจ้างและสถานประกอบกิจการจัดทำ"มาตรฐานฝีมือแรงงานของผู้ประกอบอาชีพ" ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ.2545 มาตรา 26 เพื่อใช้เป็นเกณฑ์คัดเลือกพนักงาน วัดทักษะฝีมือ กำหนดเป็นอัตราค่าจ้าง ค่าตอบแทนตามทักษะฝีมือ หรือประกอบการพิจารณาเลื่อนตำแหน่งงาน โดยสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานกาญจนบุรี (สนพ.กาญจนบุรี) ได้ร่วมกับบริษัท จัดทำมาตรฐานฝีมือแรงงานของผู้ประกอบอาชีพ ในสาขาพนักงานขับรถตัดอ้อย ระดับ 1 พร้อมทั้งนำมาพัฒนาเป็นหลักสูตรฝึกอบรมให้แก่พนักงาน เพื่อให้มีทักษะและความชำนาญสูงขึ้น อีกทั้งมีความรู้ ความสามารถทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและนวัตกรรม
รมว.แรงงาน กล่าวต่อว่า มาตรฐานฝีมือแรงงานของผู้ประกอบอาชีพ เป็นเกณฑ์การวัดระดับทักษะฝีมือ ในสาขาที่ผู้ประกอบการให้ความสำคัญ หรือเป็นสาขาที่ต้องการนำมาใช้วัดขีดความสามารถของพนักงานของตนเอง อีกทั้งไม่มีการจัดทำมาตรฐานกลาง หรือไม่มีมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ รวมถึงมีลักษณะตำแหน่งงานที่แตกต่างจากผู้ประกอบการอื่นๆ ซึ่งบริษัท ไทยเพิ่มพูนอุตสาหกรรม จำกัด ได้จัดทำมาตรฐานของตนเอง ในสาขาพนักงานขับรถตัดอ้อย ระดับ 1 เพื่อใช้วัดระดับทักษะพนักงานขับรถตัดอ้อย นำใช้เป็นเกณฑ์ในการพิจารณาในหลายด้าน เช่น การให้ค่าตอบแทนพิเศษ การประเมินผลงาน และการเลื่อนตำแหน่ง เป็นต้น นอกจากนี้บริษัท จะพัฒนาเป็นหลักสูตรฝึกอบรม เพื่อให้พนักงานมีทักษะ ความรู้ และความชำนาญในการทำงานที่สูงขึ้น เป็นการป้องกันความเสียหายและลดอุบัติเหตุจากการทำงานด้วย
ด้านนางสาวพิชยา มงคลชัย หัวหน้าส่วนบุคคล กล่าวว่า บริษัท ได้จัดทำมาตรฐานฝีมือแรงงานของผู้ประกอบอาชีพ เพิ่มเติมอีก 1 สาขา คือ สาขาการบำรุงรักษารถตัดอ้อย ระดับ 1 และในอนาคตบริษัทมีแผนการดำเนินงานในอีก 5 สาขา เพื่อให้ครบ 7 สาขา ตามโครงการ "7 ช่างฝีมือ" เพื่อไม่ให้องค์ความรู้ต่างๆ สูญหายไปกับพนักงานที่เกษียณอายุ และฝึกแรงงานใหม่มาทดแทนพนักงานที่จะเกษียณ โดยสนพ.กาญจนบุรี ได้เทรนพนักงานของบริษัท ให้เป็นครูฝึกในสถานประกอบกิจการแล้ว 25 คน เพื่อเป็นวิทยากรในการถ่ายทอดความรู้ให้แก่พนักงานในรุ่นต่อๆ ไป ปัจจุบันบริษัท จัดทำห้องฝึกอบรมที่มีชุดฝึก SIMULATOR ในการฝึกอบรม เป็นชุดฝึกเสมือนจริง หลังจากนั้น พนักงานจึงลงฝึกภาคปฏิบัติกับรถตัดอ้อยจริง จึงช่วยให้ลดความเสียหายและลดอุบัติเหตุระหว่างการทำงานได้อีกด้วย
"การจัดทำมาตรฐานฝีมือแรงงานของผู้ประกอบอาชีพ จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง หากผู้ประกอบการจัดทำและนำมาใช้วัดระดับทักษะของพนักงาน กรณีที่พนักงานมีทักษะไม่ตรงกับความต้องการ สามารถนำข้อมูลมาใช้ในการวางแผนพัฒนาบุคลากรได้อีกทางหนึ่ง" รมว.แรงงาน กล่าวทิ้งท้าย
HTML::image( HTML::image( HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit