สศอ. เผย MPI เดือนตุลาคม หดตัวร้อยละ 8.45 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน คาดแนวโน้มภาคอุตสาหกรรมปี 2563 จะขยายตัวเพิ่มขึ้น

27 Nov 2019
สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เผย ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนตุลาคม 2562 หดตัวลงเมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 8.45 เป็นการหดตัวลงต่ำกว่าที่คาดจากการหยุดซ่อมบำรุงของโรงกลั่นน้ำมัน 2 แห่ง อีกทั้งได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกและการค้าโลกที่ชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี หากได้จำลองสถานการณ์การผลิตของโรงกลั่นน้ำมัน 2 แห่งที่ปิดซ่อมบำรุงให้มีการดำเนินการผลิตเท่ากับเดือนก่อนหน้า จะส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมหดตัวลงเพียงร้อยละ 5.77 ทั้งนี้คาดว่าแนวโน้มการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมปี 2563 MPI จะขยายตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 2-3 และ GDP ภาคอุตสาหกรรม จะขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ1.5-2.5 เมื่อเทียบจากปี 2562 สืบเนื่องจากนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล และนักลงทุนมีการย้ายสายการผลิตมาลงทุนในประเทศไทย
สศอ. เผย MPI เดือนตุลาคม หดตัวร้อยละ 8.45 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน คาดแนวโน้มภาคอุตสาหกรรมปี 2563 จะขยายตัวเพิ่มขึ้น

นายอดิทัต วะสีนนท์ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนตุลาคม 2562 หดตัวลงเมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 8.45 อยู่ที่ระดับ 95.70โดยอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลลบต่อดัชนี MPI เดือนตุลาคม 2562 ได้แก่ รถยนต์และเครื่องยนต์ น้ำมันปิโตรเลียม เหล็กและเหล็กกล้าขั้นมูลฐาน ผลิตภัณฑ์ยางอื่น ๆ และแปรรูปและถนอมผลไม้และผัก สาเหตุหลักมาจากผลกระทบจากสงครามการค้าที่ยังไม่มีทีท่าจะสิ้นสุดลง ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวเกิดผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม โดยในเดือนตุลาคม 2562 มีมูลค่าส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (ไม่รวมทองคำ)

ในขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ร้อยละ 62.83 เนื่องจากอุตสาหกรรมการกลั่นน้ำมันบางรายมีการหยุดซ่อมบำรุงตามรอบปี ทำให้อัตราการใช้กำลังการผลิตรวมลดลง อุตสาหกรรมหลักที่ยังคงมีการผลิตขยายตัวดีในเดือนตุลาคม ได้แก่

  • เครื่องปรับอากาศ และชิ้นส่วน ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.01 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการส่งออกเพิ่มขึ้นไปกลุ่มอาเซียน และอินเดีย รวมถึงคำสั่งซื้อเพิ่มจากญี่ปุ่นและกลุ่มประเทศในสหภาพยุโรป ส่วนตลาดในประเทศเพิ่มขึ้นจากการกระตุ้นตลาดด้วยการออกผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายโดยเฉพาะเครื่องปรับอากาศชนิดอินเวอร์เตอร์
  • Hard Disk Drive ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.22 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากคำสั่งผลิตเพิ่มขึ้นหลังการปิดฐานผลิตที่ประเทศมาเลเซียตั้งแต่เดือนเมษายน 2562 รวมถึงการพัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพและตอบสนองต่อการใช้งานประเภทต่าง ๆ ของลูกค้าได้มากขึ้น
  • สัตว์น้ำแช่เย็นหรือแช่แข็ง ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.63 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากปลาแช่แข็ง และกุ้งแช่แข็ง รองรับคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นทั้งในประเทศและส่งออก จากการพัฒนาผลิตภัณฑ์สินค้าพร้อมทาน การขยายฐานลูกค้าในช่องทางการจำหน่ายออนไลน์และตลาดโมเดิร์นเทรดมากขึ้น
  • เบียร์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.53 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่มีความหลากหลายและตอบสนองความต้องการของตลาดมากขึ้น
  • สบู่ และสารซักฟอก เคมีทำความสะอาด ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.45 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากยาสระผม ผงซักฟอก สบู่และเครื่องบำรุงผิว เนื่องจากการปรับเครื่องจักรของผู้ผลิตบางรายเพื่อรองรับการผลิตสินค้ารูปแบบใหม่ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค

ทั้งนี้ สศอ. ยังได้พิจารณาข้อมูลทางเทคนิคของอุตสาหกรรมปิโตรเลียมที่ส่งผลต่อดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในเดือนนี้ โดยโรงกลั่นน้ำมันที่หยุดซ่อมบำรุง 2 แห่งนั้น มีการผลิตคิดเป็นร้อยละ 36 ของการผลิตทั้งหมด

แนวโน้มการขยายตัวของรายอุตสาหกรรมสำคัญปี 2563

  • อุตสาหกรรมอาหาร คาดว่าดัชนีการผลิตและการส่งออกในภาพรวมปี 2563 ขยายตัวเล็กน้อยจากปีก่อนร้อยละ 1.2 - 1.5 และ 2.7 - 3 ตามลำดับ จากปัจจัยบวกอย่างความต้องการบริโภคของต่างประเทศเพิ่มขึ้นในตลาดหลักอย่างญี่ปุ่นเพื่อรองรับการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกครั้งที่ 32 และตลาดจีนที่เพิ่มคำสั่งซื้อไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง เนื่องจากในปี 2562 จีนได้ให้การรับรองโรงงานผลิตและแปรรูปเนื้อสัตว์ปีกของไทยมากขึ้น
  • อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ปี 2563 คาดว่าจะได้รับผลบวกจากวัฏจักรของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่อยู่ในภาวะฟื้นตัว โดยคาดว่าจะมีดัชนีผลผลิตและมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.6 และ 1.5 ตามลำดับ โดยสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ส่วนใหญ่เริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้น เช่น HDD และ IC
  • อุตสาหกรรมรถยนต์ แนวโน้มของการผลิตรถยนต์ในปี 2563 คาดว่าจะทรงตัวอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปีก่อน
  • อุตสาหกรรมปิโตรเคมี แนวโน้มปี 2563 คาดว่าจะขยายตัวเล็กน้อย จากตลาดในภูมิภาคเอเชีย ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เวียดนาม เป็นต้น ส่วนปัจจัยที่ทำให้อุตสาหกรรมขยายตัวได้ไม่มาก เกิดจากราคาและสถานการณ์การส่งออกที่ได้รับแรงกดดันจากสงครามการค้า
  • อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง การผลิตยางรถยนต์ในประเทศปี 2563 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 1.27 ตามแนวโน้มการขยายตัวของตลาดต่างประเทศ ในขณะที่การจำหน่ายในประเทศชะลอตัวลงร้อยละ 0.82 จากการชะลอตัวของตลาด Replacement สำหรับถุงมือยางคาดว่าจะมีปริมาณการผลิตและจำหน่ายในประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.04 และ 2.91 ตามลำดับ ตามแนวโน้มการขยายตัวที่ดีของตลาดส่งออกและความต้องการใช้ในประเทศที่สูงขึ้น
  • อุตสาหกรรมพลาสติก คาดว่าแนวโน้มอุตสาหกรรมพลาสติกปี 2563 จะขยายตัวเพียงเล็กน้อย โดยการผลิตในปี 2563 จะขยายตัวร้อยละ1.33 การส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติกจะขยายตัวร้อยละ 4.06 เนื่องจากเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวและการที่สหรัฐฯ ตัดสิทธิ GSP ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในเดือนมีนาคม 2563 จะส่งผลต่อการส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติกเนื่องจากสหรัฐฯ เป็นตลาดคู่ค้าหลักของไทย
  • อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ คาดว่าการผลิตจะขยายตัวร้อยละ 2.18 และการส่งออกขยายตัวร้อยละ 2.09 อย่างไรก็ตามในปี 2563 ยังมีปัจจัยที่อาจส่งผลต่อการผลิตและการส่งออกของอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ เช่น ความผันผวนของราคาน้ำมันในตลาดโลก ค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง และสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกาที่ยังไม่มีข้อยุติ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่การผลิตและส่งผลให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว
  • อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า คาดการณ์ว่า การผลิตและการบริโภคในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น อุตสาหกรรมก่อสร้าง การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐ อาทิ การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานในโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) การก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย
  • อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม การผลิตเส้นใยสิ่งทอ ผ้าผืน และเสื้อผ้าสำเร็จรูป คาดว่าจะขยายตัวเล็กน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับปี 2562 ตามแนวโน้มการส่งออกที่คาดว่าจะขยายตัวในสินค้ากลุ่มส้นใยประดิษฐ์ไปยังตลาดจีน และเสื้อผ้าสำเร็จรูปไปยังตลาดญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป สำหรับการนำเข้า คาดว่า จะมีการนำเข้าวัตถุดิบราคาถูกจากต่างประเทศเข้ามาทดแทนการใช้วัตถุดิบในประเทศบางส่วน เช่น กลุ่มผ้าผืน

แนวทางเพื่อบรรเทาผลกระทบ

จากสถานการณ์ของเศรษฐกิจในปัจจุบันที่ส่งผลต่อการผลิตภาคอุตสาหกรรม สศอ. จึงได้เสนอแนวทางเพื่อบรรเทาผลกระทบโดยแบ่งเป็นแนวทางในระยะสั้น และระยะกลาง ดังนี้แนวทางระยะสั้น ได้แก่ 1. เร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐ 2. กำหนดสัดส่วนการใช้วัตถุดิบในประเทศ (Local Content) สำหรับโครงการลงทุนภาครัฐ 3. เสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการเพื่อบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจ และ 4. ดูแลสถานการณ์ค่าเงินเพื่อให้สินค้าและบริการของไทยแข่งขันได้ในตลาดโลก

แนวทางระยะกลาง ได้แก่ 1. เร่งผลักดันการลงทุนในอุตสาหกรรมศักยภาพ (S Curve) โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมที่ไทยมีฐานศักยภาพ เช่น Bio Economy และ Circular Economy 2. ยกระดับเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมทั้ง การใช้ระบบอัตโนมัติในการผลิตเพื่อเพิ่มผลิตภาพและขีดความสามารถ 3. Upskill/Reskill แรงงานเพื่อรองรับอุตสาหกรรมใหม่ และบรรเทาการว่างงาน 4. มาตรการจูงใจให้ผู้ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนเริ่มลงทุนจริงในปี 2563 และ 5. ผู้ประกอบการปรับตัวโดยการเพิ่มผลิตภาพ ลดค่าใช้จ่าย และพิจารณาเพิ่มการลงทุนในกรณีที่มีสภาพคล่อง

สศอ. เผย MPI เดือนตุลาคม หดตัวร้อยละ 8.45 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน คาดแนวโน้มภาคอุตสาหกรรมปี 2563 จะขยายตัวเพิ่มขึ้น