นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยตระหนักในเรื่อง การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและลดความเหลื่อมล้ำ ให้กับภาคธุรกิจตลอดจนผู้ประกอบการในท้องถิ่น เพื่อสร้างโอกาสและขยายช่องทางการตลาดพัฒนาสินค้าและบริการชุมชน ส่งต่อ 5 วิถีเท่ การชม ชิม ช้อป ช่วย แชร์
การแข่งขันด้านการค้าในปัจจุบัน สร้างโอกาสใหม่ ๆ ให้กับผู้ประกอบการได้มากขึ้น โดยเฉพาะการตลาดออนไลน์เป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ ในหมู่ผู้บริโภค ร้านค้า ร้านขายของฝาก ของที่ระลึกเป็นส่วนหนึ่งที่นักท่องเที่ยวจะต้องแวะเวียนเข้าไปจับจ่ายใช้สอย การสร้างความเข้มแข็งเพื่อพัฒนาร้านค้าในแหล่งท่องเที่ยวชุมชนจึงเป็นโจทย์สำคัญที่ต้องเร่งดำเนินการสนับสนุนเพื่อสร้างอัตลักษณ์ให้กับผลิตภัณฑ์และสร้างจุดเด่นให้ร้านค้า กระตุ้นให้เกิดการซื้อเพื่อนำไปเป็นของฝากหรือของที่ระลึก ซึ่งจะส่งเสริมให้การท่องเที่ยวมีความแข็งแกร่งมากขึ้น เป็นการชักนำให้นักท่องเที่ยวต้องมาถึงแหล่งท่องเที่ยวเพื่อจะสามารถหาซื้อผลิตภัณฑ์ของฝาก/ของที่ระลึกเหล่านี้ได้
อย่างไรก็ตาม ประเทศญี่ปุ่น เป็นต้นแบบของการเล่าเรื่องที่และออกแบบสินค้า/บริการที่ดี สามารถผูกเรื่องราวระหว่างแหล่งท่องเที่ยวกับสินค้า บริการ และร้านของที่ระลึกได้อย่างลงตัวและน่าสนใจ จึงเป็นที่มาของความร่วมมือระหว่าง 4 หน่วยงาน ประกอบด้วย หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย
กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) และ หอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ (JCC) ที่จะร่วมกันจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ "ท่องเที่ยวชุมชน ต้นแบบจากญี่ปุ่น" ขึ้นเพื่อให้ผู้ประกอบการไทยได้เรียนรู้ประสบการณ์จริงจากผู้เชี่ยวชาญชาวญี่ปุ่น
นายอัตสึชิ ทาเคทานิ (Mr. Atsushi Taketani) ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (President, JETRO Bangkok) กล่าวว่า ประเทศไทยซึ่งมีพุทธศาสนาเป็นรากฐานทั้งทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม อีกทั้งยังมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวในแต่ละท้องถิ่น หากได้นำเอาวิธีการพัฒนาการค้นหาทรัพยากรที่มีเอกลักษณ์ในพื้นที่ นำมาขัดเกลาและใช้ให้เกิดประโยชน์นี้มาใช้ จะเป็นข้อมูลอ้างอิงที่ดี จึงได้หยิบยกแนวทางการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวย่านโอคาเงะโยโคะโจ ของจังหวัดมิเอะ มาถ่ายทอดความรู้ประสบการณ์ต่างๆ ให้กับผู้ประกอบการไทย ได้รับไปปรับใช้ต่อไป ในหัวข้อ "การค้นหา การใช้ประโยชน์ การสรรสร้าง ทรัพยากรของจังหวัดมิเอะ - ในวิถีของเมืองอิเสะ ย่านโอคาเงะโยโคะโจ" โดย คุณฟุมิฮิโระ ฮาชิกาวะ ประธานบริหาร บริษัทอิเซฟุคุ ซึ่งเป็นผู้บุกเบิกเส้นทางแห่งความสำเร็จและเป็นผู้สร้างย่านโอคาเงะโยโคะโจ
"ในโอกาสนี้ ทางวิทยากรจะถ่ายทอดความคิดที่ว่า "การที่ย่านโอคาเงะโยโคะโจเป็นทรัพยากรพื้นที่ที่ได้รับความสนใจนั้น มิได้เป็นผลจากการผลิตขึ้นมาแต่เพียงอย่างเดียว ยังรวมถึงวิถีชีวิตและวัฒนธรรมที่ผูกพันกับศาลเจ้าอิเสะ วิธีการดึงดูดเช่นนี้เป็นวิธีที่ทำให้พื้นที่เปล่งประกายในแบบของตัวเองออกมาได้มากที่สุด" นายอัตสึชิ กล่าว
นายซึโยชิ อิโนอูเอะ (Mr. Tsuyoshi Inoue) กรรมการผู้จัดการ หอการค้าญี่ปุ่น -กรุงเทพฯ กล่าวว่า – ทุกครั้งที่ได้พบท่านประธานกลินท์ มักจะหารือกันเรื่องสินค้าท้องถิ่นของประเทศไทยว่า ในต่างจังหวัดเรามีผลิตภัณฑ์ที่ยอดเยี่ยมอยู่มากมาย ที่ยังขาดการนำเสนอที่น่าสนใจ จะทำอย่างไรให้สามารถยกระดับผลิตภัณฑ์เหล่านั้นให้มีความน่าสนใจได้มากกว่านี้ ซึ่งการที่จะทำให้ผลิตภัณฑ์ขายได้นั้น จำเป็นที่จะต้องฟังเสียงจากผู้บริโภค แต่เนื่องจากผู้บริโภคแต่ละคนก็มีความแตกต่างกัน ดังนั้นจึงไม่ง่ายเลยที่ผู้ผลิตจะได้รับฟังเสียงสะท้อนเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์นั้นๆ
สำหรับกิจกรรมสัมมนาเชิงปฏิบัติการในช่วงบ่าย เราได้รับความอนุเคราะห์จากวิทยากร 4 บริษัท จากประเทศญี่ปุ่น ได้แก่ บริษัท สยามทบพันแพคเกจจิ้ง จำกัด, บริษัท อิออน (ไทยแลนด์) จำกัด, บริษัท อิเซตัน (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท กรุงเทพ - โตคิว สรรพสินค้า จำกัด มาร่วมถ่ายทอดประสบการณ์ผ่านการทำ Work Shop เน้นการปฏิบัติจริงให้กับผู้ประกอบการ โดยมีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการจำหน่ายสินค้าหรือการบรรจุหีบห่อ การจัดวางสินค้าบนชั้นวางสินค้าให้เป็นที่ดึงดูดใจ การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่บ่งบอกถึงอัตลักษณ์และสร้างความโดดเด่น ซึ่งวิทยากรส่วนใหญ่มาจากห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ เปรียบเสมือนผู้ที่อยู่ระหว่างผู้ผลิตกับผู้บริโภค จึงมีความเข้าใจแนวโน้มของความต้องการของผู้บริโภคเป็นอย่างดี แต่ละท่านล้วนเตรียมประสบการณ์และคำแนะนำการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่างๆ มาถ่ายทอด ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการสัมมนาในครั้งนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการการพัฒนาสินค้าและบริการของผู้ประกอบการที่เข้าร่วมทุกราย
นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ด้วยสินค้าไลฟ์สไตล์เป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญและสร้างรายได้ให้กับประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2561 มีมูลค่าการส่งออกถึง 12,353 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.03 จากปีที่ผ่านมา คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 4 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด โดยที่ตลาดญี่ปุ่นเป็นตลาดส่งออกอันดับ 2 ของไทย มีมูลค่าการส่งออกในเดือนมกราคมถึงเดือนตุลาคมปี 2562 กว่า 1,154 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
จากความสำเร็จเมื่อปีที่แล้วซึ่ง กรมฯ ร่วมกับเจโทร กรุงเทพฯ หอการค้าไทย และหอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ จัดกิจกรรมสัมมนาการพัฒนาการออกแบบบรรจุภัณฑ์ (Packaging Design Development) โดยแบ่งเป็น 2 ส่วนหลัก คือ 1) การสัมมนาให้ความรู้ด้านการพัฒนาออกแบบบรรจุภัณฑ์ โดยมีผู้ประกอบการเข้าร่วมสัมมนากว่า 140 บริษัท และ 2) การอบรมเชิงปฏิบัติการพร้อมให้ค้าปรึกษาเชิงลึกรายบริษัทในด้านการพัฒนาออกแบบบรรจุภัณฑ์ ซึ่งได้รับคัดเลือกจากผู้เชี่ยวชาญตลาดญี่ปุ่น จำนวน 35 บริษัท
ในครั้งนี้ เพื่อตอกย้ำความสำเร็จในการทำงานร่วมกัน จึงได้กำหนดจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่อง "ท่องเที่ยวชุมชนต้นแบบจากญี่ปุ่น" โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรจากญี่ปุ่น ซึ่งได้มีการพัฒนาสินค้าชุมชนและร้านขายของที่ระลึกของจังหวัดมิเอะจนประสบความสำเร็จและมีชื่อเสียงระดับประเทศ มาถ่ายทอดความรู้เพื่อพัฒนาสินค้าไลฟ์สไตล์และสินค้าท้องถิ่นของไทยให้สามารถพัฒนานำเอาอัตลักษณ์จากสินค้าในท้องถิ่นให้เป็นที่นิยมและประสบความสำเร็จ รวมถึงขยายผลไปสู่ตลาดโลกต่อไป ซึ่งการจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้มุ่งเน้นรูปแบบและการบริหารจัดการช่องทางการจำหน่ายสินค้าผ่านร้านขายของที่ระลึก รวมถึงการพัฒนาบรรจุภัณฑ์และการจัดแสดงสินค้าเพื่อนำมาพัฒนาร้าน/สินค้าของที่ระลึกของไทย เพื่อเป็นการเน้นย้ำถึงความสำคัญของการสร้างภาพลักษณ์สินค้าเพื่อให้ผู้บริโภคเกิดความประทับใจในตัวสินค้ามากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ การจัดสัมมนาในครั้งนี้เป็นกิจกรรมที่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ที่มุ่งเน้นการพัฒนาและเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันให้แก่ผู้ประกอบการไทย จึงขอประชาสัมพันธ์เชิญชวนผู้ประกอบการที่สนใจเข้าร่วม งานสัมมนาที่จะมีขึ้นในวันที่ 17 ธันวาคม 2562 ณ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ลงทะเบียนสัมมนาได้ที่ https://www.jetro.go.jp/form5/pub/bgk/souvenir2019 ภายในวันที่ 11 ธันวาคม 2562 และลงทะเบียน Workshop ได้ที่ https://www.jetro.go.jp/form5/pub/bgk/workshop_souvenir ภายในวันที่ 9 ธันวาคม 2562
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit