"น้ำ" เป็นปัญหาสำคัญของบ้านตาดรินทอง สาเหตุที่น้ำแห้งไม่พอใช้ มาจากท่อประปาแตกหลุดเสียหาย เพราะความสูงและลาดชันของพื้นที่ภูเขาระหว่างต้นน้ำที่ฝ่ายกุฏิ 11 วัดป่ามหาวัน ที่ใช้ทำน้ำประปา ถึงหมู่บ้านมีความสูงต่างระดับกันถึง 130 เมตร และมีระยะทาง 4 กิโลเมตร ทำให้เกิดแรงดันน้ำจากภูเขาถึงหมู่บ้านมีปริมาณมหาศาล ประกอบกับท่อประปาที่ใช้ไม่ได้มาตรฐาน ทำให้ท่อประปาหลุดแตกเสียหายเป็นประจำตั้งแต่ปี 2548 หรือ กว่า 13 ปี และกว่าจะรู้ตัวว่าท่อแตกน้ำก็ไหลทิ้งเป็นวันๆ เป็นหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง จนเกิดสภาพที่ชาวบ้านเล่าว่า "สามวันดี สี่วันหยุด","ซ่อมตอนเย็นแตกตอนเช้า" สร้างความหงุดหงิดรำคาญใจให้กับชาวบ้านอย่างมากเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการทะเลาะขัดแย้งกันรุนแรงระหว่างชาวบ้านและคณะกรรมการจัดการน้ำชุมชน ชาวบ้านไม่ทำตามกฎกติกา แอบเปิดน้ำเอง บางคนทำท่อแตกแล้วไม่แจ้ง ตลอดจนขาดประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำ กระทั่งในปี 2558 พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล เจ้าอาวาสวัดป่ามหาวัน เกิดความห่วงใยว่า "น้ำประปาที่ฝ่ายกุฎิ 11 ถ้ายังไม่มีการจัดการอย่างหนึ่งอย่างใดในทางที่ถูกที่ควรแล้ว คาดว่าไม่เกิน 5 ปี น้ำที่อยู่เหนือฝายก็จะหมดไป"
จึงเกิดเป็นโครงการ "รูปแบบการจัดการน้ำประปาภูเขาที่เอื้อต่อการอนุรักษ์แหล่งต้นน้ำภูหลง โดยการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนบ้านตาดรินทอง ตำบลธาตุทอง อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ" ขึ้น ในปี 2559 โดยการสนับสนุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เพื่อแก้ปัญหาระบบโครงสร้างประปาภูเขา ลดการสูญเสียน้ำระหว่างทาง และการอนุรักษ์รักษาแหล่งต้นน้ำให้อยู่อย่างยั่งยืนในชุมชนอย่างมีส่วนร่วม ที่สำคัญเพื่อให้มีน้ำเพียงพอต่อทุกคน
คุณสุนันทา โรจน์เรืองไร ผู้ประสานงาน จากศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดชัยภูมิ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) กล่าวว่า ในอดีตพื้นป่าบ้านตาดรินทองเป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งของเขตป่าสงวนแห่งชาติและเปิดให้สัมปทานตัดไม้ แต่หลังจากยกเลิกสัมปทานป่าไม้ ชาวบ้านได้เข้ามาถากถางจับจองพื้นที่ทำกิน และร่วมกันตั้งชื่อหมู่บ้านว่าบ้านตาดรินทองมาจนถึงปัจจุบัน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม หลังได้รับรู้ปัญหาและความกังวลจากพระอาจารย์ไพศาล วิสาโล ทางสกสว. โดยศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดชัยภูมิ จึงอาสาเข้ามาช่วยแก้ปัญหาโดยอาศัยงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นเป็นเครื่องมือ เรียกว่า การวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม หรือ Participatory Action Research-PAR เป็นงานวิจัยเพื่อพัฒนาและแก้ไขปัญหาชุมชน
การดำเนินงานแบ่งเป็น 2 ช่วง ช่วงแรกเป็นการสำรวจสภาพพื้นที่อย่างละเอียด นักวิจัยดำเนินการศึกษาบริบทชุมชน จัดเก็บข้อมูล และระบบโครงสร้างประปาภูเขาแต่การแก้ปัญหาจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ โดยได้รับความร่วมมือจากสำนักวิจัยพัฒนาและอุทกวิทยา กรมทรัพยากรน้ำ จัดส่งนายศักดิ์ชัย ตันติวิวัฒน์ ผู้อำนวยการสวนอุทกวิทยา สำนักงานทรัพยากรน้ำภาค 10 สุราษฎร์ธานี เข้ามาร่วมศึกษาข้อมูลร่วมกับชุมชน ช่วงที่สองเป็นการวางแผนซ่อมบำรุงรักษาระบบประปาภูเขา
จากการศึกษาช่วงแรก ชุมชนได้รับรู้ถึงบริบทของชุมชนตั้งแต่ปี 2517 ที่เริ่มมีคนเข้ามาอยู่ ปี 2533 พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล ได้มาอยู่ที่วัดป่าภูหลงเพื่อช่วยฟื้นฟูป่า มีแหล่งน้ำของชุมชน ประกอบด้วย ฝายห้วยโป่ง ห้วยถ้ำเต่า และสระคุ้มหน้าลาด ใช้เป็นน้ำเพื่อการเกษตร ส่วนฝ่ายกุฎิ 11 ใช้เป็นน้ำประปาของชุมชน และฝายอื่นสำหรับใช้เป็นน้ำเพื่อดับไฟป่า จากความอุดมสมบูรณ์ของพื้นป่า ทำให้ชุมชนมีน้ำใช้อย่างเพียงพอไม่ขัดสน จนมาถึงปี 2547 เป็นปีที่เริ่มขาดแคลนน้ำ ชุมชนแก้ปัญหาโดยการติดตั้งมิเตอร์และเก็บค่าน้ำหน่วยละ 2 บาท และจัดตั้งคณะกรรมการจัดการน้ำชุมชนขึ้น แต่ไม่สามารถทำให้คนในชุมชนลดการใช้น้ำได้ กระทั่งปี 2547-2549 เกิดการทะเลาะขัดแย้งแย่งชิงการใช้น้ำอย่างหนัก ในที่สุดคณะกรรมการฯ ลาออก ทำให้มีการใช้น้ำอย่างอิสระจะเก็บเงินต่อเมื่อท่อมีปัญหา กระทั่งปี 2555-2559 เกิดภาวะแล้งและเกิดไฟป่า เดือนมีนาคม-มิถุนายน 2558 ชุมชนต้องประสบวิกฤตขาดแคลนน้ำอย่างรุนแรง
ผลการสืบค้นชาวบ้านได้รู้ถึงสาหตุของปัญหา จากเดิมที่เคยคิดว่าสาเหตุน้ำแห้ง เพราะน้ำบนภูเขามีน้อยลง ปัญหาของระบบประปา การจัดการน้ำขาดประสิทธิภาพ และการทำเกษตรบนภูเขา แต่หลังศึกษาข้อมูลพบว่า บางอย่างก็ไม่ใช่อย่างที่เคยคิดไว้ เช่น ปัญหาจากแรงดันน้ำ และคุณภาพของท่อประปาที่ไม่ได้มาตรฐาน ทำให้น้ำน้อย จึงนำมาสู่การแก้ปัญหาอย่างตรงจุดด้วยกัน 3 เรื่อง คือ 1.การมีส่วนร่วมของชุมชน 2.การใช้งานวิจัยแก้ปัญหา และ 3.การบริหารจัดการน้ำของคณะกรรมการน้ำชุมชน หลังจากสืบค้นปัญหานำมาสู่เวทีการวางแผนงานประปาภูเขา โดยความร่วมมือจากสำนักวิจัยพัฒนาและอุทกวิทยา กรมทรัพยากรน้ำ เข้ามาช่วยในการวิเคราะห์และหาทางออกร่วมกับทางชุมชน ทำให้เกิดการเรียนรู้ปัญหาและแนวทางแก้ปัญหา คือ "การลดแรงดันน้ำ" ซึ่งเป็นสิ่งที่ชาวบ้านเคยพยายามทำมานานแต่ยังทำไม่สำเร็จ
"ผลงานวิจัยได้หยุดปัญหาท่อแตกหลุดโดยสิ้นเชิง ทำให้มีน้ำสะอาดและใช้เพียงพอครบ 111 หลังคาเรือน ชาวบ้านมีความสุข มีรายได้เพิ่มขึ้น สามารถประหยัดไฟฟ้า และมีน้ำคืนสู่ป่าต้นน้ำ โดยงานวิจัยทำไห้ชุมชนค้นพบว่า การต่อข้อต่อเพื่ดลดแรงดัน ไม่ได้ลดแรงดันน้ำเพียงอย่างเดียว แต่ได้ช่วยเพิ่มแรงดันน้ำ ผลักดันน้ำขึ้นสู่ที่สูงได้ด้วย" นายณัฐพงษ์ แสกระโทก ผู้ใหญ่บ้านตาดรินทอง ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัยฯ กล่าวพร้อมเล่าย้อนความหลังให้ฟังอีกว่า "หลังประสบความล้มเหลวในการบริหารจัดการน้ำที่ผ่านมาในครั้งนั้น ชุมชนก็ต้องเผชิญกับปัญหาน้ำประปามาโดยตลอด ที่เจอเป็นประจำ คือ ปัญหาท่อหลุดท่อแตก แก้ปัญหาแต่ละครั้งก็เป็นไปด้วยความยากลำบาก แต่ละปีน้ำไม่พอใช้ โดยเฉพาะเดือนมีนาคม น้ำจะแห้ง ต้องหยุดใช้น้ำ 1-2 สัปดาห์ รอให้มีน้ำซับจากภูเขาลงมาเข้าฝายจึงเริ่มใช้ใหม่ แต่ไม่นานน้ำก็หมดอีก เป็นอยู่อย่างนี้ตั้งแต่ปี 2545 และปัญหาน้ำกระจายไปไม่ทั่วถึงทุกคุ้ม จากทั้งหมด 9 คุ้ม แต่มี 2-3 คุ้มที่ประสบปัญหาน้ำประปาไปไม่ถึง เนื่องจากชุมชนที่นี่มีระดับที่ตั้งแตกต่างกันกว่า 10 เมตร โดยเฉพาะคุ้มที่อยู่บนที่สูง น้ำประปาไม่สามารถดันน้ำให้ขึ้นไปได้ถึง เกิดปัญหาขัดแย้งขึ้นในชุมชน"
หลังทำงานวิจัยนอกจากได้แนวทางการทำงานร่วมกันแล้ว ชุมชนยังได้องค์ความรู้วิธีการแก้ปัญหาทั้งระบบท่อประปาภูเขา และวิธีการลดแรงดันน้ำที่ถูกต้องด้วยการแลกเปลี่ยนกับผู้เชี่ยวชาญทำให้ชาวบ้านมีความมั่นใจเรื่องการลดแรงดันมากขึ้น และยังพบว่านอกจากจะช่วยลดแรงดันน้ำที่ไหลลงจากภูเขาแล้ว ยังช่วยเพิ่มแรงดันหรือผลักดันน้ำจากที่ต่ำขึ้นไปสู่ที่สูงได้ ทำให้ตอนนี้ทุกคุ้มทุกครัวเรือนมีน้ำใช้ทั่วถึง ชาวบ้านต่างก็มีความสุขที่มีน้ำใช้ ไม่ต้องลำบาก และไม่มีปัญหาขัดแย้งแย่งชิงการใช้น้ำอีก
สำหรับแนวทางการแก้ปัญหาท่อประปาหลุดแตกและวิธีการติดตั้งระบบประปาของชุมชนบ้านตาดรินทอง คือ การเปลี่ยนมาใช้วัสดุที่ได้มาตรฐาน , มีการทำข้อต่อลดแรงดัน 6 ตัว ตลอดระยะทาง 4 กิโลเมตร , ลดขนาดท่อจาก 2 นิ้ว เป็น 1 นิ้ว ติดตั้งทุกระยะ 20 เมตร ช่วยลดระดับน้ำที่ไหลลงจากภูเขา , เปลี่ยนจากท่อหนึ่งเส้นแยกออกเป็นสองเส้น (เข้า 1 ออก 2) เป็นรูปตัว Y , นอกจากนี้ยังมีเทคนิคการระบายลมและการระบายตะกอน โดยการทำจุดระบายลมโดยทำจุดที่ค่อนข้างสูงของประปา ต่อท่อแบบสามทางเพื่อเปิดระบายลมออก และการทำจุดระบายตะกอนดิน โดยทำจุดต่ำสุดของประปา ต่อท่อแบบสามทางบริเวณท้องช้าง หรือจุดที่ต่ำที่สุดของแต่ละช่วง เพื่อเปิดระบายตะกอนน้ำออก แก้ปัญหาน้ำขุ่น ตลอดจนการตั้งคณะกรรมการจัดการน้ำชุมชนขึ้นมาใหม่โดยมาจากตัวแทนทั้ง 9 คุ้ม เพื่อสร้างความเป็นธรรมและโปร่งใส และการนำหลักคุณธรรม มาใช้ในการบริหารงาน จนสามารถดำเนินโครงการฯ แล้วเสร็จเมื่อต้นปี 2561
เมื่อเสร็จสิ้นโครงการฯ ชุมชนได้ชุดความรู้ 2 ชุด คือ รูปแบบประปาภูเขาที่เอื้อต่อการอนุรักษ์แหล่งต้นน้ำ และกติกาและข้อปฏิบัติการใช้น้ำที่นำไปสู่ความยั่งยืน และจากการถอดบทเรียน พบว่า ในปี 2561 มีปริมาณฝนตกน้อยกว่าปี 2559 แต่น้ำกลับมีมากขึ้นสาเหตุเพราะน้ำไม่รั่วไหล ท่อประปาไม่หลุดแตกเสียหายจากแรงดันเหมือนในอดีต วันนี้ชุมชนมีความสุข ทุกคนมีส่วนร่วม การใช้น้ำเป็นไปตามกติกา การบริหารจัดการน้ำมีประสิทธิภาพและโปร่งใส มีการจัดเก็บค่าน้ำทุกเดือน การลักลอบหรือแอบเปิดน้ำลดลงจนแทบไม่มี รวมทั้งลดค่าน้ำประปาลงหน่วยละ 1 บาทในเวลาต่อมา เนื่องจากต้นทุนการผลิตน้ำดิบมีน้อยจากการที่ไม่ได้ใช้ไฟฟ้าหรือน้ำมันในการปั๊มน้ำ ชาวบ้านให้ความร่วมมืออย่างดี เพราะชาวบ้านได้เรียนรู้ถึงคุณค่าและตระหนักถึงการอนุรักษ์แหล่งน้ำมากขึ้น
"ถ้าไม่มีน้ำ มันลำบากเหลือเกิน แม้แต่จะล้างมือที่เปื้อน เปิดน้ำแล้วน้ำไม่ไหลก็สุดที่จะทน น้ำจึงมีความสำคัญอย่างมาก" ผู้ใหญ่บ้านตาดรินทอง กล่าวทิ้งท้าย
ความพยายามในการแก้ปัญหาของชาวบ้านบ้านตาดรินทอง จากวันนั้นจนถึงวันนี้ได้หยุดปัญหาท่อแตกท่อหลุดที่ยืดเยื้อมายาวนาน ทั้งด้านสังคมนอกจากมีน้ำพร้อมใช้สำหรับทุกคน 13,800.08 ลบ.ม. /111 หลังคาเรือน / ปี จบศึกแย่งชิงน้ำ ในด้านเศรษฐกิจ ชุมชนมีรายได้ในการบริหารจัดการน้ำเพิ่มขึ้น 4 เท่า จากการจัดเก็บค่าน้ำชุมชน (ยกเว้น วัด ศาลากลางบ้าน โรงเรียน และชย.11 ) และมีรายได้จากการขายกล้าไม้กว่า 4 แสนบาทต่อปี ยังไม่รวมรายได้จากการเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยว OTOP นววิถี ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากการที่มีน้ำใช้ และด้านสิ่งแวดล้อม แม้ปริมาณฝนลดลงในช่วงปี 2559-2561 แต่กลับมีน้ำในป่าต้นน้ำเพิ่มขึ้น 9,072 ลบ.ม. และยังช่วยประหยัดพลังงานไฟฟ้าถึงร้อยละ 96 ปัจจุบันบ้านตาดรินทองถือเป็นต้นแบบของการจัดการน้ำประปาภูเขาหรือบนพื้นที่ลาดชันที่ได้รับความสนใจจากหน่วยงานและชุมชนอื่น ๆ เป็นจำนวนมาก
HTML::image( HTML::image( HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit