แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเผยสถานการณ์โรคปอดในเมืองไทยยังน่าห่วง ฟิลิปส์ร่วมรณรงค์ให้ความรู้เนื่องใน “วันโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังโลก” เพราะเราอยากเห็นคนไทยปอดแข็งแรงกว่าเดิม

26 Nov 2019
ทุกวันพุธในสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนพฤศจิกายนในแต่ละปี มีวันสำคัญด้านสุขภาพที่กำหนดโดยองค์กรอนามัยโลกและองค์การโรคถุงลมโป่งพองอยู่ 1 วัน นั่นคือ "วันโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังโลก หรือ World COPD Day" (COPD :Chronic Obstructive Pulmonary Disease)โดยปีนี้ตรงกับวันพุธที่ 20 พฤศจิกายนที่ผ่านมา จุดประสงค์เพื่อรณรงค์ ให้ประชาชนตระหนักถึงอันตรายของโรคนี้ และให้ความสำคัญกับการตรวจสมรรถภาพการทำงานปอดมากขึ้น ฟิลิปส์ ในฐานะผู้นำด้านเทคโนโลยีเพื่อการดูแลสุขภาพ จึงได้เชิญแพทย์ผู้เชี่ยวชาญมาร่วมให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับ โรคปอดและอัพเดทสถานการณ์ในประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับที่ 6 ของประเทศไทย
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเผยสถานการณ์โรคปอดในเมืองไทยยังน่าห่วง ฟิลิปส์ร่วมรณรงค์ให้ความรู้เนื่องใน “วันโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังโลก” เพราะเราอยากเห็นคนไทยปอดแข็งแรงกว่าเดิม

รองศาสตราจารย์แพทย์หญิงนฤชา จิรกาลวสาน ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิรัชกิจ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคปอด โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า "จากสถิติในปี 2561 มีคนไทยป่วยด้วยโรคถุงลมโป่งพองกว่า 3 ล้านคน เฉลี่ยคือนาทีละ 6 คน โดยมีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเพราะอาการของโรคมากกว่า 1 ล้านคน พบเฉลี่ยในกลุ่มคนอายุ 40 ปีขึ้นไป ที่มีพฤติกรรมการสูบบุรี่ หรืออยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีมลพิษทางอากาศสูง นอกจากนี้ยังพบผู้ป่วยเป็นโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังอยู่ที่ 5% และพบสถิติสูงถึง 7%ในกลุ่มคนที่อายุเกิน 40 ปีขึ้นไป"

จุดเริ่มต้นของโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังเกิดจากเซลล์อักเสบที่เพิ่มขึ้นในหลอดลมและปอด ซึ่งสาเหตุอันดับหนึ่งของโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังเกิดจากการสูบบุหรี่ ทั้งการเป็นผู้สูบเองและการรับควันบุหรี่มือสอง การรับมลพิษทางอากาศ อาทิ ฝุ่น PM 2.5 สะสม หรือควันพิษจากท่อไอเสียรถยนต์ ฯลฯ และอีกหนึ่งสาเหตุที่คนส่วนใหญ่มักคิดไม่ถึงคือการสูดดมควันจากการทำอาหาร โดยเฉพาะเตาถ่านก็สามารถกระตุ้นให้เกิดโรคปอดได้เช่นกัน

"อาการของโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังแบ่งออกได้ 2 แบบ คือ แบบหลอดลมอักเสบเรื้อรัง ผู้ป่วยจะมีอาการไอติดต่อกัน 3 เดือนต่อเนื่องนานกว่า 2 ปี รวมถึงเหนื่อยง่ายกว่าคนปกติ และแบบที่สอง คือแบบถุงลมโป่งพอง อาการเหนื่อยง่ายจะเด่นชัดกว่าการไอ ในบางรายแค่นั่งเฉยๆก็เหนื่อยได้ โดยอันตรายของโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง คือ ปอดจะไม่สามารถรักษาให้กลับมาอยู่ในสภาพปกติเหมือนเดิมได้ การรักษาจึงเป็นแบบประคับประคองตามอาการ ซึ่งหากผู้ป่วยเข้ารับการตรวจสมรรถภาพปอดและตรวจพบเร็วก็จะช่วยลดความรุนแรงของโรคลงได้ แต่หากไม่เข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่อง ความรุนแรงของโรคมีโอกาสพัฒนา รวมทั้งโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังเองนั้น ก็เพิ่มความเสี่ยงการเป็นมะเร็งปอดและโรคหัวใจได้ในอนาคต" รศ. พญ.นฤชา กล่าวเพิ่มเติม

สำหรับผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังนั้น ทางการแพทย์สามารถแบ่งตามผลการตรวจสมรรถภาพปอดและลักษณะอาการ อันได้แก่ 1. ค่าสมรรถภาพปอด: จำเป็นในการวินิจฉัยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังและสามารถบอกระดับความรุนแรงของการอุดกั้นได้ 2. อาการของโรค: แบบหลอดลมอักเสบเรื้อรัง หรือ แบบถุงลมโป่งพอง แต่โดยทั่วไปผู้ป่วยอาจมีอาการทั้งสองแบบร่วมกัน 3. จำนวนครั้งที่อาการกำเริบต่อปี: ยิ่งกำเริบมากและถี่ จะมีโอกาสทำให้สมรรถภาพปอดลดลงเพิ่มขึ้น

การจำแนกประเภทของผู้ป่วยนั้นเพื่อเป็นแนวทางในการรักษาที่เหมาะสมตามอาการและความรุนแรงของโรค รศ. พญ.นฤชา ได้อธิบายถึงการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังว่า "แนวทางการรักษาผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังจะใช้วิธีการประคับประคองตามอาการ โดยอันดับแรก แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ ทั้งการสูบบุหรี่ สวมหน้ากากอนามัยหากต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีมลพิษสูง ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ทุกปี และจะมีการให้ยาสูดช่วยขยายหลอดลม ในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงแพทย์อาจจะใช้ยาสูดชนิดสเตียรอยด์ การฝึกบริหารการหายใจ และการผ่าตัดปอดโดยตัดส่วนที่มีถุงลมโป่งพองในบางรายที่มีข้อบ่งชี้ เป็นต้น นอกจากนี้ ในผู้ป่วยบางรายอาจจำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจขณะที่อยู่ที่บ้าน ทั้งนี้ผลการรักษาก็ขึ้นอยู่กับการให้ความร่วมมือของผู้ป่วยด้วย"

จากสถิติพบว่าผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังที่มีอาการกำเริบและเสียชีวิต ส่วนหนึ่งเกิดจากการคั่งของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเครื่องช่วยหายใจสามารถช่วยเพิ่มการหายใจ ช่วยกำจัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และช่วยเพิ่มปริมาณออกซิเจนให้แก่ร่างกาย จึงช่วยลดอัตราการเสียชีวิตลงได้ นอกจากนี้ยังมีการศึกษาพบว่าในกลุ่มผู้ป่วยที่มีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์คั่งอยู่เกิน 53 มมปรอท หลังจากที่มานอนโรงพยาบาลด้วยอาการปอดอุดกั้นกำเริบ 2-4 อาทิตย์ แต่แพทย์อนุญาตให้ไปพักรักษาตัวที่บ้าน หากใช้เครื่องช่วยหายใจในขณะนอนหลับ ผู้ป่วยกลุ่มนี้มีอัตราการเสียชีวิตน้อยกว่าผู้ที่ไม่ใช้เครื่องช่วยหายใจ

ด้านนายวิโรจน์ วิทยาเวโรจน์ ประธานและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟิลิปส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า "ปัจจุบันตัวเลขของผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังอยู่ในเกณฑ์ที่น่าเป็นห่วง มีการคาดการณ์ว่าจำนวนผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังจะมีมากกว่า 251 ล้านคนทั่วโลก และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 3 ในปี 2020[1],2 สำหรับในประเทศไทยมีการคาดการณ์ว่าในอีก 10 ปี ข้างหน้า จำนวนผู้ป่วยจะเพิ่มขึ้นกว่า 30%3 ประกอบกับมลพิษในอากาศที่เพิ่มมากขึ้นและฝุ่นพิษ PM2.5 ที่เพิ่มขึ้นในประเทศไทยตั้งแต่ช่วงปลายปี 2561 ก็เป็นปัจจัยสำคัญในการกระตุ้นความเสี่ยงต่อการเกิดโรคนี้ได้ ฟิลิปส์ในฐานะผู้นำ ด้านเทคโนโลยีเพื่อการดูแลสุขภาพและผู้นำด้านนวัตกรรมเกี่ยวกับการนอนหลับและการหายใจ (Sleep and Respiratory Care) เรามุ่งมั่นที่จะนำเสนอนวัตกรรมอันทรงคุณค่าเพื่อช่วยดูแลสุขภาพและชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของผู้คน เพราะถึงแม้ว่าโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังจะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ผู้ป่วยสามารถมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ ดังนั้นเราจึงพัฒนานวัตกรรมต่างๆ เพื่อช่วยดูแลรักษาผู้ป่วยทั้งในโรงพยาบาลและที่บ้าน อย่างนวัตกรรมล่าสุดกับเครื่องช่วยหายใจ Trilogy Evo ซึ่งเป็นเครื่องช่วยหายใจที่สามารถใช้งานได้ทั้งที่บ้านและในโรงพยาบาล จึงช่วยให้การเคลื่อนย้ายผู้ป่วยและการส่งต่อข้อมูลเป็นไปอย่างราบรื่น พร้อมทั้งให้การดูแลผู้ป่วยด้วยอากาศบริสุทธิ์อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้เรายังมีเครื่องพ่นละอองยา InnoSpire series และ OptiChamber Diamond spacer ซึ่งมีทั้งสำหรับเด็กและผู้ใหญ่, เครื่องออกซิเจนแบบพกพาSimplyGo Mini, และเครื่องช่วยหายใจขณะหลับและเครื่องอัดอากาศแรงดันบวกในตระกูล DreamStation "

"อย่างไรก็ตาม การดูแลรักษาสุขภาพตั้งแต่เนิ่นๆ ทั้งการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ และหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ของการเกิดโรค ไม่ว่าจะเป็นการสูบบุหรี่ หรือการอยู่ในมลพิษทางอากาศเป็นเวลานาน จะช่วยให้เรามีสุขภาพที่ดี ห่างไกลจากโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังได้ ซึ่งน่าจะดีกว่าการเกิดโรคแล้วค่อยมารักษา" นายวิโรจน์ กล่าวทิ้งท้าย

HTML::image( HTML::image( HTML::image(