นายณรงค์ แผ้วพลสง เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เปิดเผยว่า การจัดการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์อาชีวศึกษา ประจำปี พ.ศ. 2562 ครั้งที่ 30 ระดับอาชีวศึกษากรุงเทพ เป็นไปตามนโยบายและยุทธศาสตร์ในการส่งเสริมให้ผู้สอนใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์และทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ใน การจัดการเรียนรู้ และผู้เรียนได้ใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์ ทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์และจิตวิทยาศาสตร์ในการเรียนรู้มาทำโครงงานวิทยาศาสตร์อาชีวศึกษาที่เป็นประโยชน์ต่อชีวิตประจำวัน สังคม และสามารถพัฒนาต่อยอดในเชิงพาณิชย์หรืออุตสาหกรรมโดยมีการวางแผนการดำเนินงานที่ชัดเจนเป็นระบบ เริ่มตั้งแต่ลงมือปฏิบัติตามแผน เก็บรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล สรุปผลและเขียนรายงานภายใต้การแนะนำของครูที่ปรึกษาหรือผู้เชี่ยวชาญ ตลอดจนเผยแพร่ผลงานทางวิชาการและส่งเสริมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างผู้จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์และประชาชนที่สนใจ โดยมีสถานศึกษาอาชีวศึกษาทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในกรุงเทพมหานคร เข้าร่วมการแข่งขัน จำนวน 33 ทีม แบ่งเป็นระดับปวช. 21 ทีม ได้แก่ ภาครัฐ 18 ทีม ภาคเอกชน 3 ทีม และระดับปวส. 12 ทีม ได้แก่ ภาครัฐ 11 ทีม และภาคเอกชน 1 ทีม โดยมีข้อกำหนดคือ ต้องเป็นโครงงานวิทยาศาสตร์อาชีวศึกษาที่สอดคล้องกับนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาด้านการอาชีวศึกษาของชาติที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน ในงานอาชีพ หรือพัฒนาต่อยอดเพื่อประโยชน์ทางวิชาการ หรือเชิงพาณิชย์หรืออุตสาหกรรม และมีนักเรียน นักศึกษา เป็นผู้จัดทำโครงงานฯ จำนวนไม่เกิน 3 คน และครู จำนวนไม่เกิน 3 คน เป็นครูที่ปรึกษาโครงงาน
สำหรับผลการประกวดฯ มีดังนี้ ระดับปวช.รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ทีมนักศึกษาวิทยาลัยบริหารธุรกิจและการท่องเที่ยวกรุงเทพในโครงงานการศึกษาประสิทธิผลของโลชั่นกันยุงจากดอกพญาสัตบรรณ รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ทีมนักศึกษาวิทยาลัยการอาชีพนวมินทราชูทิศ ในโครงงานสารเคลือบผิวจากเปลือกแก้วมังกรและใบย่านางสำหรับผักและผลไม้เปลือกบาง และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ วิทยาลัยอาชีวศึกษาเอี่ยมละออ ในโครงงานการพัฒนาผลิตภัณฑ์แครกเกอร์สูตรไร้กลูเตน ระดับปวส. รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ทีมนักศึกษาวิทยาลัยพณิชยการเชตุพนในโครงงานการพัฒนาขนมกัมมี่ปลีกล้วยน้ำว้า ช่วยเสริมสร้างน้ำนมแม่ รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ทีมวิทยาลัยอาชีวศึกษาเอี่ยมละออในโครงงานพุดดิ้งหม้อแกงกึ่งสำเร็จรูป รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 2 ได้แก่ ทีมนักศึกษาวิทยาลัยพณิชยการธนบุรีในโครงงานการพัฒนาชาชงชะพลู
"สอศ.รู้สึกยินดีกับทีมนักศึกษาที่ได้รับรางวัลและขอให้นักศึกษาพยายามมุ่งมั่นต่อไปในการที่จะค้นพบองค์ความรู้หรือวิธีการใหม่ๆ หรือคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติต่อไป ทั้งนี้ สอศ.ได้สนับสนุนและส่งเสริมให้นักเรียนนักศึกษาอาชีวศึกษาพัฒนาผลงานนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ เทคโนโลยีและงานวิจัยตามนโยบายและจุดเน้นของกระทรวงศึกษาธิการ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ โดยมุ่งเน้นการสร้างนวัตกรรมตามความต้องการของพื้นที่ชุมชน ภูมิภาคหรือประเทศ เพื่อตอบโจทย์การพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาสู่ศตวรรษที่ 21" เลขาธิการคณะกรรมการ การอาชีวศึกษา กล่าวปิดท้าย
HTML::image( HTML::image( HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit