ผศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดี กล่าวว่า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มุ่งสู่การเป็น World-Class Engineering มีชื่อเสียงความเป็นหนึ่งในงานวิจัยและการเรียนการสอน Active Learning ในระดับสากล เน้นที่จะสร้างบุคลากรวิศวกรพันธุ์ใหม่ ที่สร้างการเปลี่ยนแปลงด้วยศักยภาพขีดความสามารถและความพร้อม เพื่อเป็นพลังร่วมสร้างสรรค์พัฒนาประเทศและโลกที่ดีขึ้นกว่าเดิม โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ แบ่งเป็น 7 ภาควิชา และ 2 กลุ่มสาขาวิชา ได้แก่ ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า ภาควิชาวิศวกรรมเคมี ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ ภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ และภาควิชาวิศวกรรมโยธาและสิ่งแวดล้อมกลุ่มสาขาวิชาเทคโนโลยีการจัดการระบบสารสนเทศ และกลุ่มสาขาวิชาโลจิสติกส์และระบบขนส่งทางราง
ในบรรยากาศอันร่มรื่นของมหาวิทยาลัย ที่ได้ชื่อว่าเป็น Green University เยาวชนคนรุ่นใหม่ได้มาทำความรู้จักกับ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งมีความแข็งแกร่งทั้งด้านของวิชาการ ทักษะปฏิบัติและ Soft Skills ที่จะเสริมสร้างวิศวกรผู้นำการเปลี่ยนแปลง สนับสนุนด้วยห้องปฏิบัติการที่ก้าวล้ำมากมาย เช่น 1. Innogineer Studio เปรียบเสมือนเวิร์คช็อป ครบครันเครื่องมือไฮเทคที่เปิดโอกาสให้เอสเอ็มอี สตาร์ทอัพ และเมคเกอร์สามารถเข้ามาทำโปรเจคต่าง ๆ บ่มเพาะสตาร์ทอัพ สร้างชิ้นงานและต้นแบบจากความคิดสร้างสรรค์จากความฝันสู่ความเป็นจริง 2. Innogineer BAY ศูนย์ฝึกหัดด้านหุ่นยนต์และระบบ AI ที่ทันสมัยระดับโลก 3. Digital Forensics Innovation and Training Center ศูนย์ห้องปฏิบัติการนวัตกรรมและฝึกอบรมการตรวจพิสูจน์หลักฐานด้านนิติวิศวกรรม 4. BART LAB (ศูนย์เครือข่ายวิจัยประยุกต์ทางเทคโนโลยีหุ่นยนต์และชีวการแพทย์ 5. Innovation Service Center ศูนย์บริการนวัตกรรมและให้คำปรึกษาแก่ภาคธุรกิจอุตสาหกรรม 6. ศูนย์นวัตกรรมสังคมสูงวัยและ Smart Home 7. ห้องปฏิบัติการและศูนย์วิจัยที่เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ ของ ม.มหิดล 8. ศูนย์ LogHealth คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ยังได้ศึกษาวิจัยและออกแบบพัฒนาระบบโลจิสติกส์โรงพยาบาล และดำเนินการจัดทำแผนแม่บทระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารภาคสาธารณสุขของประเทศ (HealthCare Logistics Big Data) นอกจากนี้ยังมีโครงการระหว่างก่อสร้างและเตรียมการเพื่อรองรับการศึกษาแห่งศตวรรษที่ 21