สำหรับค่าใช้จ่ายโลจิสติกส์ พบว่า เกษตรกรผู้ผลิตมังคุดอินทรีย์ มีค่าใช้จ่ายโลจิสติกส์ประมาณ 9.77 บาท/กิโลกรัม/ปี แบ่งเป็น 1) ค่าใช้จ่ายกิจกรรมการเคลื่อนย้ายปัจจัยการผลิต ได้แก่ ค่าสั่งซื้อปัจจัยการผลิตเฉลี่ย 0.07 บาท/กิโลกรัม/ปี ค่าขนส่งปัจจัยการผลิตเฉลี่ย 0.43 บาท/กิโลกรัม/ปี และค่าเสื่อมโรงเรือนเก็บปัจจัยการผลิตเฉลี่ย 0.47 บาท/กิโลกรัม/ปี 2) ค่าใช้จ่ายกิจกรรมการเคลื่อนย้ายมังคุดอินทรีย์ภายในแปลง ได้แก่ ค่าใช้จ่ายแรงงานในครัวเรือนที่ใช้ในการเก็บเกี่ยวผลผลิตเฉลี่ย 2.04 บาท/กิโลกรัม/ปี ค่าใช้จ่ายแรงงานจ้างเก็บเกี่ยวผลผลิตเฉลี่ย 3.55 บาท/กิโลกรัม/ปี ค่าอาหารเครื่องดื่มสำหรับแรงงานเก็บเกี่ยวเฉลี่ย 0.21 บาท/กิโลกรัม/ปี ค่าใช้จ่ายติดต่อลูกค้าเฉลี่ย 0.29 บาท/กิโลกรัม/ปี และค่าความสูญเสียของมังคุดอินทรีย์ จากการเคลื่อนย้ายในแปลง เฉลี่ย 0.40 บาท/กิโลกรัม/ปี และ 3) ค่าใช้จ่ายกิจกรรมการเคลื่อนย้ายขนส่งมังคุดอินทรีย์นอกแปลง ได้แก่ ค่าขนส่งผลผลิตเฉลี่ย 1.80 บาท/กิโลกรัม/ปี ค่าบรรจุภัณฑ์เฉลี่ย 0.26 บาท/กิโลกรัม/ปี ค่าทำตราสินค้าเฉลี่ย 0.25 บาท/กิโลกรัม/ปี ทั้งนี้ จากค่าใช้จ่ายทั้งหมดจะเห็นได้ว่า เกษตรกรเสียค่าใช้จ่ายด้านแรงงานเพื่อจ้างเก็บเกี่ยวผลผลิตมากที่สุด รองลงมาคือ ค่าขนส่งผลผลิตนอกแปลง ค่าเสื่อมโรงเรือน ซึ่งเป็นค่าเสื่อมโรงเรือนในการเก็บปัจจัยการผลิต และค่าขนส่งปัจจัยการผลิต เช่น ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าจ้างในการขนส่ง ตามลำดับ
ปัจจุบันเกษตรกรมีการตื่นตัวและสนใจทำการผลิตมังคุดอินทรีย์เพิ่มขึ้น เนื่องจากการผลิตแบบอินทรีย์เป็นการให้ความสำคัญกับคุณภาพและความปลอดภัยทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคซึ่งแนวทางในการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ ควรมีการพัฒนาในด้านต่าง ๆ อาทิ มีระบบเตือนภัยล่วงหน้าในด้านสภาพอากาศ เพื่อการวางแผนในการจัดซื้อจัดหาปัจจัยการผลิตและการควบคุมคุณภาพผลผลิต มีการศึกษา วิจัยด้านนวัตกรรมที่นำมาใช้ในการเก็บเกี่ยวผลผลิต เคลื่อนย้ายผลผลิต และคัดเกรดผลผลิตเพื่อช่วยลดต้นทุนค่าจ้างเก็บเกี่ยวที่มีค่าใช้จ่ายสูง พร้อมทั้งเพิ่มช่องทางตลาดออนไลน์ สร้างเครือข่าย และประชาสัมพันธ์ให้ผู้บริโภคให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างมังคุดอินทรีย์กับมังคุดทั่วไป ทั้งในเรื่องคุณภาพ รสชาติ และความปลอดภัย ตลอดจนการขึ้นทะเบียนเกษตรกรหรือผู้ประกอบการที่ดำเนินการเกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์ เพื่อให้มีสิทธิพิเศษที่แตกต่างจากการทำเกษตรทั่วไปเป็นการสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรเปลี่ยนมาทำการผลิตแบบอินทรีย์มากขึ้น สำหรับท่านที่สนใจผลการศึกษาข้างต้น สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 9 โทร 0 7431 2996 หรือ อีเมล [email protected] และในส่วนของเกษตรกรที่อยากผลิตมังคุดอินทรีย์หรือสินค้าเกษตรอื่นๆ สามารถขอคำปรึกษารวมไปถึงการขอตราสัญลักษณ์เกษตรอินทรีย์ไทย (Organic Thailand) ได้ที่สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit