นายณรงค์ เรืองศรี ผู้อำนวยการ
สำนักการระบายน้ำ กทม. กล่าวกรณี ศ.ดร.
สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นายก
สภาวิศวกร เสนอความคิดเห็นระบุพื้นที่ชุมชนริมฝั่ง
แม่น้ำของไทยควรจัดทำ
แก้มลิงและระบบท่อใต้ดิน เพื่อป้องกันปัญหา
น้ำท่วมว่า กทม. ได้เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม โดยดำเนินการ ดังนี้ 1) พัฒนาระบบท่อระบายน้ำ โดยเพิ่มขนาดท่อระบายน้ำด้วยวิธีการดันท่อ (Pipe Jacking) ในถนนสายหลัก เช่น ถนนสุขุมวิท ถนนเอกมัย ถนนศรีอยุธยา ถนนเยาวราช ถนนพหลโยธิน 2) พัฒนาระบบคลอง โดยเพิ่มความกว้างคลองระบายน้ำสายหลักและก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง พร้อมทั้งพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนริมคลองร่วมกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) เช่น คลองลาดพร้าว คลองเปรมประชากร 3) พัฒนาระบบระบายน้ำ โดยก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำขนาดใหญ่ ซึ่งก่อสร้างแล้วเสร็จ 4 โครงการ คือ อุโมงค์ระบายน้ำประชาราษฎร์สาย 2 อุโมงค์ระบายน้ำบึงมักกะสัน อุโมงค์ระบายน้ำพระรามเก้า อุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองบางซื่อ และอยู่ระหว่างก่อสร้าง 1 แห่ง คือ อุโมงค์ระบายน้ำบึงหนองบอน รวมถึงมีแผนพัฒนาเพิ่มอีก 4 แห่ง คือ อุโมงค์ระบายน้ำคลองเปรมประชากร อุโมงค์ระบายน้ำคลองภาษีเจริญ อุโมงค์ระบายน้ำพระรามเก้าส่วนต่อขยาย อุโมงค์ระบายน้ำคลองพระยาราชมนตรี และ 4) พัฒนาแก้มลิงและธนาคารน้ำใต้ดิน นอกจากนี้ ยังได้เตรียมพร้อมรองรับสถานการณ์น้ำบริเวณริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่อาจมีความเสี่ยงต่อภาวะน้ำล้นตลิ่ง โดยเสริมความสูงของแนวป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยาให้สูงขึ้นจากเดิมที่ +2.50 เป็น +3.00 ถึง +3.50 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง พร้อมตรวจสอบความแข็งแรงและซ่อมแซมแนวป้องกันน้ำท่วมในจุดที่ชำรุดเป็นประจำทุกปี อีกทั้งเมื่อถึงฤดูน้ำหลากได้เสริมความสูงของแนวป้องกันน้ำท่วมด้วยกระสอบทรายอีก 50 เซนติเมตร