ด้วยวิกฤตสิ่งแวดล้อมที่กำลังส่งผลกระทบต่อทุกชีวิต ผู้นำของแต่ละประเทศทั่วโลกส่วนใหญ่ต่างเข้าใจว่าระบบเศรษฐกิจในอนาคตของเราจะต้องดำเนินไปภายในขอบเขตที่ระบบธรรมชาติยังสามารถจัดการได้ และสิ่งมีชีวิตยังปลอดภัย ซึ่งเราทุกคนจำเป็นต้องทบทวนแนวคิดและปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ใหม่ โดยเริ่มที่ขั้นตอนแรกของ '3R' นั่นคือ การลดการใช้ทรัพยากร (Reduce) ดังนั้นเวทีนานาชาติครั้งนี้จึงเปรียบเสมือนเวทีให้ได้แลกเปลี่ยนความรู้และทำความเข้าใจเกี่ยวกับเครื่องมือเชิงนโยบายที่ใช้งานได้และที่มีอยู่ในปัจจุบัน เพื่อทำให้ผลิตภัณฑ์เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เช่น การติดฉลากสิ่งแวดล้อม การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐสีเขียว และการออกแบบเชิงนิเวศเศรษฐกิจ ซึ่งผู้เข้าร่วมจากหน่วยงานภาครัฐ นักวิชาการ นักคิดด้านสิ่งแวดล้อม และภาคเอกชนจากเอเชีย ละตินอเมริกา แอฟริกาและสหภาพยุโรป ได้มีโอกาสสำรวจเครื่องมือเชิงนโยบายที่อิงกับนวัตกรรมตลาดและได้ค้นพบรูปแบบธุรกิจเชิงดิจิทัลแบบใหม่เพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมได้มากขึ้น
นายไค โฮฟ์มัน ผู้อำนวยการโครงการพัฒนาการและการวัดผลการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทย กล่าวว่า "วันนี้มีผู้แทน 160 คนจาก 17 ประเทศมาประชุมกันที่กรุงเทพฯเพื่อเรียนรู้แนวปฏิบัติที่ดีที่สุดที่จะนำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมาพัฒนาต่อได้ แนวคิดนี้ไม่ได้มุ่งเน้นแค่การแปรรูปของใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่ แต่ยังรวมถึงการลดการใช้ทรัพยากร การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรและเพิ่มอายุการใช้งาน ซึ่งแตกต่างจากแนวคิดเศรษฐกิจเส้นตรงที่เน้นการ "ใช้ (ทรัพยากร) – ผลิต – ทิ้ง" ซึ่งก่อให้เกิดต้นทุนทางสิ่งแวดล้อมและสังคมมหาศาล"
"ลองนึกถึงอุตสาหกรรมเพลง สมัยก่อนเวลาเราจะฟังเพลง ก็ต้องมีซีดีพร้อมเครื่องเล่น แต่วันนี้ โลกเปลี่ยนไปมาก เราแค่ดึงเพลงทั้งหมดออกมาจากอินเทอร์เน็ต ก็ฟังเพลงได้แล้ว" นายไค กล่าวเสริม
นายสุพจน์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย กล่าวว่า "ปัจจุบันประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศผู้นำด้านการปฏิรูปการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน (SCP) และเป็นประเทศระดับแนวหน้าในการปรับใช้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ประเทศไทยได้รวมนำแนวทางการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืนเข้ากับกรอบนโยบายระดับชาติต่างๆ ในส่วนของแผนขับเคลื่อนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน พ.ศ. 2560 – 2579 นั้น ได้รับการจัดทำขึ้นเพื่อส่งเสริมความร่วมมือในการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ การลดมลพิษ และการเสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหารและพลังงาน ซึ่งได้รวมถึงแผนและกลยุทธ์ระยะกลางและระยะยาวเกี่ยวกับการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ยั่งยืน การท่องเที่ยว การเกษตร การจัดซื้อจัดจ้าง แผนการพัฒนาฉลากสีเขียว และแผนที่นำทางสำหรับการจัดการขยะพลาสติก ในปีนี้ประเทศไทยและทุกประเทศในอาเซียนได้มี "ปฏิญญากรุงเทพฯ ว่าด้วยการต่อต้านขยะทะเลในภูมิภาคอาเซียน" ร่วมกัน เพื่อตอบสนองความมุ่งมั่นในการลดก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก"
"อย่างไรก็ตามสิ่งเหล่านี้ยังคงเป็นปัญหาระดับโลกที่มีความซับซ้อน ประเทศไทยไม่สามารถเอาชนะความท้าทายนี้ได้เพียงประเทศเดียว แต่ยังต้องการความร่วมมือทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก นอกจากนี้ ประเทศไทยยังได้ประกาศแนวคิดหลัก คือ "Advancing Partnership for Sustainability" หรือ "ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน" สำหรับการเป็นประธานอาเซียนในปีนี้ด้วย ดังนั้นเราจึงจำเป็นต้องขยายความร่วมมือและเสริมความแข็งแกร่งเพื่อรับมือกับวิกฤติสิ่งแวดล้อม ผ่านการรับฟัง การเรียนรู้ การเจรจาต่อรอง การประนีประนอม และสิ่งที่ขาดไม่ได้ก็คือ การมีเป้าหมายร่วมกัน" นายสุพจน์ กล่าวเสริม
นายเกออร์ก ชมิดท์ เอกอัครราชทูตเยอรมันประจำประเทศไทย กล่าวว่า "ในการประชุมระดับผู้นำว่าด้วยการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ (UN Climate Action Summit) ณ นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศเยอรมนีถือเป็นหนึ่งใน 77 ประเทศทั่วโลกที่ให้คำมั่นในการตั้งเป้าปล่อยก๊าซคาร์บอนสุทธิเท่ากับศูนย์ ภายในปีพ.ศ. 2593 และเพิ่งได้นำแผนงานการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศมาปรับใช้ เป็นที่ทราบกันดีว่าประเทศเยอรมนีชูนโยบายเศรษฐกิจสีเขียวเพื่อเสริมศักยภาพการตลาด เราเป็นประเทศลำดับต้นๆ ที่เน้นการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ และเยอรมนีก็ได้พัฒนาฉลากสิ่งแวดล้อม "Blue Angel" ขึ้นเป็นประเทศแรกในโลกเมื่อปีพ.ศ.2513 ด้วย"
"อย่างไรก็ตาม จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่นับวันยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น เราทุกคนจึงต้องหันมาเปลี่ยนแปลงนโยบายและแนวคิดเป็นอันดับแรก โดยเริ่มจากการเปลี่ยนการ "ใช้ (ทรัพยากร) – ผลิต – ทิ้ง" มาเป็นการใช้ทรัพยากรที่จำกัดด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากร การใช้ช้ำและการแปรรูปของใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่"
"ประเทศเยอรมนีเป็นพันธมิตรด้านการปกป้องสภาพภูมิอากาศที่สำคัญที่สุดของประเทศไทย เยอรมนีแบ่งปันประสบการณ์กับประเทศไทยในเรื่องพลังงานทดแทน การใช้ทรัพยากรอย่างประสิทธิภาพและการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยให้คำแนะนำด้านนโยบายสำหรับการดำเนินงานที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ ตลอดจนดำเนินโครงการต่างๆ ในประเทศไทย เช่น การจัดการของเสีย การดำเนินมาตรการป้องกันน้ำท่วม หรือแม้แต่เรื่องการสนับสนุนการผลิตตู้เย็นที่ประหยัดพลังงาน โดยรวมแล้วรัฐบาลเยอรมันลงทุนไปกับการดำเนินโครงการระดับทวิภาคีในประเทศไทยแล้วจำนวน 60 ล้านยูโร (ราวสองพันล้านบาท) ตั้งแต่ปีพ.ศ 2551 และยินดีที่จะร่วมมือดำเนินต่อไปในอนาคต นอกจากนี้เยอรมนียังสนับสนุนประเทศในเอเชียทั้งเก้าประเทศ สองประเทศในละตินอเมริกา และสองประเทศในแอฟริกาในการดำเนินงานตามพันธกิจด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อบรรลุเป้า SDG ข้อที่ 12 เรื่องการสนับสนุนแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนอีกด้วย" นายเกออร์ก กล่าวเสริม
เวทีนานาชาติเรื่อง "เศรษฐกิจหมุนเวียนต้องเกิด ผ่านกระบวนการ 3R เริ่มที่ Reduce - ลดการใช้!" ("Reduce! Rethinking Circular Economy") จัดขึ้นโดยมีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประจำประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ และได้รับทุนสนับสนุนจากกระทรวงสิ่งแวดล้อม คุ้มครองธรรมชาติ และความปลอดภัยทางปรมาณู สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMU)
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit