เมื่อวันพุธ ที่ 25 กันยายน สำนักกลางนักเรียนคริสเตียน (สนค.) ถนนพญาไท คณะทำงานเครือข่ายองค์กรผู้หญิงและเด็ก และเครือข่ายปฏิบัติการต่อต้านการค้ามนุษย์ (ANTI-HUMAN TRAFFICKING NETWORK หรือ ATN) จำนวน 13 เครือข่าย เป็นเครือข่ายร่วมที่มีบทบาทสำคัญเชิงรุกในการช่วยเหลือผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ และเป็นกลไกกลางเชื่อมประสานการดำเนินงานทั้งในเชิงป้องกันปัญหา การติดตามช่วยเหลือด้านคดีความ ได้จัดแถลงข่าว หัวข้อ "ผู้ทรงอิทธิพลทางการเงินในคดีค้ามนุษย์" และหลังจากนี้เครือข่ายจะเดินทางไปยื่นหนังสือถึง นายกรัฐมนตรี ผู้ตรวจการแผ่นดิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม อัยการสูงสุด เกี่ยวกับเรื่องนี้มีความเห็นจากตัวแทนคณะทำงาน ที่มาร่วมแถลงข่าว ดังนี้
นายสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวว่า "แม้ว่าประเทศไทยจะถูกจัดอันดับการค้ามนุษย์อยู่ใน (Tier 2) แต่ช่วงที่ผ่านมาน่าห่วงผลงานประเทศไทยไม่ดีขึ้นมากนัก และมีโอกาสร่วงต่ำไปกว่านี้ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีอาบอบนวดวิคตอเรีย ซีเครท ตอนที่มีการเข้าไปทะลาย มีความหวังว่าจะเล่นงานกระบวนการค้ามนุษย์นี้ได้ เมื่อผ่านมาพบว่า กระบวนการยุติธรรมของไทย ไม่สามารถดำเนินการเอาผิดกระบวนการค้ามนุษย์รายใหญ่ของไทยได้เลย ประเทศไทยจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องปรับปรุงกระบวนการยุติธรรมของไทยครั้งใหญ่ เริ่มตั้งแต่การตีความการค้ามนุษย์ ให้กว้างขึ้น ครอบคลุมถึงกลุ่มบอบบางมากขึ้น รวมทั้งกฎหมายการลงโทษ ต้องเร่งปรับกระบวนการยุติธรรมอย่างจริงจัง เพราะไม่อย่างนั้นกระบวนการค้ามนุษย์ทั้งหลายจะได้ใจ เพราะไม่ได้รับการลงโทษ เพราะฉะนั้นกระบวนการค้ามนุษย์ของประเทศไทย จะเป็นภาพลักษณ์ที่ไม่ได้รับการยอมรับ"
นางสาวสุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูง ผู้อำนวยการมูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม กล่าวว่า "คนทำงานด้านนี้ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือภาคเอกชน ต้องมีความเข้าใจ ในความอ่อนไหว ละอียดอ่อนด้วยเหตุทางเพศ เราต้องเข้าใจว่า คดีทางเพศ
คดีค้ามนุษย์ ผู้เสียหายคือประจักษ์พยานสำคัญที่จะสามารถเอาผิด ลงโทษผู้กระทำความผิดได้ ถ้าเราปล่อยให้ผู้เสียหาย ต่อสู้เพียงลำพัง ก็จะเป็นข้อจำกัดและข้ออ่อนในการทำงาน วิธีที่ดีที่สุด หน่วยงาน เช่น NGO หรือ GO ควรปรึกษาหารือกันเสริมพลังในการทำงานในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ ที่ผ่านมาบางกรณีผู้ที่กระทำความผิด เป็นผู้มีฐานะทางการเงินที่ดี มีหน้าที่การงานใหญ่โต ผู้เสียหายเป็นคนตัวเล็กๆ เป็นคนที่ถูกทำให้เล็กอยู่เรื่อยๆ กระบวนการยุติธรรมควรเป็นมิตรและให้ความเป็นธรรมแก่ผู้เสียหาย ผู้รักษากฎหมายไม่ควรเลือกปฏิบัติ"
นายรณสิทธิ์ พฤกษยาชีวะ ประธานมูลนิธิรณสิทธิ์ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า "จากกรณีการทะลายแหล่งค้ามนุษย์รายใหญ่ของไทย ซึ่งเป็นที่สนใจและจับตามมองทั้งในระดับประเทศและทั่วโลก เริ่มจากเข้าตรวจค้นสถานบริการอาบอบนวด วิคตอเรีย ซีเครท หลังได้รับการร้องเรียนว่าสถานบริการดังกล่าวลักลอบแอบแฝงค้าประเวณีเด็กอายุต่ำกว่า ๑๘ ปี จากการตรวจค้น จับกุมด้วยคดีนี้เป็นคดีค้ามนุษย์และความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณีที่สำคัญ อีกทั้งความผิดดังกล่าวเป็นมูลฐานในความผิดฐานฟอกเงิน โดยเป็นการดำเนินคดีกับสถานบริการอาบอบนวดที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งในประเทศไทย มีการนำหญิงบริการอายุ ๑๘-๒๕ ปี จำนวนกว่า ๑๑๓ คน มาให้บริการภายในสถานบริการซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานต่างด้าวแยกเป็นสัญชาติ เมียนมา (ไทยใหญ่) ๙๖ ราย สัญชาติลาว ๑๑ ราย สัญชาติจีน (๑๒ ปันนา) ๒ ราย คนไทย ๔ ราย และขยายผลพบว่ามีบุคคลที่ร่วมกระทำความผิดหลายคน ขณะนี้เป็นบุคคลที่หลบหนีออกนอกราชอาณาจักร ทั้งนี้กรมสอบสวนคดีพิเศษมีการดำเนินคดีกับบุคคลที่เกี่ยวข้องหลายคดี และพนักงานอัยการฝ่ายคดีค้ามนุษย์ เป็นโจทก์ยื่นฟ้องบุคคลที่จับกุมตัวได้หลายคดี โดยแบ่งกลุ่มผู้ต้องหาออกเป็น ๒ กลุ่ม คือ กลุ่มที่ ๑ เจ้าของหรือผู้บริหารสถานบริการอาบอบนวดวิคตอเรีย ซีเครท และกลุ่มที่ ๒ ที่เป็นผู้ต้องหาพนักงานในสถานบริการอาบอบนวดวิคตอเรีย ซีเครท ในข้อหาความผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์, พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปราม การค้าประเวณี, พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒, พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ.๒๕๕๖ และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๒"
นายรณสิทธิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า "ต่อมา ผู้ต้องหาในคดีสถานบริการอาบอบนวดวิคตอเรีย ซีเครท ได้ร้องขอความเป็นธรรมเพื่อให้อัยการสำนักงานคดีค้ามนุษย์พิจารณาทบทวนความเห็นในการสั่งฟ้องคดี โดยมีการอ้างคำเบิกความพยานในคดีอาญา ที่มีการฟ้องผู้ต้องหาอื่นที่เป็นพนักงานในสถานบริการอาบอบนวดวิคตอเรีย ซีเครท ซึ่ง อธิบดีอัยการสำนักงานคดีค้ามนุษย์ได้ทบทวนความเห็น โดยกลับความเห็นและคำสั่งเดิม เป็นมีคำสั่งไม่ฟ้อง ต่อมาได้เสนอคำสั่งดังกล่าวต่อรองอัยการสูงสุด ที่ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบคดีค้ามนุษย์ ซึ่งรองอัยการสูงสุดก็ได้มีความเห็นสั่งไม่ฟ้องตามที่อธิบดีอัยการสำนักงานค้ามนุษย์เสนอ จากนั้นได้ส่งความเห็นคำสั่งไม่ฟ้องดังกล่าวต่ออธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อพิจารณาว่าจะมีความเห็นแย้งหรือไม่ แต่ปรากฏว่าอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ มีความเห็นยืนตามความเห็นรองอัยการสูงสุด สั่งไม่ฟ้อง"
นายรณสิทธิ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า "และนี่คือเหตุผลที่ทำให้ เครือข่ายองค์กรผู้หญิงและเด็ก และเครือข่ายปฏิบัติการต่อต้านการค้ามนุษย์ (ANTI-HUMAN TRAFFICKING NETWORK หรือ ATN) มีความวิตกกังวลเป็นอย่างยิ่งต่อภาพลักษณ์ของกระบวนการยุติธรรมของกรมสอบสวนคดีพิเศษ สังกัดกระทรวงยุติธรรม ในการใช้ดุลพินิจกลับคำสั่งเดิมของตนเองที่เคยสั่งฟ้องเจ้าของและผู้บริหารสถานบริการอาบอบนวดวิคตอเรีย ซีเครท เป็นคำสั่งไม่ฟ้อง ดังนั้น จึงขอให้พณฯ ท่านนายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้โปรดสั่งการให้ดำเนินการเรียกเอกสาร และแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อตรวจสอบขั้นตอนการออกคำสั่ง และดุลพินิจในการพิจารณาสั่งไม่ฟ้อง ว่าเป็นไปตามกระบวนการและขั้นตอนตาม
กฎหมาย ระเบียบ คำสั่ง ตลอดจนเป็นไปตามหลักการถ่วงดุลตรวจสอบดุลพินิจ และความสุจริตในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาหรือไม่ ตลอดจนทบทวนให้พิจารณาสั่งฟ้องเจ้าของและผู้เกี่ยวข้อง ต่อไป"
นางสาวชลีรัตน์ ทิมบุตร ผู้ประสานงานมูลนิธิพิทักษ์สตรี AAT กล่าวว่า "ในการดำเนินคดีวิคตอเรีย อาบอบนวดที่เป็นข่าวครึกโครมในประเทศไทยเมื่อต้นปี 2561 ที่ผ่านมา แม้ว่าในปัจจุบันนี้ศาลชั้นต้นจะมีคำพิพากษาออกมาแล้วและผู้กระทำความผิดถูกดำเนินคดีแต่เป็นความผิดฐานค้าประเวณี ไม่ใช่ความผิดฐานค้ามนุษย์ ทั้งที่มีการนำเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีมาแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศหลายคน สะท้อนให้เห็นว่าแม้ประเทศไทยจะถูกจัดอันดับรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ (Tip Report) ให้อยู่ในกลุ่มประเทศที่มีความพยายามในการแก้ไขและตรวจสอบปัญหาการค้ามนุษย์อย่างจริงจัง 2 ปี ติดต่อกัน แต่การปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย และแนวทางในการช่วยเหลือผู้เสียหายที่ถูกแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศจากการค้ามนุษย์ด้านเพศยังน้อยมากเมื่อเทียบกับการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน ซึ่งขัดกับข้อมูลสถิติคดีค้ามนุษย์ ของสำนักงานคดีค้ามนุษย์ที่แสดงให้เห็นว่าในแต่ละปีนั้น กรณีการแสวงหาผลประโยชน์ด้านเพศจะเป็นกรณีที่มีการช่วยเหลือผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์มากที่สุด เช่นในปี 2561 จะพบว่ามีคดีค้ามนุษย์ ทั้งหมดจำนวน 340 คดี เป็นกรณีการแสวงหาผลประโยชน์ด้านเพศ จำนวน 256 คดี ปี 2562 มีจำนวนคดีค้ามนุษย์ทั้งหมด 233 คดี เป็นกรณีการแสวงหาประโยชน์การค้าประเวณี จำนวน 154 คดี
นางสาวชลีรัตน์ เปิดเผยเพิ่มเติมว่า "เนื่องด้วยคดีวิคตอเรียมีการตัดสินผู้ต้องหาที่เป็นพนักงานไปหลายคนแต่ตัวของกำพล และนิภา ซึ่งเป็นเจ้าของร้านได้หนีไปยังไม่ได้ตัวมาฟ้องคดี แต่ภายหลังทนายความรับมอบอำนาจจากนิภามายื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมเพื่อให้ทบทวนความเห็นสั่งฟ้องคดี ซึ่งหน่วยงานผู้มีอำนาจและรับผิดชอบก็กลับคำสั่งเดิมของตนเองแล้วสั่งไม่ฟ้อง ซึ่งทางเครือข่ายองค์กรผู้หญิงและเด็กและเครือข่ายปฏิบัติการต่อต้านการค้ามนุษย์ทั้ง 13 องค์กรเราพิจารณาแล้วเห็นว่าควรจะมีการทำหนังสือเพื่อขอให้หน่วยงานที่มีอำนาจตรวจสอบในประเด็นดังต่อไปนี้ 1.การที่ผู้ต้องหาหลบหนีไปแล้วนั้น ทำใบมอบอำนาจมาร้องขอความเป็นธรรมนั้นเป็นการมอบอำนาจชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ 2.การกลับคำสั่งเดิมของหน่วยงานที่มีอำนาจพิจารณา ควรจะมีระบบการตรวจสอบ 3.การกลับคำสั่งเดิมไม่ฟ้องนิภา โดยนำข้อเท็จจริงนอกสำนวนต่างๆ ข้อเท็จจริงจากหนังสือร้องขอความเป็นธรรมที่ฝ่ายผู้ต้องหามามอบให้ แล้วสั่งไม่ฟ้องนั้นหารับฟังได้เพราะคดีดังกล่าวยังไม่สิ้นสุดและโจทก์ร่วมและอัยการศาลสูงยังอุทธรณ์ประเด็นดังกล่าวอยู่ องค์กรเครือข่ายทั้ง 13 องค์กรจึงขอเรียกร้องให้ท่านนายกรัฐมนตรีและผู้ที่เกี่ยวข้องช่วยดำเนินการตรวจสอบและตั้งคณะพิจารณาในกระบวนการทำงานในคดีดังกล่าวด้วย เพื่อไม่ให้ผู้ทรงอิทธิพลทางด้านการเงิน ใช้อิทธิพลเพื่อให้ตนเองพ้นผิด เพื่อนำไปสู่กระบวนการยุติธรรมที่แท้จริง"
HTML::image( HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit