กระทรวงเกษตรฯ เปิดเวทีสัมมนา YEAR END SEMINAR 2019 “สืบสานศาสตร์พระราชา บูรณาการงานวิจัยและนวัตกรรม” เน้นคุณภาพงานวิจัยด้านการผลิตพืช บูรณาการขยายผลสู่เกษตรกร

26 Sep 2019
นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานพิธีเปิดการสัมมนา YEAR END SEMINAR 2019 กรมวิชาการเกษตร ภายใต้แนวคิด "สืบสานศาสตร์พระราชา บูรณาการงานวิจัยและนวัตกรรม" ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ ว่า ในปี 2562 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้สานต่อนโยบายยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี มุ่งเน้นการยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตร พร้อมขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลตามนโยบายหลัก 12 ด้าน และนโยบายเร่งด่วน 12 เรื่อง เน้นให้ความช่วยเหลือเกษตรกรเชิงรุก การจัดเตรียมมาตรการรองรับภัยแล้งและอุทกภัย การฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและรักษาสิ่งแวดล้อม การเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร มุ่งพัฒนาการผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัยควบคู่กับการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร ทั้งด้านคุณภาพและการแปรรูปผลิตภัณฑ์ โดยนำหลักการบริหารจัดการสินค้าเกษตรที่สำคัญแบบครบวงจรร่วมกับการใช้เทคโนโลยี นวัตกรรมองค์ความรู้ ยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน รวมถึงการพัฒนาเกษตรกร การพัฒนานักวิจัย การบริหารจัดการสร้างการรับรู้ โดยเน้นการทำงานแบบบูรณาการกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาการเกษตรอย่างต่อเนื่อง
กระทรวงเกษตรฯ เปิดเวทีสัมมนา YEAR END SEMINAR 2019 “สืบสานศาสตร์พระราชา บูรณาการงานวิจัยและนวัตกรรม” เน้นคุณภาพงานวิจัยด้านการผลิตพืช บูรณาการขยายผลสู่เกษตรกร

ทั้งนี้ เป้าหมายหลักของนโยบายการตลาดนำการผลิต เป็นหนึ่งในมาตรการขับเคลื่อนให้เกษตรกรสามารถวางแผนการผลิตได้ตรงตามความต้องการของตลาดรับซื้อที่แน่นอน และเพิ่มโอกาสในการแข่งขันสินค้าเกษตร ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยการนำผลงานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรมด้านการเกษตรนำไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ในการผลิตสินค้าเกษตรออกสู่ท้องตลาด ซึ่งกรมวิชาการเกษตรจะต้องส่งเสริมให้นักวิจัยผลิตผลงานวิจัยพันธุ์พืชใหม่ และนวัตกรรมเทคโนโลยีทางการเกษตร ที่สามารถช่วยลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตพืช เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพได้มาตรฐานและตรงตามความต้องการของตลาดในระดับสากล อันจะนำไปสู่การใช้ประโยชน์ในทางปฏิบัติได้

"ศาสตร์ของพระราชา เป็นศาสตร์ที่มีความยั่งยืนและไม่ทำลายธรรมชาติ กระทรวงเกษตรฯ จึงได้น้อมนำมาบูรณาการพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อให้เกิดคุณประโยชน์แก่เกษตรกร โดยผสมผสานให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่และสภาพแวดล้อมอย่างเหมาะสม อย่างไรก็ดี การต่อยอดงานวิจัยของกรมวิชาการเกษตรโดยมากจะเป็นภาคเอกชน ดังนั้น เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน ภาครัฐจึงควรสนับสนุนให้นำงานวิจัยและนวัตกรรมของกรมวิชาการเกษตรมาต่อยอดในการพัฒนาสินค้าสหกรณ์ในจังหวัดต่าง ๆ เพื่อเพิ่มมูลค่าและสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรในทัองถิ่นอย่างยั่งยืน" นางสาวมนัญญา กล่าว

ด้าน นางสาวเสริมสุข สลักเพ็ชร์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมวิชาการเกษตรได้มุ่งมั่นพัฒนางานด้านการวิจัยพัฒนาพืชและเครื่องจักรกลการเกษตร ตามภารกิจหลักภายใต้ภารกิจด้านพัฒนาการผลิตของกระทรวงเกษตรฯ โดยผลการดำเนินงานวิจัยของกรมวิชาการเกษตรทำให้ได้เทคโนโลยีใหม่ๆ ในการผลิตพืชที่ตรงตามความต้องการของตลาดสินค้าเกษตร ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาการเกษตรของไทย และยังเป็นการช่วยตอบโจทย์แก้ไขปัญหาการปลูกพืชของเกษตรกรไทยมาโดยตลอด การสัมมนาในครั้งนี้ ได้จัดให้มีพิธีมอบรางวัลประกาศเกียรติคุณบุคลากรผู้ทำคุณประโยชน์ดีและมีผลงานเด่นของกรมวิชาการเกษตร และงานวิจัยที่ได้รับรางวัลจากหน่วยงานภายนอก อาทิ โครงการพัฒนาการส่งเสริมการเกษตรการปลูกมันสำปะหลัง (อุบลโมเดล) รับรางวัลเลิศรัฐสาขาการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ประจำปี พ.ศ.2562 ประเภทรางวัลสัมฤทธิผลประชาชนมีส่วนร่วม (Effective Change) ระดับดี จากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ซึ่งผลงานวิจัยของกรมวิชาการเกษตรต่างก็เป็นที่ยอมรับของเกษตรกรทั่วประเทศและทุกหน่วยงานมาอย่างต่อเนื่อง ถือเป็นผลงานวิจัยอันทรงคุณค่าเป็นอย่างยิ่ง

HTML::image( HTML::image(