การลงนามในครั้งนี้ ทั้ง 3 หน่วยงาน ประกอบด้วย อ.อ.ป. , บ.ปตท..น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) และ บ.สานพลัง วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด มีวัตถุประสงค์ร่วมกันที่จะทำการศึกษาวิจัยและพัฒนาการปลูกและผลิตกาแฟสายพันธุ์อะราบิกาและสายพันธุ์โรบัสตา ในพื้นที่สวนป่าเศรษฐกิจของ อ.อ.ป. ให้มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการสวนป่าเศรษฐกิจของ อ.อ.ป. แบบเกษตรผสมผสานร่วมกับการปลูกกาแฟภายใต้ระบบอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน ตลอดจนส่งเสริมให้ชุมชนเกิดการรวมกลุ่มและมีส่วนร่วมในโครงการเพื่อการพัฒนาทักษะอาชีพผู้ปลูก และผลิตกาแฟที่มีคุณภาพ และส่งเสริมการบริหารและจัดการสิ่งแวดล้อมจากกระบวนการแปรรูปผลผลิตกาแฟ
นางพรเพ็ญ วรวิลาวัณย์ ผู้อำนวยการ อ.อ.ป. เปิดเผยว่า อ.อ.ป. จะมีหน้าที่และรับผิดชอบในการจัดเตรียมพื้นที่สวนป่า เพื่อใช้ศึกษาวิจัยและพัฒนาการปลูกและผลผลิตกาแฟที่มีคุณภาพ, จัดหาเจ้าหน้าที่และเกษตรกรในชุมชนบริเวณพื้นที่นำร่อง เพื่อการปลูก บำรุงรักษาต้นกาแฟ การผลิตและแปรรูปกาแฟที่มีคุณภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม , จัดหาต้นพันธุ์กาแฟสายอะราบิกา สายพันธุ์โรบัสตา และวัสดุปลูก เพื่อทดลองปลูกในพื้นที่นำร่อง และร่วมพัฒนาระบบจัดการสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติในกระบวนการปลูกและการผลิตกาแฟของโครงการฯ ให้มีประสิทธิภาพ รวมถึงส่งเสริมให้มีการรวมกลุ่มเกษตรกร และจัดกิจกรรมเพื่อให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมกันอย่างต่อเนื่องระหว่างเจ้าหน้าที่ กลุ่มเกษตรกรในโครงการฯ และภาคีเครือข่าย
สำหรับพื้นที่ทดลองปลูกกาแฟของโครงการฯ จะเริ่มดำเนินการภายในสวนป่าเศรษฐกิจของ อ.อ.ป. ที่มีสภาพแวดล้อมเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของต้นกาแฟแต่ละสายพันธุ์ โดยกาแฟสายพันธุ์อะราบิกาจะทดลองปลูกในพื้นที่ สวนป่าดอยบ่อหลวง และสวนป่าแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ และสายพันธุ์โรบัสตาจะทดลองปลูกในพื้นที่สวนป่าท่าแซะ จังหวัดชุมพร โดยปลูกระหว่างพื้นที่ว่างระหว่างแถวปลูกไม้เศรษฐกิจสวนละ 10 ไร่ รวมทั้งสิ้น 30 ไร่
ทั้งนี้ คาดว่า จากการดำเนินงานฯ จะทำให้ได้แนวทางการปลูกและผลิตกาแฟสายพันธุ์อะราบิกาและสายพันธุ์โรบัสตา มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล สามารถเป็นต้นแบบในการจัดการสวนป่าเศรษฐกิจของ อ.อ.ป. แบบเกษตรผสมผสานร่วมกับการปลูกกาแฟภายใต้ระบบอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน ตลอดจนได้แนวทางการส่งเสริมให้ชุมชนเกิดการรวมกลุ่มและมีส่วนร่วม ในโครงการฯ เพื่อพัฒนาทักษะอาชีพผู้ปลูกและผลิตกาแฟที่มีคุณภาพในอนาคต