และนี่คือโอกาสพิเศษที่ Shark Tank Thailand ได้ขยายเมล็ดพันธ์ธุรกิจสู่รั้วมหาวิทยาลัย โดยร่วมกับสถาบัน DPU X โดย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ จัดกิจกรรม "DPU X The Shark Hunter Bootcamp" เปิดโอกาสให้นักศึกษานำเสนอโมเดลและไอเดียธุรกิจเข้ามายังรายการ กิจกรรมนี้มีน้องๆให้ความสนใจร่วมลงสมัครเป็นจำนวนมาก โดยผ่านการคัดเลือกจำนวน 50 คน หรือ 18 ทีม ภายใต้กิจกรรมนี้น้องๆ ทั้งหมดได้รับการติวเข้มในกิจกรรม Bootcamp เมื่อวันที่ 10-11 กันยายนที่ผ่านมา โดยได้บรรดารุ่นพี่จากรั้ว มธบ. ที่ผ่านเวที Startup Thailand League มาผนึกกำลังความรู้กับอาจารย์ที่มีความเชี่ยวชาญในแต่ละสาขามาเป็น Mentor คอยเป็นที่ปรึกษาแนะแนวให้ตลอดเวลาที่ร่วมกิจกรรม และหลังจากกิจกรรม Bootcamp ได้คัดเลือก10 ทีม จาก 18 ทีม เพื่อเสนอไอเดียธุรกิจต่อคณะกรรมการจาก Shark Tank Thailand และคัดเลือกทีมที่ชนะเลิศเข้าร่วมรายการไป เมื่อวันที่ 24 กันยายนที่ผ่านมา โดยท้ายสุดมีเพียง 3 ทีม ที่ผ่านการคัดเลือกจาก Shark Tank Thailand ได้แก่ 1. ทีม K.S.K Healtec เสนอแผนธุรกิจผลิตเครื่องกายภาพบำบัดราคาถูก 2. ทีมยันหว่าง ธุรกิจบริการเช่าของเล่นเด็ก และ 3.ทีม Diamond Sky ธุรกิจผลิตเครื่องลดค่าใช้จ่ายการใช้ไฟฟ้า
ดร.พัทธนันท์ เพชรเชิดชู รองอธิการบดีสายภาคีสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.) กล่าวว่า โครงการว่า Shark Tank Thailand ได้ติดต่อมาทางมหาวิทยาลัย ให้เปิดรับนักศึกษาที่มี Challenge เข้ามานำเสนอแผนธุรกิจ ซึ่ง มธบ.มีความตั้งใจให้เกิดโครงการลักษณะนี้อยู่แล้ว โดยที่ธุรกิจบัณฑิตย์ เราปลูกฝังทักษะการเป็นผู้ประกอบการให้นักศึกษาตั้งแต่เริ่มเรียนชั้นปี 1 ในทุกสาขาวิชา ผ่านวิชาในกลุ่ม DPU CORE (ดีพียู คอร์) เพื่อสร้าง 6 ทักษะที่สำคัญในศตวรรษที่ 21 เมื่อขึ้นชั้นปีที่ 3 ในรายวิชาที่เรียกว่า Capstone Projects นักศึกษาจะทำงานเป็นทีม สมาชิกในทีมมาจากต่างสาขาและต่างคณะ เพื่อให้นักศึกษาแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ ออกไอเดียและสร้างสรรค์ชิ้นงาน หัวข้อโครงการอาจเกิดจากนักศึกษาเอง หรือจากสถานประกอบการและพันธมิตรในเครือข่ายของมหาวิทยาลัย เราได้จัดตั้งสถาบัน DPU X (ดีพียู เอ็กซ์) เพื่อทำหน้าที่บ่มเพาะทีมนักศึกษาเหล่านี้ต่อใน DPU startup boot camp เพื่อปั้นไอเดียให้เป็นจริงได้ ทำให้นักศึกษา ได้ฝึกทักษะด้านความคิดสร้างสรรค์ การสื่อสารให้คนอื่นเข้าใจ มีการทำงานร่วมกันกับเพื่อนต่างคณะ ทำให้ได้ฝึกการวิเคราะห์ และแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทางมหาวิทยาลัยก็ได้พยายามปลูกฝังเข้าไปในตัวนักศึกษาเพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการสร้างนักศึกษาให้เป็นผู้ประกอบการและบุคลากรแห่งอนาคต
นายนิติ มุขยวงศา ผู้ช่วยรองอธิการบดีสายงานวิชาการ มธบ. เล่าถึงโครงการ Shark Tank Thailand ว่า กิจกรรมนี้แตกต่างจากการเรียนในห้องแบบปกติ ครั้งนี้พิเศษตรงที่ให้นักศึกษาที่ชนะการประกวด Startup Thailand League มาเป็น Mentor ร่วมกับอาจารย์แต่ละสาขาด้วย เราให้เด็กทำเองทุกอย่าง โดยในการติวเข้มนักศึกษาเราจะให้ความรู้สั้นๆเฉพาะที่จำเป็นเท่านั้น เช่น Pitching เริ่มอย่างไร ทดสอบอย่างไร และนำเสนออย่างไร สอนให้เด็กบริหารเวลา บริหารตัวเอง และบริหารทีม โดยที่เราไม่ได้สอนให้มุ่งเป้าเพียงความสำเร็จของธุรกิจเท่านั้น
ดร.วิชุดา ณ สงขลา ศรียาภัย ผู้อำนวยการผลิตรายการ Shark Tank Thailand กล่าวว่า ทางรายการได้นำแนวคิด Shark Tank Business School ที่เคยทำรายการร่วมกับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ มาบูรณาการให้เข้ากับมหาวิทยาลัยในประเทศไทย ซึ่งทางรายการได้เลือกมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์เป็นลำดับแรก เพราะมีความพร้อมและขึ้นชื่อในเรื่องการเน้นให้นักศึกษาฝึกเป็นผู้ประกอบการ ที่สำคัญมี DPU X ซึ่งเป็นศูนย์รวมที่นักศึกษาทุกคณะซึ่งมีเป้าหมายเดียวกันมาร่วมทำกิจกรรม สำหรับกิจกรรมครั้งนี้ ได้ให้น้องๆนำธุรกิจหรือProduct ที่คิดและออกแบบไว้ นำมา Present ให้เห็นภาพของธุรกิจ ในการ Pitching ทุกคนจะได้แนวคิดว่าธุรกิจที่ตนออกแบบมาสมบูรณ์แล้วหรือยัง นอกจากนี้น้องๆแต่ละกลุ่มยังได้สวมบทบาทเป็น Shark เพื่อค้นหาว่าธุรกิจที่เพื่อนๆนำเสนอน่าลงทุนหรือไม่ ซึ่งการได้มุมมองทั้ง 2 บทบาท จะทำให้นักศึกษาสามารถตอบตัวเองได้ว่าเรามีความพร้อมกับธุรกิจหรือไม่
ดร.วิชุดา กล่าวด้วยว่า เหตุผลที่เลือกทีม K.S.K Healtec ให้เป็นทีมผู้ชนะเลิศ เพราะธุรกิจที่นำเสนอเป็นธุรกิจที่ไม่ได้มีไอเดียอย่างเดียว แต่เป็นธุรกิจที่พิสูจน์แล้วว่ามีความสำเร็จ ผลิตภัณฑ์มีความพร้อมที่จะออกสู่ตลาด ที่สำคัญมีฐานลูกค้าแล้ว ซึ่งมีโอกาสที่จะได้รับการลงทุนจาก Shark อย่างไรก็ตามอยากให้ทุกคนที่อยากทำธุรกิจก้าวออกมาจากพื้นที่ของตัวเอง ได้ทำอะไรในสิ่งที่คิด ตัวอย่างที่ทำให้ผู้ประกอบการจาก Pinterest หรือ Instagram ประสบความสำเร็จคือ ความมุ่งมั่น พวกเขาพิสูจน์แล้วว่าจะช้าหรือเร็วถ้ามีความมุ่งมั่นจะประสบความสำเร็จ เพราะฉะนั้น Start Up หลายคนที่หยุดธุรกิจเพราะท้อ บางครั้งความล้มเหลวอาจไม่ได้เป็นเพราะตัวเราอย่างเดียว หากมองภาพกว้างๆ การจะสร้างธุรกิจขนาดใหญ่ ให้เป็นที่ต้องการของโลกมากขึ้น อย่ากลัวการร่วมทุน ถ้าไอเดียพร้อม ความสามารถพร้อม ใจเราต้องพร้อมด้วย
นายธีริทธิ์ ศรีคล้าย (มาร์ค) นักศึกษาชั้นปีที่ 2 จากวิทยาลัยนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรมศาสตร์ ผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับ 1 ทีม K.S.K Healtec เล่าว่า กิจกรรมนี้ทำให้เราได้รู้ลู่ทางด้านธุรกิจ และเตรียมตัวก่อน Pitching ในรายการได้ดีขึ้น ซึ่งก่อนหน้านี้มีความคิดที่จะส่งผลงานเข้าไปขายไอเดียในรายการนี้ แต่มองว่าการเดินเข้าไปด้วยตนเองจะยาก แต่พอพบโครงการนี้ในมหาวิทยาลัยจึงสมัครเข้าร่วมทันที เพราะมองว่าเป็นโอกาสดีที่จะช่วยให้ธุรกิจของเราเติบโตได้ในอนาคต แผนธุรกิจที่จะนำเสนอShark คือ การผลิตอุปกรณ์การแพทย์ ซึ่งเป็นเครื่องกายภาพบำบัด หรือเครื่องฝึกเดิน โดยปกติในประเทศไทยจะมีอุปกรณ์ที่ฝึกเดินอยู่แล้ว แต่ไม่ค่อยตอบโจทย์ในการกายภาพเพราะต้องใช้ผู้ดูแลเป็นจำนวนมาก ส่วนอุปกรณ์ที่ทันสมัยซึ่งตอบโจทย์ในไทยยังไม่มีผู้ผลิต การสั่งซื้อต้องนำเข้าจากต่างประเทศมีราคาค่อนข้างสูง จุดเด่นของผลิตภัณฑ์ของตนราคาถูกกว่าต่างประเทศถึง 10 เท่า และมีบริการหลังการขาย ทั้งยังใช้วัสดุภายในประเทศอีกด้วย สำหรับแรงบันดาลใจที่ก่อให้เกิดผลิตภัณฑ์นี้ เกิดจากตนมีโอกาสลงพื้นที่สำรวจคนที่ต้องไปกายภาพบำบัดที่สถานีอนามัย และพบปัญหาการให้บริการไม่เพียงพอ เพราะนักกายภาพบำบัดมีจำนวนจำกัด ให้บริการแก่ผู้มาใช้บริการได้เพียงวัน1-2 คนเท่านั้น
"การได้พบ Mentor และอาจารย์ที่เชี่ยวชาญด้านการตลาด ทำให้สามารถวิเคราะห์ต้นทุนและราคาขายได้ ส่วนกิจกรรมรอบคัดเลือกทำให้ได้ฝึกพูด ฝึก Pitching และฝึกการ Deal ธุรกิจ ทำให้ได้เรียนรู้ที่จะหาคำตอบที่สำคัญได้เห็นจุดแข็งจุดอ่อนของตัวเอง ต้องขอบคุณสถาบัน DPU X ที่จัดกิจกรรมดีๆ ให้โอกาสผมที่อยากเป็นผู้ประกอบการ ผมมีเป้าหมายอยากประสบความสำเร็จในธุรกิจก่อนเรียนจบ ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีมาก ที่ได้มาฝึกฝนในแคมป์นี้" นายธีริทธิ์ กล่าวในตอนท้าย
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit