ศ.ดร.อมร พิมานมาศ ในฐานะนายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างไทย เปิดเผยว่าน้ำท่วมที่เกิดขึ้นในบางพื้นที่อาจเป็นน้ำที่ไหลหลากและมีความเร็วของกระแสน้ำจึงอาจเกิดแรงปะทะกับโครงสร้างและทำให้โครงสร้างเกิดความเสียหายขึ้นโดยแรงปะทะจากน้ำที่ไหลแรง อาจทำให้โครงสร้างโย้ เอียง หรือเคลื่อนตัวหลุดจากฐาน ซึ่งจะทำให้เกิดการแตกร้าวตามมา ศ.ดร. อมร พิมานมาศ กล่าวว่า ความเสียหายของโครงสร้างอาคารดังกล่าวอาจเป็นอันตรายต่อการรับน้ำหนักของโครงสร้างดังนั้นจึงแนะนำให้ประชาชนเจ้าของอาคารตรวจสอบอาคารของตนเองเป็นเบื้องต้นก่อนดังนี้
1. ลักษณะรูปร่างภายนอกของอาคาร ให้ตรวจสอบด้วยสายตัวว่ามีการ ทรุด เอียง โย้หรือไม่
2. กำแพงรั้ว หรือ ผนังบ้าน ให้ตรวจสอบว่ามีการทรุด เอียง ล้ม แตกร้าวที่รอยร้าวทำมุมเอียง 45 องศา
3. พื้นบ้าน ให้ตรวจสอบว่ามีการแอ่นตัว แตกร้าว เนื้อคอนกรีตกะเทาะ ชำรุดเสียหาย
4. ชิ้นส่วนโครงสร้างต่างๆ เช่น คาน เสา ให้ตรวจสอบรอยแตกร้าวที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกิดขึ้นที่บริเวณปลายคาน และ โคนเสา ซึ่งหากพบรอยแตกร้าวที่ทำมุมเอียง 45 องศา จะเป็นรอยร้าวที่อันตราย
5. ตอม่อ ให้ตรวจสอบว่าตอม่อมีการแตกร้าวในเสาตอม่อ หรือมีการกะเทาะของเนื้อคอนกรีตหลุดออกจนเห็นเหล็กเสริม ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อโครงสร้าง
6. ฐานราก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากเป็นฐานรากแผ่ที่ฐานวางอยู่บนพื้นดินโดยตรง ไม่มีเสาเข็มรองรับ ให้ตรวจสอบว่า ดินใต้ฐานรากถูกน้ำชะออกไปหรือไม่ ซึ่งจะเห็นฐานรากลอยจากพื้นเป็นอันตรายเพราะอาจทำให้ฐานรากทรุดตัวตามมา
7. ข้อต่อระหว่างส่วนต่างๆ ของโครงสร้าง เช่น ข้อต่อระหว่างคานกับเสา ให้ตรวจสอบว่ามีการแตกร้าว หลุดหรือแยกออกจากกันหรือไม่ หากพบการหลุดของข้อต่ออาจทำให้โครงสร้างพังถล่มตามมาได้
ศ.ดร. อมร พิมานมาศ กล่าวว่า หากตรวจพบว่าโครงสร้างได้รับความเสียหายข้างต้น ไม่ควรนิ่งนอนใจ เพราะอาจเป็นอันตรายได้ ควรรีบปรึกษาวิศวกรเพื่อหาทางแก้ไขต่อไป ในส่วนของสมาคมวิศวกรโครงสร้างไทยจะร่วมมือกับมูลนิธินายช่ายไทยใจอาสา เพื่อให้คำแนะนำพื้นฐานที่จำเป็นแก่ประชาชนต่อไป