"เด็กเล่นอิสระ" ความสุขพื้นฐานสู่การพัฒนาสมอง

02 Oct 2019
สสส. จับมือภาคีเครือข่าย จัดงาน "Play Day วันเล่นสนุก เล่นเปลี่ยนโลก" หนุนเด็กไทยเล่นอิสระ เติมเต็มสิ่งที่กำลังขาดหายในสังคมยุคดิจิทัล ที่มุ่งให้เด็กเรียนเก่ง แต่ขาดช่วงเวลาแห่งความสุข แนะพ่อแม่เปิดโอกาสให้ลูกได้เล่นอย่างอิสระ ได้พัฒนาตนเองในทุกๆ ด้าน สร้างความสุขพื้นฐานชีวิตเพื่อให้เด็กเติบโตอย่างมีคุณภาพ
"เด็กเล่นอิสระ" ความสุขพื้นฐานสู่การพัฒนาสมอง

เพราะการเล่นสำคัญ ขอเพียงผู้ใหญ่เปิดโอกาสให้เด็กได้เล่นอย่างอิสระ ได้ปลดปล่อยจินตนาการ เพิ่มเติมประสบการณ์ และพัฒนาทักษะทางอารมณ์และสังคม โดยที่ผู้ใหญ่ไม่ต้องคาดหวังอะไร เพียงดูแลเรื่องความปลอดภัย ก็จะได้รู้ว่าการเล่นมหัศจรรย์เกินกว่าที่เราคาดคิด

นี่เป็นแนวคิดหลักในการจัดงาน "Play Day วันเล่นสนุก เล่นเปลี่ยนโลก" ที่มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก (มพด.) ร่วมกับเครือข่ายการเล่นทั้งภาครัฐและเอกชน ได้แก่ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณะสุข สาธารณสุขศูนย์ 5 สำนักงานเขตปทุมวัน คณะครุศาสตร์ สาขาวิชาศิลปศึกษา จุฬาฯ สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) กลุ่มไม้ขีดไฟ มูลนิธิเพื่อนเยาวชนเพื่อการพัฒนา (มยพ.) เครือข่ายครูมหัศจรรย์ We Are Happy มูลนิธิเมล็ดฝัน และเครือข่ายรองเมืองเรืองยิ้ม ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกันจัดขึ้น เมื่อเร็วๆ นี้ ณ ลานอเวนิว โซน A MBK Center กรุงเทพฯโดยงานดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อขยายแนวคิดการเล่นอิสระ และขับเคลื่อนการส่งเสริมสิทธิการเล่นในประเทศไทย เปิดโอกาสให้เด็กได้เล่นอิสระมากขึ้น ซึ่งกิจกรรมในงานจัดมุมเล่นต่างๆ ที่ใช้ธรรมชาติ วัสดุสิ่งของหลากหลาย ของรีไซเคิล เครื่องเล่น จำนวน 6 โซน ประกอบด้วย 1.โซนประดิษฐ์ คิดค้น MBK SPIRIT ชวนสนุกกับของเล่นรีไซเคิล 2.โซนเสริมสร้างความมั่นใจวัยซน 3.โซน Loose part 4.โซนเล่น ATR SPACE 5.โซน Floor Play และ 6.โซนมุมทราย

นางทิชา ณ นคร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิฯ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ในฐานะผู้ให้การสนับสนุน และขับเคลื่อน ในครั้งนี้ กล่าวว่า สสส. เล็งเห็นคุณค่าความสำคัญเด็ก เยาวชนและครอบครัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่สื่อดิจิทัลล้ำหน้าส่งผลให้การเล่นของเด็กกำลังจะหายไป ถ้าไม่มีใครสักกลุ่มทำหน้าที่เป็นกำแพงเหล็ก การเล่นอย่างอิสระ เล่นอย่างธรรมชาติจะถูกลดคุณค่า ทั้งที่การเล่นเป็นคุณของมนุษยชาติ เราไม่อาจเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพได้โดยที่เราไม่มีโอกาสได้เล่นอย่างอิสระ

"พ่อแม่เป็นพลังสำคัญที่จะชวนลูกเล่นแต่ก็มีข้อจำกัด ดังนั้นต้องมีคนกลุ่มหนึ่งทำหน้าที่เป็นลมใต้ปีกให้กลุ่มพ่อแม่ ทุกห่วงโซ่หากทำหน้าที่ร่วมกันเช่นนี้ไปเรื่อยๆ โอกาสที่จะปกป้องเด็กๆ ให้มีต้นทุนชีวิตเรื่องการเล่นจะดำเนินต่อไปไม่ว่าสื่อดิจิทัลจะก้าวล้ำไปขนาดไหน การที่มีเครือข่ายลุกขึ้นมาทำเรื่องนี้โดยมีสสส.เป็นผู้สนับสนุน เป็นการทำภารกิจที่สมบูรณ์ที่สุดในยุคที่สื่อดิจิทัลเข้ามาคุกคามชีวิตเด็กๆ งานนี้เหมือนปลูกเมล็ดพันธุ์ ซึ่งจะเห็นผลเมื่อเด็กเหล่านี้เติบโตเป็นผู้ใหญ่"

ด้าน น.ส.ประสพสุข โบราณมูล ผู้จัดการฝ่ายคุ้มครองและพัฒนาเด็ก มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก (มพด.) กล่าวถึงความหมายของการเล่นอิสระว่า เป็นการเล่นที่เด็กได้ออกแบบเอง ได้คิดค้นวิธีเล่นกับสิ่งของต่างๆ ที่อยู่รอบตัว และการเล่นเป็นพื้นฐานชีวิตของเด็ก เด็กจะมีความสุขเมื่อได้เล่น จึงเป็นการเปิดทางให้เด็กได้พัฒนาตนเองในทุกๆ ด้าน ผู้ปกครองจึงควรเปิดโอกาสให้เด็กๆได้เล่นอย่างอิสระขณะที่ น.ส.เข็มพร วิรุณราพันธ์ ผู้จัดการสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) กล่าวถึงความสำคัญของการที่เด็กได้มีโอกาสเล่น ว่า นอกจากเป็นการเสริมสร้างความสุขและพัฒนาการของเด็กแล้ว ยังมีส่วนช่วยในการเปลี่ยนโลกใบนี้ด้วย เพราะการเล่นสอนให้เด็กรู้จักการอยู่ร่วมกัน รู้จักจัดการเมื่อเกิดความขัดแย้ง หลายประเทศจึงเรียกร้องให้เด็กมีโอกาสได้เล่นอย่างอิสระ มากกว่าการเรียนการแข่งขันกัน

"นักคิดหลายประเทศพบว่า ถ้าเด็กได้เล่นมากขึ้น โลกนี้จะมีสันติภาพ แล้วก็มีงานวิจัยที่เขาศึกษาและพบว่า ความรุนแรง อาชญากรรมหรือปัญหาสังคมต่างๆ มันเริ่มขึ้นเพราะว่าเด็กมีโอกาสได้เล่นน้อยลง คำว่าโอกาสมีความสำคัญมากๆ เพราะตอนนี้สังคมได้พรากโอกาสในการเล่นของเด็กไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการแข่งขันที่สูง เด็กๆ ต้องเรียนหนัก พ่อแม่คาดหวังว่าลูกจะต้องเก่ง

เวลาไปสัมมนาเรื่องการเล่นระดับสากล ซึ่งมีคนหลายอาชีพได้กล่าวไว้ว่า ถ้าเด็กได้เล่น เด็กจะรู้จักการอยู่ร่วมกัน หากเกิดความขัดแย้งต้องทำอย่างไร รู้จักการแก้ไขปัญหา การเล่นจะทำให้เด็กได้รู้จักตัวตนที่แท้จริง ฉะนั้นนักคิดหลายประเทศจึงยืนยันว่าถ้าเด็กได้เล่นมากขึ้น โลกจะมีสันติภาพ" ผู้จัดการสถาบันสื่อเด็กและเยาวชนกล่าว

ในปัจจุบันเรื่องการเล่นในประเทศไทยมีปัจจัยที่ส่งผลกระทบหลายอย่างเช่น 1.ขาดความตระหนักถึงความสำคัญของการเล่นเพื่อสร้างสุขภาวะเด็กและคนในสังคม 2.ขาดการออกแบบพื้นที่เล่นหรือการพัฒนาสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาเด็ก 3.ขาดการจัดการดูแล เรื่องการเล่นและกิจกรรมที่เหมาะสม 4.ขาดพลังการขับเคลื่อนนโยบายส่งเสริมสิทธิการเล่นของเด็ก 5.ขาดกลไกผู้ดูแลการเล่นที่จะเป็นพลังและเป็นเครือข่ายในการขับเคลื่อนนโยบาย

การจัดกิจกรรม "วันเล่น" (PLAY DAY) หากผู้ปกครองเข้าใจสาระสำคัญ เชื่อว่าเด็กไทยจะไม่ได้เรียนเก่งเพียงอย่างเดียว แต่จะใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างมีคุณภาพอีกด้วย

HTML::image( HTML::image( HTML::image(