กระทรวงเกษตรฯ ร่วมประชุมแลกเปลี่ยนการพัฒนาข้าวเพื่อความยั่งยืนบนเวทีนานาชาติ มุ่งขับเคลื่อนยกระดับการผลิตและงานวิจัยข้าวอย่างต่อเนื่อง พร้อม โชว์ข้าวพันธุ์ กข.43 ผลสำเร็จชาวนาสุพรรณฯ

02 Oct 2019
วันนี้ (2 ต.ค. 2562) นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวในโอกาสเป็นประธานพิธีเปิดการประชุมและนิทรรศการข้าวเพื่อความยั่งยืน ครั้งที่ 2 ภายใต้หัวข้อ การก้าวข้ามไปสู่ข้าวเพื่อความยั่งยืน "Business Unusual: A cross-cutting towards sustainable rice" ณ ศูนย์ประชุมแห่งสหประชาชาติ (UN) ประเทศไทย พร้อมด้วย ดร.วนิดา กำเนิดเพ็ชร ผู้อำนวยการสำนักการเกษตรต่างประเทศ โดยมี ดร.วิน เอลลิส ผู้ประสานงานแพลตฟอร์มข้าวเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Rice Platform: SRP) ประจำประเทศไทย กล่าวรายงานวัตถุประสงค์การจัดงาน และ นายสุริยัน วิจิตรเลขการ สังกัดองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) กล่าวถึงความมีส่วนร่วมการพัฒนาข้าวอย่างยั่งยืนในประเทศต่างๆ ว่า ข้าว เป็นสินค้าเกษตรที่มีความสำคัญกับประเทศไทยและยังเป็นอาหารสำหรับเลี้ยงประชากรโลกกว่า 3,500 ล้านคน โดยประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกข้าวประมาณ 70 ล้านไร่ หรือเกือบ 50% ของพื้นที่ทำการเกษตร มีเกษตรกรผู้ปลูกข้าวเกือบ 4 ล้านครัวเรือน ทำให้สินค้าข้าวเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของไทย โดยมีมูลค่าส่งออกประมาณ 5.8 พันล้านเหรียญสหรัฐต่อปี อย่างไรก็ตาม ภาคเกษตรต้องเผชิญกับความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภัยธรรมชาติ อุทกภัย ภัยแล้ง โรคและแมลงศัตรูพืชระบาด ซึ่งทำให้ผลผลิตข้าวเกิดความเสียหาย นอกจากนี้ เกษตรกรรายย่อยยังต้องเผชิญกับความผันผวนของราคาข้าวในตลาดโลก ต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ส่งผลให้รายได้และชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรลดลง

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้มีนโยบายและการดำเนินการเกี่ยวกับระบบการผลิตข้าวอย่างยั่งยืน โดยการกำหนดยุทธศาสตร์ข้าวไทย พ.ศ. 2560-2564 มุ่งเน้นให้ประเทศไทยเป็นผู้นำในการพัฒนาระบบการค้าข้าว โดยใช้กลไกการตลาดอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถสร้างความสมดุลให้กับทุกภาคส่วน และเป็นแหล่งผลิตข้าวที่มีประสิทธิภาพและมีคุณภาพข้าวเป็นเลิศ ได้รับความไว้วางใจ และเป็นที่ต้องการของตลาด รวมทั้งชาวนาต้องมีความเป็นอยู่ที่ดี องค์กรชาวนามีความเข้มแข็งและมั่นคง ซึ่งจะช่วยยกระดับคุณภาพข้าวของไทยให้สูงขึ้น เป็นที่ยอมรับของตลาดทั้งในและนอกประเทศ ผ่านโครงการที่สำคัญต่างๆ อาทิ โครงการแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร วัตถุประสงค์เพื่อสร้างความสมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทานข้าว และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าวและการตลาดอย่างครบวงจรตลอดห่วงโซ่การผลิต โครงการเกษตรแปลงใหญ่ เพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรรวมกลุ่มและบริหารจัดการร่วมกันในด้านการผลิตและการตลาดของสินค้าเกษตรที่สำคัญ ตลอดจนนโยบายเกษตรปลอดภัยและเกษตรอินทรีย์ เพื่อส่งเสริมการผลิตข้าวให้ได้ตามมาตรฐานสากล และเป็นที่ยอมรับของตลาดทั้งในและต่างประเทศ มีคุณภาพ ความปลอดภัยต่อผู้ผลิต ผู้บริโภค และรักษาสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังมีความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ เอกชน เกษตรกร และองค์การระหว่างประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับความร่วมมือเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) อาทิ โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดภาวะโลกร้อนจากการทำนาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Nationally Appropriate Mitigation Action [NAMA] Facility) ร่วมกับประเทศเยอรมนี สหราชอาณาจักร เดนมาร์ก และสหภาพยุโรป และโครงการส่งเสริมการเพาะปลูกข้าวอย่างยั่งยืน ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวรายย่อยของไทย ใน จ.อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด และสุรินทร์ โดยใช้มาตรฐาน Sustainable Rice Platform (SRP) ร่วมกับหน่วยงาน GIZ, Olam และ MARS เป็นต้น จากความร่วมมือและการเป็นหุ้นส่วนระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน เกษตรกร องค์การระหว่างประเทศ และภาคประชาสังคม มีความสำคัญยิ่งที่จะส่งเสริมและสนับสนุนให้การทำการเกษตรอย่างยั่งยืนประสบผลสำเร็จ ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ยินดีที่จะร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการดำเนินความร่วมมือเพื่อการผลิตข้าวอย่างยั่งยืน

"สำหรับด้านการวิจัยและพัฒนา สมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงทุ่มเทและให้ความสำคัญกับงานด้านข้าวมาโดยตลอด และทรงมีพระราชดำริให้ดำเนินการเกี่ยวกับการวิจัยและพัฒนาข้าวในโครงการส่วนพระองค์ โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ รวมทั้งทรงสนับสนุนการวิจัยข้าว โดยในโอกาสที่ทรงครองราชย์ครบ 70 ปี และทรงงานด้านข้าวมาอย่างต่อเนื่อง คณะรัฐมนตรีจึงมีมติเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2559 ให้เฉลิมพระเกียรติล้นเกล้ารัชกาลที่ 9 เป็นบิดาแห่งการวิจัยและพัฒนาข้าวไทย ตลอดจนกระทรวงเกษตรฯ ได้พัฒนาการวิจัยข้าวอย่างต่อเนื่อง จากการดำเนินการก่อตั้งศูนย์ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว 30 ศูนย์ และศูนย์วิจัยข้าว 27 ศูนย์ เพื่อให้ได้ข้าวที่มีคุณภาพ พร้อมกับได้นำหลักเศรษฐกิจพอเพียงของรัชกาลที่ 9 มาปรับใช้ในการดำเนินงาน เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของเกษตรกร" รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าว

ทั้งนี้ การประชุมดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่ดี และแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการตลาด นโยบาย กลไกทางการเงิน เทคโนโลยี นวัตกรรมที่เปลี่ยนผ่านและยกระดับการผลิตข้าวอย่างยั่งยืน รวมทั้งจัดแสดงความสำเร็จของประเทศในการดำเนินการพัฒนาระบบการผลิตข้าวแบบยั่งยืนที่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมและเข้าร่วมชมนิทรรศการกว่า 300 คน จาก 150 องค์กรใน 30 ประเทศ ประกอบด้วย ผู้แทนระดับสูงจากหน่วยงานภาครัฐ ผู้มีส่วนร่วมตลอดห่วงโซ่อุปทาน ได้แก่ เกษตรกร ผู้ประกอบการแปรรูป ผู้บริโภค และตลาด รวมถึงหน่วยงานวิจัยและพัฒนา เพื่อร่วมกันหารือบทบาทแนวทางการสนับสนุนข้าวเพื่อความยั่งยืนในอนาคตต่อไป

ในการนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบข้าวพันธุ์ กข.43 ซึ่งผลิตโดยกลุ่มเกษตรกรนาแปลงใหญ่ ตำบลเดิมบาง อำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งเกษตรกรกลุ่มดังกล่าวเป็นกลุ่มนำร่องภายใต้โครงการ Thai Rice NAMA ที่ได้มีการปรับวิธีคิดในการทำนา โดยมุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ให้สามารถลดต้นทุนการผลิต และพัฒนาคุณภาพข้าว ให้แก่ผู้เข้าร่วมประชุม พร้อมทั้งเยี่ยมชมนิทรรศการต่างๆ ภายในงาน