สสส. เปิดเวที “สุดยอดผู้นำชุมชนท้องถิ่นวาระสร้างสุขภาวะ13 กลุ่มประชากร” พบ 10 ปัญหากระทบสุขภาวะของชุมชน ต้องเร่งแก้ไขหนี้สินครัวเรือน-ภัยพิบัติ-จัดการอาหาร ชี้ภาวะผู้นำช่วยได้ เร่งบ่มเพาะสุดยอดผู้นำท้องถิ่นทั่วไทยเกราะป้องกันช่วยฟื้นฟูท้องถิ่นอย่างยั่งยืน

03 Oct 2019
เมื่อวันที่ 3 ต.ค. ที่ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี สำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย และศูนย์วิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน (ศวช.) คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดเวที "สุดยอดผู้นำชุมชนท้องถิ่นวาระสร้างสุขภาวะ13 กลุ่มประชากร" โดยมี องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรชุมชน ผู้นำชุมชนท้องถิ่น นักวิชาการ ร่วมงานเกือบ 4,000 คน
สสส. เปิดเวที “สุดยอดผู้นำชุมชนท้องถิ่นวาระสร้างสุขภาวะ13 กลุ่มประชากร” พบ 10 ปัญหากระทบสุขภาวะของชุมชน ต้องเร่งแก้ไขหนี้สินครัวเรือน-ภัยพิบัติ-จัดการอาหาร ชี้ภาวะผู้นำช่วยได้ เร่งบ่มเพาะสุดยอดผู้นำท้องถิ่นทั่วไทยเกราะป้องกันช่วยฟื้นฟูท้องถิ่นอย่างยั่งยืน

น.ส.ดวงพร เฮงบุณยพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สสส. กล่าวว่า การจัดงานครั้งนี้เพื่อกระตุ้นกลไกการทำงานในพื้นที่ พร้อมเสริมศักยภาพผู้นำท้องถิ่นเพื่อสร้างสุขภาวะ 13 กลุ่มประชากร เปิดโอกาสให้ผู้นำในท้องถิ่นแลกเปลี่ยนเรียนรู้นวัตกรรมการสร้างเสริมชุมชนเข้มแข็งในพื้นที่ และขยายแนวคิดเพื่อสร้างเครือข่ายร่วมทำงานสร้างเสริมสุขภาวะชุมชนทั่วประเทศ จากข้อมูลระบบฐานข้อมูลตำบล จาก 2,148 อปท. ครอบคลุม 2.4 ครัวเรือน ประชากร 8.8 ล้านกว่าคน ที่เก็บข้อมูลทุกมิติของชุมชน ทั้งสุขภาพ เครษฐกิจ ทำให้วิเคราะห์พบปัญหาที่ชุมชนท้องถิ่นได้รับผลกระทบ 10 ประเด็นสุขภาวะ ดังนี้ 1.การพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ ครัวเรือนมีผู้สูงอายุ 52.8% ในจำนวนนี้ อยู่คนเดียวลำพัง 11.3% 2.การดูแลเด็กปฐมวัยในชุมชน 3.การเฝ้าระวังความรุนแรงในครอบครัว พบว่า ครัวเรือนมีหนี้สิน 51.4% วัยทำงานว่างงาน 6.1% ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดปัญหาความรุนแรงในครอบครัว 4.การจัดการขยะ แม้ชุมชนจัดการขยะมากถึง 86.1% แต่ยังมีปัญหาเรื่องบ่อขยะ ปัญหาจัดการขยะอินทรีย์ 5.การจัดการภัยพิบัติ มีครัวเรือน 34.7% ได้รับผลกระทบภัยพิบัติธรรมชาติโดยเฉพาะปัญหาภัยแล้ง และน้ำท่วมมาก

น.ส. ดวงพร กล่าวต่อว่า 6.การดูแลสุขภาพชุมชน พบผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 7% ป่วยโรคความดันโลหิตสูง และเบาหวานมากที่สุด ซึ่งที่ผ่านมาภาครัฐเน้นการอบรม อสม. แต่ไม่เพียงพอ จึงต้องทำความรอบรู้สุขภาพไปถึงครอบครัวให้ได้ด้วย 7.การจัดการอาหารชุมชน มีการทำเกษตรมากถึง 97.1% ซึ่งเป็นฐานที่เลี้ยงคนทั้งประเทศได้ แต่จะทำอย่างไรให้ผลผลิตที่ออกมาปลอดภัย ปลอดสารเคมี เพราะพบการใช้สารคมีสูงถึง 12.5% 8.การควบคุมการบริโภคยาสูบและสารเสพติด มีคนสูบบุหรี่ 6.8% 9ลดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และอุบัติเหตุจราจร มีคนที่ดื่มประจำ 7.5% ดื่มแล้วขับ 6.9% และ 10. เศรษฐกิจชุมชน จะสำรวจต่อไปในเครือข่าย ทั้งนี้สสส. ได้ร่วมกับเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ 3,131 แห่งทั่วประเทศ ในการพัฒนาศักยภาพชุมชนทั้งการสร้างองค์ความรู้ สร้างกลไกการกระบวนการทำงาน สร้างเครือข่ายการทำงาน เพื่อยกระดับให้ชุมชนมีสุขภาวะที่ดีทุกมิติ โดยน้อมนำศาสตร์ของพระราชา หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงนำมาเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนายุทธศาสตร์การทำงานเพื่อการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น

ด้านนายธวัชชัย ฟักอังกูร ประธานกรรมการบริหารแผน คณะที่ 3 สสส. กล่าวว่า สสส. ให้ความสำคัญกับการพัฒนาภาวะผู้นำ เพราะผู้นำคือ คนที่คนยอมรับและคนเชื่อถือ ทั้งเรื่องความคิด คำพูด การกระทำ ซึ่งภาวะผู้นำเรียนรู้กันได้ สสส. จึงมุ่งฝึกบุคลากรของชุมชนท้องถิ่นให้มีภาวะความเป็นผู้นำ เพื่อพัฒนาส่งเสริมสุขภาวะที่ดีในพื้นที่ได้ และยกระดับให้เป็นสุดยอดผู้นำคือ คนที่สร้างผู้นำ โดยความเป็นผู้นำประกอบด้วย 10 ประการ ดังนี้ 1.คำนึงประโยชน์ส่วนรวม 2.ตั้งใจเอาใจใส่รับผิดชอบต่อหน้าที่ 3.ซื่อสัตย์สุจริตโปร่งใส ตรวจสอบได้ 4.รักษาไว้ซึ่งคุณธรรม มีจริยธรรมไม่เลือกปฏิบัติ 5.คิดริเริ่มสร้างสรรค์ ไม่หยุดนิ่ง 6.ทำงานร่วมกับทุกฝ่ายทุกภาคส่วน 7.เรียนรู้และพัฒนาด้วยข้อมูลที่เป็นจริง 8.ประพฤติตนให้เป็นที่ยอมรับ 9.ร่วมสร้างผู้นำชุมชนท้องถิ่นรุ่นใหม่ และ10. สร้างเครือข่ายในหลากหลายลักษณะ

ทั้งนี้ ประชากรกลุ่มเฉพาะ 13 กลุ่ม ประกอบด้วย เด็ก 0-2 ปี, เด็ก 3-5 ปี, เด็ก 6-12 ปี, เด็กและเยาวชน, หญิงตั้งครรภ์, วัยทำงาน, ผู้สูงอายุ, ผู้ติดเชื้อ, ผู้ป่วยจิตเวช, ผู้ป่วยเรื้อรัง, ผู้ป่วยระยะสุดท้าย, คนพิการ และผู้ต้องการความช่วยเหลือ

HTML::image( HTML::image( HTML::image(