สภาวิศวกร เปิดรับสมัครวิศวกรอาสา ลุยช่วยฟื้นฟู จ. อุบลราชธานีหลังน้ำลด พร้อมเชิญชวนหน่วยงานภาครัฐ เอกชน สถานศึกษา ดีเดย์ลงพื้นที่ 9-12 ตุลาคม

01 Oct 2019
- สภาวิศวกร เปิดสายด่วน 1303 เพื่อผู้ประสบภัย จ.อุบลราชธานี รับแจ้งพิกัดที่ต้องการความช่วยเหลือจากทีมวิศวกรอาสาเข้าตรวจสอบความเสียหายโครงสร้างบ้านเรือน ชี้ 5 สัญญาณเสี่ยง หากพบต้องรีบแจ้งผู้เชี่ยวชาญ เพราะอาจอันตรายถึงแก่ชีวิต
สภาวิศวกร เปิดรับสมัครวิศวกรอาสา ลุยช่วยฟื้นฟู จ. อุบลราชธานีหลังน้ำลด พร้อมเชิญชวนหน่วยงานภาครัฐ เอกชน สถานศึกษา ดีเดย์ลงพื้นที่ 9-12 ตุลาคม

สภาวิศวกร เปิดรับสมัคร "วิศวกรอาสา" เชิญชวนหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษา ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการฟื้นฟูพื้นที่ประสบเหตุอุทกภัย จ.อุบลราชธานี ช่วยเหลือชาวบ้านหลังน้ำลด ดีเดย์ 9-12 ตุลาคมนี้ ลงพื้นที่พร้อมอุปกรณ์ครบมือ เร่งเข้าตรวจสอบความเสียหายโครงสร้างทางวิศวกรรม บ้านเรือนประชาชน ระบบไฟฟ้า การสื่อสาร เส้นทางคมนาคม ระบบชลประทาน อ่างเก็บน้ำที่เสียหายจากกระแสน้ำ ซึ่งเปิดให้ลงทะเบียนทางเว็บไซต์ของสภาวิศวกร www.coe.or.th ได้แล้วตั้งแต่วันนี้ พร้อมเปิดสายด่วน 1303 เพื่อผู้ประสบภัย จ.อุบลราชธานี รับแจ้งเหตุทางวิศวกรรมสำหรับประชาชนที่ต้องการให้ทีมวิศวกรอาสา เข้าไปตรวจสอบความเสียหายโครงสร้างทางวิศวกรรม ชี้ 5 สัญญาณเสี่ยง ได้แก่ 1. รอยร้าว การทรุดตัว 2. ความเสียหายของสายไฟฟ้าอาจทำให้เกิดไฟรั่วไฟช็อต 3. แก็สรั่วในห้องครัว พึงระวังพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดประกายไฟ 4. รอยแตกหรือรั่วของท่อน้ำ ไม่ควรนำมาดื่มหรือใช้ประกอบอาหาร 5. กรณีที่มีห้องใต้ดิน ให้ระวังแรงดันจากภายนอกอาจทำให้เกิดรอยแตกร้าวของผนัง พร้อมเตือนหากพบสัญญาณเสี่ยงดังกล่าว อย่าประมาท เพราะอาจอันตรายถึงแก่ชีวิต หากพบให้รีบแจ้งผู้เชี่ยวชาญทันที

ติดตามข่าวสารและความเคลื่อนไหวกิจกรรมของสภาวิศวกร ได้ที่เว็บไซต์ www.coe.or.th และสายด่วน 1303

ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นายกสภาวิศวกร กล่าวว่า สภาวิศวกรในฐานะสภาวิชาชีพด้านวิศวกรรมของประเทศ มีความกังวลต่อสวัสดิภาพและความปลอดภัยของประชาชนในพื้นที่ประสบอุทกภัย จ.อุบลราชธานี โดยเฉพาะช่วงที่ระดับน้ำเริ่มลดลง ส่งผลต่อการตัดสินใจกลับเข้าไปในพื้นที่ เพราะเป็นห่วงบ้านเรือนของตนเอง ซึ่งถือเป็นช่วงเวลาที่น่าเป็นห่วงมากที่สุด เพราะที่ผ่านมาพบว่า ช่วงที่ระดับน้ำเริ่มลดลงมักเกิดอุบัติเหตุจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ที่ต้องอาศัยผู้ที่มีความชำนาญในการประเมินความเสี่ยง จึงได้เปิดรับสมัคร "วิศวกรอาสา" เตรียมลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย คลายทุกข์ให้กับชาวบ้าน จ.อุบลราชธานี ที่จะมีส่วนช่วยให้ภาพรวมโครงสร้างทางวิศวกรรมกลับมาพร้อมใช้งาน มีความปลอดภัย และคืนวิถีชีวิตให้กับชาว จ.อุบลราชธานี โดยเร็วที่สุด

สำหรับการเปิดรับสมัคร "วิศวกรอาสา" สภาวิศวกร ขอเชิญชวนหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษา ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ความรู้ความสามารถด้านวิศวกรรม ช่วยสำรวจและฟื้นฟูโครงสร้างทางวิศวกรรมหลังน้ำลด โดยวิศวกรหรือหน่วยงานที่สนใจสามารถลงทะเบียนเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของทีม "วิศวกรอาสา" ได้แล้วตั้งแต่วันนี้ ทางเว็บไซต์ของสภาวิศวกร www.coe.or.th ซึ่งสภาวิศวกร จะแจ้งเตือนให้วิศวกรและหน่วยงานที่สมัครเป็นทีมวิศวกรอาสา เข้าร่วมการอบรมเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนการลงพื้นที่ และจะมีการจัดทีมตามความเชี่ยวชาญของแต่ละบุคคล ซึ่งจะพิจารณาจากความจำเป็นของแต่ละพื้นที่ รวมถึงวางแผนสำหรับการดำเนินงาน และการวางเป้าหมายของแต่ละภารกิจให้ง่ายต่อการติดตามความก้าวหน้า โดยได้กำหนดการลงพื้นที่ในระหว่างวันที่ 9-12ตุลาคม 2562

"การลงพื้นที่ของทีมวิศวกรอาสา ถือเป็นความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษา โดยมีสภาวิศวกรเป็นหน่วยงานกลางในการจัดเตรียมแผน โดยจะแบ่งเป็น 2 ระยะ คือ ระยะเร่งด่วน และระยะยาว โดยระยะเร่งด่วนจะพิจารณาสำรวจโครงสร้างของระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน อาทิ ระบบไฟฟ้า การสื่อสาร เส้นทางคมนาคม ระบบชลประทาน อ่างเก็บน้ำที่เสียหายจากกระแสน้ำ เพื่อกำหนดแผนการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการจัดทีมเข้าให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ที่น้ำลดจนเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว โดยเน้นการตรวจสอบโครงสร้างบ้านเรือนที่อาจเสียหายจากน้ำท่วมสูงเป็นเวลานาน และบางส่วนอาจเสียหายจากกระแสน้ำ ซึ่งทีมวิศวกรอาสาจะมีบทบาทสำคัญในการช่วยประเมินความเสี่ยงให้กับประชาชน ก่อนเข้าไปอาศัยในบ้านเรือน ส่วนในระยะยาว สภาวิศวกรจะชุดเฉพาะกิจเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ เกี่ยวกับการพัฒนาโมเดลแก้มลิง และระบบท่อใต้ดินในพื้นที่ จ.อุบลราชธานี ซึ่งจะนำผลการศึกษาที่ได้ นำเสนอท้องถิ่นเพื่อการนำไปใช้ประโยชน์ในการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน" ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ กล่าว

สำหรับสถานการณ์อุทกภัย จ.อุบลราชธานี ขณะนี้ระดับน้ำในหลายอำเภอเริ่มลดลงอย่างต่อเนื่อง สำหรับประชาชนที่กำลังประเมินสถานการณ์เพื่อตัดสินใจกลับเข้าไปอาศัยในบ้านเรือนของตนเอง มีวิธีในการสังเกตปัจจัยเสี่ยง 5 ข้อ ดังนี้ 1. ตรวจสอบความเสียหายของโครงสร้าง ตัวบ้าน ระเบียง หลังคา ประตู หน้าต่าง หากมีรอยร้าว มีคราบสนิมเกาะบริเวณเสา รวมถึงการทรุดตัว 2. ประเมินความเสียหายของสายไฟฟ้า ซึ่งควรตัดระบบไฟฟ้าที่จ่ายเข้าบ้าน เนื่องจากความชื้นที่สะสมในโครงสร้างอาจเหนี่ยวนำกระแสไฟ ทำให้เกิดไฟรั่ว ไฟช็อตได้ 3. ตรวจตราบริเวณห้องครัว โดยเฉพาะถังแก็สหากเกิดรอยรั่วจะได้กลิ่นในทันที ซึ่งควรปิดวาล์วให้สนิท เปิดประตูหน้าต่างเพื่อให้อากาศถ่ายเท ซึ่งพึงระวังพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดประกายไฟ เช่น การสูบบุหรี่ หรือไฟเช็ค 4. หารอยแตกหรือรั่วของท่อน้ำ หากพบจุดที่มีปัญหาให้ปิดวาล์วที่มิเตอร์น้ำ และไม่ควรนำมาดื่มหรือใช้ประกอบอาหาร จนกว่าจะแน่ใจว่าน้ำจากก๊อกมีความสะอาดและปลอดภัย 5. กรณีที่มีห้องใต้ดิน ให้ระบายน้ำออกจากห้องใต้ดินอย่างช้าๆ

เนื่องจากแรงดันจากภายนอกอาจทำให้เกิดรอยแตกร้าวของผนังได้ ซึ่งหากพบสัญญาณดังกล่าว อย่าประมาท เพราะอาจอันตรายถึงแก่ชีวิต หากให้รีบแจ้งเจ้าผู้เชี่ยวชาญโดยเร็วที่สุดทั้งนี้ การกลับเข้าไปอาศัยในบ้านเรือนหลังน้ำลด ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นอันดับแรก หากไม่มั่นใจในความปลอดภัยของโครงสร้าง สามารถขอความช่วยเหลือจากวิศวกรผู้เชี่ยวชาญ โดยสภาวิศวกรได้เปิดสายด่วนเพื่อผู้ประสบภัย จ.อุบลราชธานี ที่หมายเลข 1303 เพื่อเป็นช่องทางในการรับแจ้งจากประชาชนที่ต้องการความช่วยเหลือจากทีมวิศวกรอาสา ให้เข้าไปตรวจสอบความเสียหายโครงสร้างทางวิศวกรรม โดยสามารถโทรแจ้งขอความช่วยเหลือได้ตั้งแต่ในวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 08.00-16.00 น. ซึ่งสภาวิศวกรพร้อมที่จะเดินหน้าส่งต่อความช่วยเหลือจากทีมวิศวกรผู้เชี่ยวชาญ โดยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ไปยังผู้ประสบภัยอย่างเต็มความสามารถ และเป็นที่พึ่งของประชาชนในประเทศได้

ติดตามข่าวสารและความเคลื่อนไหวกิจกรรมของสภาวิศวกร ได้ที่เว็บไซต์ www.coe.or.th และสายด่วน1303

HTML::image( HTML::image( HTML::image(