เยาวชนไทยคว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับสอง จากเวที ASEAN Data Science Explorers ระดับภูมิภาค ประจำปี 2562 จากการนำเสนอโครงการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเพศ

16 Oct 2019
มูลนิธิอาเซียน เอสเอพี และ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ประกาศผลผู้ได้รับรางวัลในรอบชิงชนะเลิศการแข่งขัน ASEAN Data Science Explorers หรือ ASEANDSE ระดับภูมิภาค ประจำปี 2562 ได้แก่ ทีมจากประเทศเวียดนาม ประเทศสิงคโปร์ และประเทศไทย ซึ่งได้ใช้การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกในการระบุอินไซท์และแนวทางในการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมของภูมิภาคอาเซียน ที่จำเป็นแก่การบริหารจัดการอย่างเร่งด่วน การแข่งขันดังกล่าวได้รับการจัดขึ้น โดยมีสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลเป็นเจ้าภาพร่วม และนางสาว กษมา คงสมัคร ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลเป็นผู้มอบรางวัล ทั้งนี้รายละเอียดผู้ได้รับรางวัลในรอบชิงชนะเลิศการแข่งขัน ASEANDSE ระดับภูมิภาค มีดังต่อไปนี้
เยาวชนไทยคว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับสอง จากเวที ASEAN Data Science Explorers ระดับภูมิภาค ประจำปี 2562 จากการนำเสนอโครงการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเพศ

ทีมผู้ชนะเลิศอันดับที่หนึ่ง คือ ทีม "AWM" ประกอบด้วย Trung Vu และ Ha Vu จาก RMIT University Vietnam กับโครงการ "Empowering Ethnic Minorities in ASEAN" ซึ่งเล็งเห็นศักยภาพของชนกลุ่มน้อยในการช่วยขับเคลื่อนพัฒนาการทางเศรษฐกิจของอาเซียน

ทีมรองชนะเลิศอันดับที่หนึ่ง คือ ทีม "Re:volution" ประกอบด้วย Egwin Fan และ Shi Xuan Teng จาก Nanyang Technological University กับโครงการ "Waste Management" ซึ่งให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาด้านการบริหารจัดการของเสียของภูมิภาค

ทีมรองชนะเลิศอันดับที่สอง คือ ทีม "NT" ประกอบด้วย นางสาวนพวรรณ รักถิ่นกำเนิด และนางสาวบาวเจิง โงเล นักศึกษาชั้นปีที่ 2 จากวิทยาลัยโลกคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กับโครงการ "Workforce gender gaps" ซึ่งมุ่งแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเพศในสถานที่ทำงาน

การแข่งขันรอบชิงชนะเลิศระดับภูมิภาคในปี 2562 เป็นบทสรุปของโครงการส่งเสริมความรู้และทักษะด้านดาต้าอนาลิติกส์ ที่ดำเนินการมาเป็นระยะเวลากว่า 1 ปี ซึ่งมีคณาจารย์ประมาณ 500 คนและเยาวชนประมาณ 3,000 คนเข้าร่วมรับการอบรมด้านการใช้ซอฟต์แวร์อนาลิติกส์ คลาวด์ ของเอสเอพี ทั้งนี้โครงการ ASEAN Data Science Explorers หรือ ASEANDSE ระดับภูมิภาค ประจำปี 2562 มีเยาวชนจำนวนทั้งสิ้น 1,341 คน ให้ความสนใจเข้าร่วมแข่งขันในระดับประเทศ (เพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึง 70%) ซึ่งมีขึ้นใน 10 ประเทศทั่วภูมิภาค โดยทีมผู้ชนะเลิศจากแต่ละประเทศเป็นตัวแทนเข้าแข่งขันรอบชิงชนะเลิศระดับภูมิภาค ณ กรุงเทพมหานคร ทั้งนี้ผู้ได้รับรางวัลในรอบชิงชนะเลิศ ระดับภูมิภาคทั้ง 3 ทีม ได้รับเลือกจากการพิจารณาความสามารถในการพัฒนาโซลูชั่น ซึ่งใช้การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกเป็นพื้นฐานในการระบุและเสนอแนวทางในการแก้ปัญหาทางสังคม ตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals: SDGs) ได้แก่ (1) สุขภาพที่ดีและความเป็นอยู่ที่ดี, (2) การศึกษาที่มีคุณภาพ, (3) ความเท่าเทียมทางเพศ, (4) การทำงานที่ดีและการเติบโตทางเศรษฐกิจ, (5) อุตสาหกรรม นวัตกรรม และโครงสร้างพื้นฐาน และ (6) เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน

"พวกเรารู้สึกตื่นเต้นและดีใจมากที่ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของเราได้รับการยอมรับโดยอาเซียน องค์การสหประชาชาติ และหน่วยงานภาครัฐต่างๆ เพื่อนำวิสัยทัศน์ของเราไปทำให้เกิดขึ้นจริง เราได้สัมผัสวัฒนธรรมที่หลากหลายผ่านการพบปะเยาวชนจากประเทศต่างๆ ซึ่งได้กลายเป็นเพื่อนใหม่ของพวกเรา เราได้เรียนรู้จากกันและกัน แลกเปลี่ยนความรู้และมุมมองที่แตกต่าง โดยผมเชื่อว่าการเข้าถึงความหลากหลายเช่นนี้คือปัจจัยที่สำคัญสำหรับผู้ที่ต้องการเป็นพลเมืองโลกอย่างแท้จริง ดังที่ผมและเยาวชนคนอื่นๆ มุ่งหวัง" Trung Vu สมาชิกทีม "AWM" จากเวียดนามกล่าว

ทีม "Re:volution" จากสิงคโปร์ ซึ่งประกอบด้วย Egwin Fan และ Shi Xuan Teng เผย "โครงการ ASEANDSE ทำให้เราได้ตระหนักว่าภูมิภาคของเรากำลังเผชิญปัญหาทางสังคมจำนวนมาก ซึ่งเราจำเป็นต้องร่วมมือกันเข้าไปจัดการแก้ไขอย่างมีประสิทธิภาพ จากการแข่งขันในครั้งนี้ มากไปกว่าเพื่อนใหม่จากทั่วภูมิภาค เราได้เรียนรู้เกี่ยวกับดาต้า อนาลิติกส์ ซึ่งทำให้เราสามารถเข้าใจสถานการณ์ความท้าทายต่างๆ ได้อย่างทะลุปรุโปร่งและระบุแนวทางเพื่อการแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ โครงการ ASEANDSE นั้นทำให้เราเห็นว่าเยาวชนอย่างเราก็สามารถเป็นผู้นำเสนอนโยบายเพื่อสังคมได้ และเราคือผู้ขับเคลื่อนประเทศชาติของเราให้พัฒนาไปสู่อนาคตอย่างยั่งยืน"

ขณะที่ ทีม "NT" จากประเทศไทย ซึ่งประกอบด้วย นางสาวนพวรรณ รักถิ่นกำเนิด และนางสาวบาวเจิง โงเล กล่าวว่า "พวกเราดีใจมากที่ตัดสินใจเข้าร่วมโครงการ ASEANDSE ประสบการณ์การเรียนรู้เกี่ยวกับดาต้า อนาลิติกส์ในครั้งนี้ ทำให้เราเข้าใจถึงบทบาทของดาต้าต่อการทำความเข้าใจปัญหาทางสังคมที่เราเผชิญอยู่ในปัจจุบัน ดังเช่น โครงการของเรา ซึ่งให้ความสำคัญกับปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเพศในสถานที่ทำงาน ประเด็นดังกล่าวคือปัญหาทางสังคมที่เราได้พบเจอในชีวิตประจำวัน โดยอินไซท์ที่เราพบจากการเข้าการร่วมโครงการ ASEANDSE ก็ได้ตอกย้ำว่าปัญหาดังกล่าวต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน"

โครงการ ASEANDSE คือ โครงการระดับภูมิภาค ซึ่งเกิดจากความร่วมมือระหว่างมูลนิธิอาเซียน และ เอสเอพี ซึ่งเล็งเห็นความสำคัญของการส่งเสริมเยาวชนให้มีศักยภาพ ที่สอดคล้องกับยุคอุตสาหกรรม 4.0 และตอบโจทย์การขับเคลื่อนภูมิภาคอาเซียนสู่อนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ นับตั้งแต่การริเริ่มโครงการในปี 2560 โครงการ ASEANDSE ได้มีส่วนช่วยพัฒนาศักยภาพด้านดาต้า อนาลิติกส์ให้แก่เยาวชนแล้วกว่า 9,000 คน จาก 230 สถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาทั่วภูมิภาคอาเซียน โดยมีผู้สมัครจากหลากหลายสาขาวิชา เช่น สาชาวิชารัฐศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ และสถาปัตยกรรม เข้าร่วมพัฒนาทักษะในการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาทางสังคม

นาง อีเลน ตัน ผู้อำนวยการบริหาร มูลนิธิอาเซียน กล่าวว่า "มูลนิธิอาเซียน รู้สึกเป็นเกียรติและภูมิใจกับความร่วมมือของเรากับเอสเอพีที่ได้ก้าวมาสู่ปีที่สามในปีนี้ เอสเอพีนั้นมีบทบาทที่สำคัญเป็นอย่างยิ่งในการผลักดันโครงการดังกล่าว เราต่างยึดมั่นต่อแนวทางการพัฒนาเยาวชนในช่วงหลังปี 2563 ด้วยการเสริมทักษะเชิงดิจิตอลให้แก่เยาวชนในภูมิภาคอาเซียน เพื่อให้พวกเขามีความพร้อมสำหรับอนาคต โดยโครงการ ASEANDSE มีส่วนช่วยเพิ่มศักยภาพในการคว้าโอกาสในชีวิตประจำวันแก่เยาวชนอาเซียน อีกทั้งเสริมทักษะเชิงดิจิตอลที่จำเป็นต่อการจัดการความท้าทายในยุคอุตสาหกรรม 4.0"

นางสาว เวเรน่า เซียว กรรมการผู้จัดการ เอสเอพี ประจำภูมิภาคอินโดไชน่า กล่าวว่า "เราพบว่าช่องว่างทางความรู้และทักษะเชิงดิจิทัล คือ ความท้าทายที่กำลังปะทุตัวในทุกอุตสาหกรรมทั่วภูมิภาคอาเซียน โดยโครงการความร่วมมือกับมูลนิธิอาเซียน ทำให้เอสเอพีสามารถผลักดันความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และยกระดับเยาวชนของอาเซียนทุกคน ให้เพรียบพร้อมไปด้วยทักษะที่จำเป็นต่อการขับเคลื่อนดิจิทัลอีโคโนมี ทั้งนี้เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ด้วยโครงการ ASEANDSE เราจะสามารถช่วยให้ช่องว่างทางศักยภาพเชิงดิจิทัลนั้นหมดไป"

นางสาว กษมา คงสมัคร กล่าวว่า "เพราะเยาวชนคืออนาคตของภูมิภาค เราจึงใส่ใจส่งเสริมและสนับสนุนพวกเขา ด้วยกรอบความคิดที่เป็นสากล นวัตกรรมที่ทันสมัย และที่สำคัญที่สุดคือวิสัยทัศน์ที่ใส่ใจสังคม โครงการ ASEANDSE นั้นมีวัตถุประสงค์ที่สอดคล้องกับพันธกิจของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล และแนวคิดหลักแห่งวาระการเป็นประธานอาเซียนของประเทศไทยในปี 2562 ซึ่งได้แก่ 'ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกลยั่งยืน' ด้วยเหตุนี้เราจึงมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมสนับสนุนโครงการ ในฐานะเจ้าภาพร่วมของการแข่งขันในรอบชิงชนะเลิศ ระดับภูมิภาค ประจำปี 2562 ซึ่งมีขึ้น ณ กรุงเทพมหานคร โดยเราคาดหวังว่าในอนาคต เราจะได้มีโอกาสเป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระดับภูมิภาคอื่นๆ ดังเช่นในครั้งนี้"

เกี่ยวกับ เอสเอพี (SAP)

ในฐานะบริษัทด้านคลาวด์ที่ขับเคลื่อนด้วย SAP HANA(R) เอสเอพี เป็นผู้นำตลาดซอฟต์แวร์แอพพลิเคชั่นระดับองค์กร ที่ได้ช่วยเหลือองค์กรขนาดต่างๆในทุกอุตสาหกรรมให้สามารถทำงานได้ดีขึ้น โดย 77% ของรายได้จากการทำธุรกรรมของโลกนั้นเกิดขึ้นบนระบบของเอสเอพี นอกจากนี้เทคโนโลยีแมชชีน เลิร์นนิ่ง อินเตอร์เน็ต ออฟ ธิงส์ (IoT) และเทคโนโลยีการวิเคราะห์ขั้นสูงของเอสเอพี ช่วยเปลี่ยนธุรกิจของลูกค้าให้เป็นอินเทลลิเจนท์ เอ็นเตอร์ไพรซ์ เอสเอพีช่วยให้ผู้คนและองค์กรเข้าใจในธุรกิจอย่างลึกซึ้ง รวมถึงส่งเสริมการทำงานร่วมกันเพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันทางธุรกิจ เราลดความซับซ้อนของเทคโนโลยีเพื่อให้องค์กรต่างๆ สามารถใช้ซอฟต์แวร์ของเราได้อย่างที่ต้องการและต่อเนื่อง ชุดแอพพลิเคชั่นและบริการครบวงจรของเอสเอพี ช่วยให้ลูกค้าธุรกิจและภาครัฐกว่า 437,000 ราย สามารถทำกำไร ปรับตัว และสร้างความแตกต่างได้ ด้วยเครือข่ายลูกค้าพาร์เนอร์ พนักงาน และผู้นำทางความคิดที่มีอยู่ทั่วโลก เอสเอพีช่วยให้โลกดำเนินงานได้ดีขึ้นและปรับปรุงชีวิตของผู้คน ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.sap.com

เกี่ยวกับ มูลนิธิอาเซียน (ASEAN Foundation)

หลังจากที่ประชาคมอาเซียนก่อตั้งมาได้ 3 ทศวรรษ บรรดาผู้นำอาเซียนต่างตระหนักได้ว่า การแบ่งปันประโยชน์ร่วมกันในหมู่สมาชิก การสร้างจิตสำนึกของความเป็นอาเซียน และการติดต่อสื่อสารกันหว่างประชาชนยังคงไม่เพียงพอ ซึ่งความวิตกกังวลดังกล่าวส่งผลมีการจัดตั้งมูลนิธิอาเซียนขึ้นในระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียนสมัยพิเศษในโอกาสครบรอบ 30 ปีของการก่อตั้งอาเซียน ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2540 มูลนิธิอาเซียนก่อตั้งโดยอาเซียนเพื่ออาเซียน ด้วยวิสัยทัศน์เพียงหนึ่งเดียวคือการสร้างประชาคมอาเซียนให้มีความมั่งคั่งและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน โดยมีหน้าที่สนับสนุนการสร้างจิตสำนึก อัตลักษณ์ ปฏิสัมพันธ์ และพัฒนาการของประชาชนในอาเซียน สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับมูลนิธิอาเซียนได้ที่ www.aseanfoundation.org

สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa)

สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) หรือ ดีป้า จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ. ๒๕๖๐ ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๓ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๐ ปีที่ ๒ ในรัชกาลปัจจุบันเพื่อส่งเสริม และสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล พัฒนาและส่งเสริมให้เกิดการนำไปใช้เทคโนโลยีดิจิทัลให้เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และความมั่นคงของประเทศ ตามมาตรา ๓๔ และให้มีคณะกรรมการกำกับสำนักงานฯคณะหนึ่ง ประกอบด้วยผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้ง ทำหน้าที่กำกับและติดตามการดำเนินงานของสำนักงานฯ

เยาวชนไทยคว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับสอง จากเวที ASEAN Data Science Explorers ระดับภูมิภาค ประจำปี 2562 จากการนำเสนอโครงการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเพศ เยาวชนไทยคว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับสอง จากเวที ASEAN Data Science Explorers ระดับภูมิภาค ประจำปี 2562 จากการนำเสนอโครงการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเพศ เยาวชนไทยคว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับสอง จากเวที ASEAN Data Science Explorers ระดับภูมิภาค ประจำปี 2562 จากการนำเสนอโครงการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเพศ