ย้อนหลังไปเมื่อปี พ.ศ. 2511 พายุไต้ฝุ่น ไอดา (Typhoon Ida) หรือไต้ฝุ่นคาโนงาวะ เคยถล่มประเทศญี่ปุ่นจนทำให้กรุงโตเกียว เผชิญกับฝนตกหนัก วัดปริมาณน้ำฝนได้ถึง 371.9 มิลลิเมตรในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง เป็นเหตุให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและดินถล่มในหลายพื้นที่ คร่าชีวิตผู้ประสบภัยจำนวน 1,269 ราย โดยมีมูลค่าความเสียหายในเวลานั้น (เมื่อ 61 ปีที่แล้ว) กว่า 50 ล้านเหรียญสหรัฐดังนั้นการเตรียมความพร้อมของหลายหน่วยงานของประเทศญี่ปุ่นในครั้งนี้ จึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งที่ได้วางแผนและเตรียมการ ป้องกันภัย เตือนภัย และอพยพพลเมืองกว่า 500,000 คนไปยังที่พักพิงที่ปลอดภัยในช่วงพายุใหญ่เข้าโจมตี มีการส่งข้อความเตือนภัยให้ประชาชนเฝ้าระวังผ่านมือถือสมาร์ทโฟนกว่า 10 ล้านเครื่อง เป็นการบริหารการจัดการความเสี่ยงที่นานาอารยะประเทศให้ความสนใจเป็นอย่างมาก จนถึงขณะนี้มีรายงานการสูญเสียชีวิตของประชาชนเพียง 2 รายเท่านั้น ในส่วนของทรัพย์สินที่ได้รับความเสียหายอย่างมากมาย ยังไม่สามารถประเมินมูลค่าความเสียหายได้ แต่เชื่อแน่ว่าค่าสินไหมทดแทนจากการประกันภัยในครั้งนี้จะมีจำนวนที่สูงมากเมื่อได้เห็นสภาพความรุ่นแรงของพายุที่เข้าทำลายอาคารบ้านเรือน รถยนต์ ตลอดจนทรัพย์สินอื่นๆ
นายกี่เดช อนันต์ศิริประภา ผู้อำนวยการบริหาร สมาคมประกันวินาศภัยไทย ได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า จากสถิติข้อมูลความเสียหายในรอบ 10 ปี ที่ผ่านมา ภัยพิบัติทางธรรมชาติมีจำนวนที่สูงเพิ่มขึ้นทุกๆปีโดยเฉพาะในภาคพื้นเอเชียแปซิฟิค
ในปลายปี 2554 ถึงต้นปี 2555 ประเทศไทยก็ประสบปัญหาอุทกภัยครั้งรุนแรงที่สุดเป็นประวัติการณ์ โดยเฉพาะพื้นที่ในกรุงเทพมหานครและปริมลฑล เกิดน้ำท่วมหนักในรอบ 70 ปี หากนับจากเหตุการณ์น้ำท่วมใน กทม. เมื่อปี 2485 อุทกภัยในครั้งนั้นสร้างความเสียหายทั้งภาคการเกษตร อุตสาหกรรม เศรษฐกิจและสังคมเป็นอันมาก มีผู้เสียชีวิต 815 ราย สูญหาย 3 ราย ราษฎรเดือนร้อนกว่า 4 ล้านครัวเรือน รวม 13.5 ล้านคน และพื้นที่การเกษตรกว่า 11.2 ล้านไร่ ธนาคารโลกประเมินมูลค่าความเสียหายสูงถึง 1.44 ล้านล้านบาท
ในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2556 พายุไต้ฝุ่นไห่เยี่ยน [Super Typhoon Haiyan] ได้เข้าโจมตีประเทศฟิลิปปินส์ ด้วยความเร็วลม 315 กม./ชม. (เฉลี่ยลมใน 1 นาที) ทำให้มีผู้เสียชีวิต 6,195 ราย สูญหาย 1,785 ราย ความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างน้อย 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และทำให้มีผลกระทบกับประชาชนกว่า 11 ล้านคนไร้ที่อยู่อาศัย
สำหรับในประเทศไทยนั้น ความแปรปรวนของสภาวะภูมิอากาศในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมา ก่อให้เกิดพายุลูกใหญ่ๆในหลายจังหวัดของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นพายุไต้ฝุ่นเกย์ (Gay) พายุโซนร้อนนกเตน (Nock-Ten) พายุไต้ฝุ่นเซินกา (Sengka) พายุไซโคลนปาบึก (Pabuk) พายุโซนร้อนโพดุล (Podul) ซึ่งล้วนสร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก เป็นเรื่องที่เราต้องให้ความสนใจและใส่ใจมากขึ้น เพื่อเตรียมความพร้อมและป้องกันภัย ตลอดจนการบริหารความเสี่ยงภัยต่างๆที่ไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่
"ปัจจุบันกรมธรรม์ประกันอัคคีภัย กรมธรรม์ประกันภัยทรัพย์สิน กรมธรรม์ประกันรถยนต์และกรมธรรม์รูปแบบอื่นๆ ในประเทศไทยได้ให้ความคุ้มครองต่อภัยธรรมชาตินี้ไว้แล้ว ผู้เอาประกันภัยสามารถตรวจสอบกรมธรรม์ ด้วยการสอบถามตัวแทน นายหน้า หรือบริษัทประกันภัยได้ตลอดเวลา เพื่อให้มั่นใจในความคุ้มครองของกรมธรรม์ที่ได้ซื้อไว้ " นายกี่เดช กล่าวในที่สุด