WORLD BREAST CANCER “โครงการ ผ่าตัดเต้าเพื่อผู้ป่วยยากไร้...สู้ภัยมะเร็งเต้านม” โดยมูลนิธิเวชดุสิตฯ ร่วมกับ โรงพยาบาลมะเร็งกรุงเทพ วัฒโนสถ และสถาบันมะเร็งแห่งชาติ

11 Oct 2019
เนื่องในวันมะเร็งเต้านมโลก World Breast Cancer มูลนิธิเวชดุสิต ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ โดยการกำกับดูแลของบริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ โรงพยาบาลมะเร็งกรุงเทพ วัฒโนสถ และ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ จัดทำ "โครงการ ผ่าตัดเต้าเพื่อผู้ป่วยยากไร้...สู้ภัยมะเร็งเต้านม" โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ให้กับผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านม จำนวน 50 ราย ซึ่งเป็นโรคมะเร็งในผู้หญิงที่พบมากเป็นอันดับ 1 ทั้งในประเทศไทยและสถิติของโรงพยาบาลมะเร็งกรุงเทพ วัฒโนสถ นอกจากนี้ยังพบผู้หญิงไทยป่วยเป็นมะเร็งเต้านมรายใหม่ประมาณ 20,000 คนต่อปี หรือ 55 คนต่อวัน (ทะเบียนมะเร็งของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ, 2017) ทั้งนี้ หากพบตั้งแต่ระยะแรก ยิ่งเพิ่มโอกาสในการรักษาได้มากขึ้น
WORLD BREAST CANCER “โครงการ ผ่าตัดเต้าเพื่อผู้ป่วยยากไร้...สู้ภัยมะเร็งเต้านม” โดยมูลนิธิเวชดุสิตฯ ร่วมกับ โรงพยาบาลมะเร็งกรุงเทพ วัฒโนสถ และสถาบันมะเร็งแห่งชาติ

นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวว่า "โรคมะเร็งถือเป็นปัญหาสำคัญทางสาธารณสุขในทุกประเทศทั่วโลก อัตราการเกิดโรคมะเร็งและอัตราการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในทุกเพศ ทุกวัย และทุกเชื้อชาติ ซึ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกปี และเป็นสาเหตุที่ทำเกิดการสูญเสียประชากรก่อนวัยอันควรและมีค่าใช้จ่ายในการรักษาเป็นจำนวนมาก สถาบันมะเร็งแห่งชาติ มีเป้าประสงค์ในด้านการแก้ไขปัญหาโรคมะเร็งของประเทศ โดยมีเครือข่ายผู้ทำการรักษาโรคมะเร็งจากทั้งในประเทศและต่างประเทศที่มีคุณภาพมาตรฐานด้านวิชาการและการบริการ จึงให้ความสำคัญกับแนวทางการรักษาโรคมะเร็งที่มีผลกระทบต่อประชากรให้ได้รับการรักษา และถือเป็นโอกาสอันดีในความร่วมมือกับภาคเอกชน เพื่อร่วมกันส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินการแก้ไขปัญหาด้านโรคมะเร็งเต้านมให้กับผู้ป่วยยากไร้ ที่ต้องรอคิวการผ่าตัดจากรพ. รัฐ มาเข้าโครงการผ่าตัดเต้าเพื่อผู้ป่วยยากไร้...สู้ภัยมะเร็งเต้านม จำนวน 50 ราย"

รศ.อัจจิมา เศรษฐบุตร กรรมการและเลขานุการ มูลนิธิเวชดุสิตฯ กล่าวว่า "มูลนิธิเวชดุสิตฯ ก่อตั้งขึ้นกว่า 35 ปี ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา มูลนิธิเวชดุสิตฯ ได้ช่วยสังคมไทยทั้งในด้านการแพทย์ และการสาธารณสุขในรูปแบบต่างๆ เช่น การมอบเวชภัณฑ์และเครื่องมือแพทย์ ที่จำเป็นในการช่วยเหลือผู้ป่วย แด่โรงพยาบาลรัฐ มูลนิธิ เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล และสถานีอนามัย ในภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ สนับสนุนงานวิจัยทางการแพทย์ พร้อมทั้งมอบรถเข็นสำหรับผู้พิการ ซึ่งเป็นการสั่งทำพิเศษกับสมาคนคนพิการแห่งประเทศไทย เพื่อให้เหมาะกับการใช้ในชีวิตประจำวันของผู้พิการแต่ละราย ให้กับหน่วยงานในภาครัฐ ทั่วประเทศไทย และกิจกรรมอื่นๆ อีกมากมาย ปัจจุบันโรคมะเร็งเต้านมซึ่งเป็นโรคมะเร็งที่พบมากในผู้หญิงไทย และมีผู้ป่วยมะเร็งเต้านมอีกเป็นจำนวนมากที่ขาดโอกาสและต้องรอเวลาในการรักษาเป็นระยะเวลานาน โครงการผ่าตัดเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยมะเร็งเต้านม จึงเป็นโครงการความร่วมมือระหว่าง มูลนิธิเวชดุสิตฯ โรงพยาบาลมะเร็งกรุงเทพ วัฒโนสถ และสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ร่วมกันทำโครงการที่สร้างประโยชน์แก่สังคมร่วมกัน ซึ่งมูลนิธิเวชดุสิตฯ ร่วมสนับสนุนค่าผ่าตัดรักษาพยาบาลให้กับผู้ป่วยมะเร็งเต้านม จำนวน 50 ราย โดยผู้ป่วยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย"

ศ.พิเศษ นพ.ธีรวุฒิ คูหะเปรมะ ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลมะเร็งกรุงเทพ วัฒโนสถ กล่าวว่า โรคมะเร็งเต้านมมีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้นทุกปี โรคมะเร็งเต้านมเป็นโรคร้ายที่ไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดว่าเกิดจากอะไร แต่มีปัจจัยเสี่ยงและปัจจัยสนับสนุน คือฮอร์โมนเอสโตรเจน ที่กระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเซลล์เนื้อเยื่อเต้านมจนเจริญเติบโตผิดปกติ และร่างกายไม่สามารถควบคุมการเจริญเติบโตที่ผิดปกตินั้นได้ ทำให้เซลล์เหล่านั้นกลายเป็นเซลล์มะเร็งและโตอย่างรวดเร็ว ซึ่งอาจแพร่กระจายออกไปยังอวัยวะอื่นๆ จากสถิติพบว่าอายุเฉลี่ยของคนไข้ที่พบมะเร็งเต้านมมากที่สุดคือ อายุ 40 ปีขึ้นไป หากผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งเต้านม การรักษาโดยการผ่าตัดถือเป็นการรักษาหลักที่เป็นมาตรฐานสากล ให้ผลการรักษาที่มีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ มูลนิธิเวชดุสิตฯ และโรงพยาบาลมะเร็งกรุงเทพ วัฒโนสถ ได้เล็งเห็นความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องนี้ จึงได้จัดโครงการขึ้นเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยมะเร็งเต้านม เป็นการเพิ่มโอกาสการรักษามะเร็งเต้านมแบบทันท่วงทีและลดภาระของโรงพยาบาลในภาครัฐ โดยทีมแพทย์ที่มีประสบการณ์ในการรักษา เนื่องจากการรักษามะเร็งเต้านมมีความซับซ้อน อาจต้องมีหลายรูปแบบและต้องทำการรักษาร่วมกันต่อเนื่องหลังการผ่าตัด เช่น การฉายแสง การให้ยาเคมีบำบัดและการได้รับยาต้านฮอร์โมน เป็นต้น มีระยะเวลาในการรักษาค่อนข้างนาน จึงเป็นเหตุให้เกิดโครงการร่วมในการดูแลคนไข้กับสถาบันมะเร็งแห่งชาติ เพื่อผู้ป่วยหลังรับการผ่าตัดได้รับการรักษาและติดตามอาการที่สถาบันมะเร็งแห่งชาติ โดยกลุ่มเป้าหมายในการผ่าตัดครั้งนี้คือ ผู้ป่วยคนไทย ที่มีอายุไม่เกิน 65 ปี ที่ใช้สิทธิบัตร30 บาท/ประกันสังคม/ กรมบัญชีกลาง ไม่มีประกันสุขภาพ เป็นคนไข้ที่ถูกส่งต่อมาจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ แนวการทางการผ่าตัดรักษาจะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์เป็นสำคัญ รวมถึงระยะของโรค ขนาดของก้อนและภาวะสุขภาพต่างๆ ของผู้ป่วย รูปแบบการผ่าตัดประกอบด้วย 1.การผ่าตัดเต้านมออกเพียงบางส่วนโดยการใช้ยาระงับความรู้สึกทั่วร่างกาย (Wide excision under GA) 2.การผ่าตัดก้อนที่เต้านมและผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองเซนติเนล (ใต้รักแร้) โดยการใช้ยาระงับความรู้สึกทั่วร่างกาย (Lumpectomy with SLNB under GA) 3.การผ่าตัดก้อนที่เต้านมและผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองเซนติเนล (ใต้รักแร้) และเลาะต่อมน้ำเหลืองโดยการใช้ยาระงับความรู้สึกทั่วร่างกาย(Lumpectomy with SLNB and axillary dissection under GA) 4.การผ่าตัดเต้านมออกทั้งเต้าและผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองเซนติเนล (ใต้รักแร้) โดยการใช้ยาระงับความรู้สึกทั่วร่างกาย (Total mastectomy with SLNB under GA) และ 5.การผ่าตัดเต้านมออกทั้งเต้าและเลาะต่อมน้ำเหลืองใต้รักแร้โดยการใช้ยาระงับความรู้สึกทั่วร่างกาย (MRM under GA) ซึ่งระยะเวลาพักฟื้นภายในรพ. ขึ้นอยู่กับรูปแบบการผ่าตัดในแต่ละประเภทของก้อนเนื้อ และระยะของโรค

นพ.สาธิต ศรีมันทยามาศ ศัลยแพทย์มะเร็งเต้านม โรงพยาบาลมะเร็งกรุงเทพ วัฒโนสถ ให้ข้อมูลเสริมว่า ศูนย์เต้านม โรงพยาบาลมะเร็งกรุงเทพ วัฒโนสถ พร้อมให้การดูแลเฉพาะทางในด้านสุขภาพเต้านมของผู้หญิงทุกวัย ด้วยทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านเต้านมโดยเฉพาะ ทั้งศัลยแพทย์ รังสีแพทย์ วิสัญญีแพทย์ อายุรแพทย์โรคมะเร็งและพยาบาลที่พร้อมให้ให้คำแนะนำในการตรวจวินิจฉัย ด้วยเครื่องมือและเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าในการค้นหามะเร็ง ตลอดจนการรักษาโดยแพทย์สหสาขา รวมทั้งการติดตามผลการรักษาทั้งด้านร่างกายและจิตใจ โดยผู้ป่วยจะได้รับการรักษาครอบคลุมทุกระยะของมะเร็งเต้านมด้วยมาตรฐานระดับสากล ซึ่งอยากรณรงค์ให้ผู้หญิงไทย ให้ความสำคัญกับการตรวจค้นหามะเร็งในระยะเริ่มแรก โดยเฉพาะมะเร็งเต้านมว่า ในเบื้องต้นสามารถทำการตรวจค้นหาด้วยตนเองได้ และเมื่อพบก้อนมะเร็งที่มีขนาดเล็กในระยะเริ่มแรกจะทำให้การรักษามีประสิทธิภาพมีโอกาสหายได้สูงมากและกลับเป็นซ้ำในภายหลังก็น้อย ตลอดจนสามารถเก็บเต้านมข้างที่เป็นมะเร็งไว้ได้โดยไม่ต้องตัดเต้านมทิ้ง เพียงแค่คว้านเอาก้อนมะเร็งออกให้หมดและใช้รังสีรักษาในส่วนเต้านมที่เหลืออยู่ ซึ่งมีผลข้างเคียงน้อยมาก และบางกรณีหากค้นในพบระยะที่ก้อนมะเร็งยังเล็กอาจไม่ต้องใช้วิธีด้วยรังสีรักษาก็ได้หรืออาจไม่มีความจำเป็นจะต้องเลาะต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ออก ไม่เสี่ยงต่ออาการแขนบวมหรือแขนติดหลังผ่าตัด อีกทั้งยังไม่จำเป็นต้องรักษาด้วยเคมีบำบัดหรือคีโมอีกด้วย

แม้ว่ามะเร็งเต้านมจะป้องกันได้ โดยการลดปัจจัยเสี่ยง แต่เราสามารถตรวจคัดกรองได้ตั้งแต่ยังไม่มีอาการ ควรตรวจด้วยวิธีคลำด้วยตนเองทุกเดือน ตั้งแต่อายุ 20 ปีควรให้แพทย์ตรวจทุก 3-5 ปี และสำหรับผู้หญิงที่อายุ 40 ปีขึ้นไปควรตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยดิจิตอลแมมโมแกรมและอัลตราซาวนด์ทุกปี และหากมีคนในครอบครัวเป็นมะเร็งอาจต้องตรวจเร็วขึ้นตั้งแต่อายุ 35 ปี เพราะหากตรวจพบตั้งแต่ระยะเริ่มแรก ทำให้ได้รับการรักษาได้อย่างทันท่วงที ลดการสูญเสียเต้านมไป

HTML::image( HTML::image(