ศาสตราจารย์ นายแพทย์ นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และรักษาการอธิการบดีวิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ได้กล่าวถึงการบูรณาการความร่วมมือในการพัฒนาหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตแนวใหม่ในครั้งนี้ว่า "ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ มีวิสัยทัศน์ที่จะเป็นสถาบันระดับโลกในด้านวิทยาศาสตร์ การค้นคว้าวิจัย การศึกษา และบริการทางสุขภาพ ภายใต้หลักปรัชญา "เป็นเลิศเพื่อทุกชีวิต" โดยมุ่งที่จะยกระดับการศึกษาระดับปริญญาตรีและปริญญาโท ทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพในประเทศไทย มีเป้าหมายเพื่อผลิตบัณฑิตทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพในสาขาที่ขาดแคลน สร้างบุคลากรทางการแพทย์ที่มีทักษะวิชาชีพที่เป็นเลิศ สามารถคิดค้นคว้านวัตกรรมองค์ความรู้ผ่านกระบวนการวิจัยที่เป็นมาตรฐานสากล พัฒนาและถ่ายทอดองค์ความรู้ในสาขาวิชาวิทยาศาสตร์การแพทย์สาธารณสุข และสหเวชศาสตร์ด้วยเทคนิคการเรียนการสอนที่ทันสมัยทันต่อโลกยุคดิจิทัล พร้อมทั้งพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนร่วมกับสถาบันการศึกษาชั้นนำต่างๆทั้งในและต่างประเทศ โดย ณ ปัจจุบันเรามี วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ภายใต้ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ที่เป็นสถาบันการศึกษาวิจัยและการแพทย์ที่ผลิตบัณฑิตในสาขาวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพด้านต่างๆ ประกอบด้วย คณะแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข คณะพยาบาลศาสตร์ คณะเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์สุขภาพ คณะสัตวแพทยศาสตร์และสัตววิทยาประยุกต์ซึ่งเป็นคณะใหม่ล่าสุดที่จะเปิดรับสมัครนักศึกษาในปี 2563 นี้เป็นปีแรก และยังมีโรงพยาบาลจุฬาภรณ์เป็นหน่วยงานภายใต้สังกัดวิทยาลัยแห่งนี้ด้วย"
"สำหรับหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตแนวใหม่เกิดขึ้นจากพระวิสัยทัศน์ และสายพระเนตรที่ยาวไกลใน ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ที่ได้ทรงเป็นประธานในพิธีลงพระนามและลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างวิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กับมหาวิทยาลัยยูซีแอล สหราชอาณาจักร มหาวิทยาลัยชั้นแนวหน้าของโลกด้วยพระองค์เอง โดยมีเป้าหมายในการร่วมมือกันพัฒนาหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต เพื่อยกระดับระบบการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ไทยสู่สากล โดยมหาวิทยาลัยยูซีแอลได้ร่วมเป็นที่ปรึกษาของการพัฒนาหลักสูตร และได้เข้าร่วมจัดประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตกับทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์เมื่อปี 2561 ที่ผ่านมา เพื่อร่วมกันระดมสมองจากทุกภาคส่วนในการที่จะพัฒนาหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตแนวใหม่ที่เหมาะสมและสอดคล้องกับพระปณิธาน โดยมุ่งหวังให้บัณฑิตแพทย์ของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์นอกจากจะเป็นแพทย์ที่มีทักษะทางวิชาชีพที่เป็นเลิศ มีคุณธรรมจริยธรรมแล้วยังต้องเป็นแพทย์ที่มีความรู้ความสามารถด้านการวิจัย รู้จักกระบวนการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ เพื่อเตรียมที่จะประกอบอาชีพเป็นแพทย์ที่จะนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทยในอนาคต ซึ่งขณะนี้หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต หลักสูตรใหม่ 7 ปี ของคณะแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้ผ่านการประเมินรับรองสถาบันและหลักสูตรตามมาตรฐานสากลตามเกณฑ์ WFME โดยสถาบันรับรองมาตรฐานการศึกษาแพทยศาสตร์ (สมพ.) และแพทยสภาเป็นที่เรียบร้อย"
หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต หลักสูตรใหม่ 7 ปี ของคณะแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จัดเป็นหลักสูตรแรกของประเทศไทยที่ได้รับการรับรองมาตรฐานสากลตามเกณฑ์ WFME โดยสถาบันรับรองมาตรฐานการศึกษาแพทยศาสตร์ (สมพ.) และแพทยสภา โดย ศาสตราจารย์ นายแพทย์ นิธิ มหานนท์ ได้ชี้แจงรายละเอียดของ หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตแนวใหม่ 7 ปี 2 ปริญญา ว่า "หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต หลักสูตรใหม่ พ.ศ.2563 คือการบูรณาการความร่วมมือระหว่างราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กับมหาวิทยาลัยยูซีแอล สหราชอาณาจักร และเครือข่ายสถาบันการแพทย์ชั้นนำของประเทศ ได้แก่ โรงพยาบาลตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งจะเป็นสถานฝึกปฏิบัติทางคลินิกหลักในหลักสูตรนี้ โดยมีโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ โรงพยาบาลเพชรบูรณ์ และโรงพยาบาลพนมไพรจังหวัดร้อยเอ็ด เป็นโรงพยาบาลร่วมสอน โดยหลักสูตรได้พัฒนาทั้งวิธีการเรียนการสอน การประเมิน การติดตามผลที่มุ่งบูรณาการความรู้ ด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ เทคโนโลยี และคิดค้นคว้านวัตกรรม พร้อมโอกาสที่จะได้เข้าร่วมศึกษาและทำงานวิจัยกับผู้เชี่ยวชาญระดับโลก ณ มหาวิทยาลัยยูซีแอล สหราชอาณาจักร โดยได้ยกระดับหลักสูตรการเรียนการสอนสู่มาตรฐานสากลเพื่อการผลิตบัณฑิตแพทย์ที่มีศักยภาพขั้นสูง นักศึกษาแพทย์ที่ได้เข้ามาศึกษาในหลักสูตรนี้จะใช้ระยะเวลาเรียน 7 ปี และเมื่อสำเร็จการศึกษาจะได้รับ 2 ปริญญา คือ ปริญญาแพทยศาสตรบัณฑิต (พบ.) MD จากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และปริญญา iBSc จากมหาวิทยาลัยยูซีแอล สหราชอาณาจักร"
ศาสตราจารย์ ดร. แพทย์หญิงจิรายุ เอื้อวรากุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้กล่าวถึงวิสัยทัศน์ในการสร้างคุณลักษณะของแพทย์ในแบบของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ว่า "คณะแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ มีวิสัยทัศน์ที่มุ่งเน้นการสร้างแพทย์สมัยใหม่ที่มีคุณลักษณะเฉพาะของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ หรือที่เรียกว่า The CRA Doctor คือการสร้างแพทย์ที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม มีจิตอาสา ทำประโยชน์เพื่อช่วยเหลือชุมชนและสังคม แพทย์ที่มีทักษะวิชาชีพที่เป็นเลิศ สอดคล้องกับมาตรฐานแพทยสภาและมาตรฐานสากล WFME และต้องเป็นแพทย์ที่สามารถดูแลผู้ป่วยและครอบครัวอย่างเป็นองค์รวม โดยรู้จักรักษาโรค รักษาใจ รักษาคน รวมถึงรู้จักคิดค้นคว้าวิจัย สร้างองค์ความรู้ใหม่ และนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน เพื่อสนองต่อพระปณิธานองค์ประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์"
ทั้งนี้ ศาสตราจารย์ ดร. แพทย์หญิงจิรายุ ได้กล่าวถึงความแตกต่างของหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตแนวใหม่ ว่า "นักศึกษาจะได้รับการเรียนรู้และพัฒนาทักษะทางการแพทย์รูปแบบใหม่ในหลักสูตรการศึกษาตามมาตรฐานสากล ซึ่งจะแตกต่างจากหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตปกติ โดยหลักสูตรได้มีการจัดการเรียนการสอนที่เชื่อมโยงในแนวราบของแต่ละชั้นปีเรียกว่า "Horizontal Modules" ซึ่งนักศึกษาจะได้เรียนรู้ด้วยการผสมผสานวิทยาศาสตร์พื้นฐาน และวิทยาศาสตร์การแพทย์คลินิก โดยนักศึกษาจะเริ่มเรียนรู้จากผู้ป่วย และฝึกปฏิบัติด้วยสถานการณ์จำลองการเป็นแพทย์ตั้งแต่ชั้นปีที่ 1 พร้อมทั้งส่งเสริมการเรียนรู้ด้วยตนเองในพื้นฐานทางคลินิก โดยใช้รูปแบบการเรียนการสอน และการประเมินอย่างต่อเนื่องผ่านเทคโนโลยีการศึกษา รวมถึงการปูพื้นฐานให้นักศึกษาฝึกหัดค้นคว้าและรู้จักใช้ข้อมูลที่ทันสมัยด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลในการวินิจฉัยและรักษาผู้ป่วยอย่างเหมาะสมผ่านกระบวนการ Evidence based practice และหลักสูตรเน้นการประเมินผลแบบ Formative Assessment เพื่อการพัฒนาการเรียนรู้ของนักศึกษาแพทย์ในทุกรายวิชาอย่างใกล้ชิด เพื่อให้มีทักษะวิชาชีพที่เป็นเลิศ และเป็นแพทย์ที่มีคุณธรรมจริยธรรม รวมทั้งนักศึกษาจะได้ฝึกคิดค้นคว้าสิ่งใหม่ๆผ่านกระบวนการวิจัยตั้งแต่ชั้นปีที่ 1 และได้เดินทางไปศึกษาและปฏิบัติเรียนรู้กระบวนการวิจัยกับผู้เชี่ยวชาญระดับโลก ณ มหาวิทยาลัยยูซีแอล สหราชอาณาจักร พร้อมกันนี้หลักสูตรใหม่ยังได้มุ่งเน้นการบูรณาการเรียนรู้ข้ามศาสตร์ครอบคลุมทุกสาขาตั้งแต่ชั้นปีที่ 1 จนถึงปีที่ 7 โดยเชื่อมโยงการเรียนรู้ผ่าน "Vertical Modules" 6 คอลัมน์ เพื่อฝึกให้นักศึกษาแพทย์ได้คิดวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ รู้จักใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่ทันสมัย และมีการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องแบบเป็นองค์รวม และเป็นแพทย์ที่มีทักษะวิชาชีพที่เป็นเลิศ สอดคล้องกับบริบทของประเทศไทยและของโลก เพื่อสร้างแพทย์สมัยใหม่ที่มีคุณลักษณะเฉพาะในแบบของ CRA Doctor"
สำหรับหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต หลักสูตรใหม่ พ.ศ.2563 ใช้ระยะเวลาศึกษา 7 ปี หรือ 14 ภาคการศึกษาระบบทวิภาค โดยแบ่งการเรียนการสอนออกเป็น 3 ระยะ ดังนี้
ระยะที่ 1: Early years เรียนที่วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และจัดการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษและภาษาไทย ประกอบด้วย
ระยะที่ 2: Research and Innovation ณ มหาวิทยาลัยยูซีแอล สหราชอาณาจักร
ระยะที่ 3: Later years เป็นวิชาวิทยาศาสตร์การแพทย์คลินิกและการฝึกทักษะทางคลินิก ณ โรงพยาบาลตำรวจ ซึ่งเป็นสถานฝึกปฏิบัติทางคลินิกหลักของหลักสูตร และโรงพยาบาลสมทบในการเรียนการสอน ได้แก่ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ โรงพยาบาลเพชรบูรณ์ และโรงพยาบาลพนมไพรจังหวัดร้อยเอ็ด ประกอบด้วย
ด้าน พลตำรวจโท วิฑูรย์ นิติวรางกูร นายแพทย์ใหญ่ โรงพยาบาลตำรวจ ได้กล่าวเพิ่มเติมถึงความพร้อมของโรงพยาบาลตำรวจในการเป็นสถานฝึกปฏิบัติทางคลินิกหลัก ว่า "โรงพยาบาลตำรวจเป็นโรงพยาบาลของรัฐ สังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นโรงพยาบาลระดับตติยภูมิ ขนาด 750 เตียง ในปี 2561 ได้รับการรับรองมาตรฐานคุณภาพโรงพยาบาลจากสถาบันพัฒนาและรับรองคุณภาพโรงพยาบาล โดยเฉลี่ยให้การตรวจรักษาผู้ป่วยนอก 700,000 รายต่อปี ผู้ป่วยใน 17,000 รายต่อปี โดยโรงพยาบาลตำรวจมีการพัฒนาองค์กรสู่การบริการทางการแพทย์ที่มุ่งพัฒนาสู่ความเป็นเลิศด้านการรักษาพยาบาลเฉพาะทางที่ซับซ้อนอย่างครบวงจร โดยมีศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์เฉพาะทาง อาทิ ศูนย์รักษาโรคหัวใจ ศูนย์รักษาโรคสมอง ศูนย์อุบัติเหตุ และการขนส่งทางอากาศ ศูนย์การผ่าตัดผ่านกล้องแผลเล็กด้วยกล้องสามมิติและหุ่นยนต์ ศูนย์การรักษาโรคกระดูกและข้อ ศูนย์โรคไต เป็นต้น โดยจัดเป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่มีความพร้อมทั้งอาคารสถานที่เครื่องมือแพทย์ ระบบบริหารจัดการที่ดี และมีบุคลากรที่มีจำนวนเพียงพอ พร้อมด้วยความรู้ความสามารถสู่การเป็นสถาบันการแพทย์ชั้นนำของประเทศ นอกจากนี้ โรงพยาบาลตำรวจเปิดทำการสอนฝึกอบรมแพทย์ฝึกหัดมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2511 โดยได้รับการรับรองจากแพทยสภา และได้พัฒนาการฝึกอบรมมาเป็นสถาบันฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านสาขาต่างๆ ตั้งแต่ พ.ศ.2527 เป็นสถานที่ฝึกอบรมนักศึกษาแพทย์ปีสุดท้ายของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยของรัฐมาเป็นเวลานานและดำเนินการตามนโยบายของประเทศผ่านทางแพทยสภา ด้วยศักยภาพของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทุกสาขาในศูนย์การรักษาที่เป็นเลิศทางวิชาการและการวิจัยที่มีประสิทธิภาพ ศักยภาพด้านบริหารจัดการ พร้อมทั้งการยอมรับของสังคมและการเป็นโรงพยาบาลที่ตั้งอยู่ใจกลางกรุงเทพมหานคร โรงพยาบาลตำรวจจึงเป็นสถาบันการฝึกปฏิบัติที่ได้รับความสนใจและน่าเชื่อถือเป็นอย่างยิ่ง จากคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยต่างๆที่ขอให้เข้าร่วมเป็นสถาบันผลิตแพทย์ให้กับประเทศอย่างต่อเนื่องทุกปี"
"สำหรับความร่วมมือระหว่างราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์กับสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ได้ร่วมลงนามจัดทำบันทึกข้อตกลงเมื่อวันที่ 5 กันยายน พ.ศ.2561 นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ที่ ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้โรงพยาบาลตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เข้าร่วมสนับสนุนภารกิจราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ในด้านการจัดการเรียนการสอนระดับคลินิกของหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต คณะแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โดยโรงพยาบาลตำรวจจะเป็นสถานฝึกปฏิบัติทางคลินิกหลักของหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต หลักสูตรใหม่ พ.ศ.2563 ซึ่งเรามีความพร้อมทั้งในด้านการเป็นสถาบันการแพทย์ระดับตติยภูมิที่จะสนับสนุนการฝึกทักษะวิชาชีพของนักศึกษาแพทย์ให้มีความเป็นเลิศและสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพทางการแพทย์ขั้นสูงให้กับนักศึกษา โดยมีคณาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากที่พร้อมดูแลนักศึกษาอย่างอบอุ่นและมีคุณภาพ เพื่อสนองพระปณิธานในองค์ประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ด้วยความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาศักยภาพงานแพทยศาสตรศึกษาให้มีประสิทธิภาพอย่างเต็มกำลังต่อไป"
หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต หลักสูตรใหม่ คณะแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จะเปิดรับนักศึกษาแพทย์รุ่นแรกในปีการศึกษา 2563 จำนวน 32 คน โดยมีเกณฑ์การรับสมัครนักเรียนที่จบการศึกษาชั้น ม.6 หรือเทียบเท่า ที่มีผลสอบ A level, SAT > 700 หรือ IB > 6 points อย่างใดอย่างหนึ่งในวิชาชีววิทยา เคมี และคณิตศาสตร์หรือฟิสิกส์ เก่งภาษาอังกฤษโดยมีผลสอบ TOEFL > 100 หรือ IELTS > 7.0 นักเรียนที่มีจิตอาสาบำเพ็ญประโยชน์ มีความสนใจสร้างสรรค์งานวิจัยและนวัตกรรม มีผลงานทางวิชาการเป็นที่ประจักษ์ เปิดรับสมัครนักศึกษาโดยวิธีรับตรงผ่านระบบ TCAS รอบ Portfolio เป็นหลัก และพิจารณาคัดเลือกโดยดูจาก Portfolio และสัมภาษณ์แบบ Multiple mini-interview (MMI)
ทั้งนี้ ขอเชิญน้องๆนักเรียน และผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรม Open Day 2019 แนะนำหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต หลักสูตรใหม่ของคณะแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ที่พัฒนาร่วมกับ University College London (UCL) ในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2562 นี้ ณ ห้องประชุมใหญ่ ชั้น 20 อาคารมหาภูมิพลราชานุสรณ์ 88 พรรษา โรงพยาบาลตำรวจ สามารถติดตามรายละเอียดการรับสมัครได้ทาง เฟสบุค https://www.facebook.com/MDPH.CRA และ www.pccms.ac.th หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คณะแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โทร 0 2105 4669 ต่อ 8477, 8481, 8485 (ในวันและเวลาราชการ)
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit