กรมธนารักษ์ ร่วมมือกับ “ยู ซิตี้” บูรณะอาคารประวัติศาสตร์อายุกว่า 130 ปี “โรงภาษีร้อยชักสาม” พลิกฟื้นพื้นที่ย่านเจริญกรุงสู่เมืองแห่งความรุ่งเรืองริมแม่น้ำเจ้าพระยา

11 Oct 2019
บริษัท ยู ซิตี้ (จำกัด) มหาชน พร้อมด้วยกรมศิลปากร เริ่มลงพื้นที่สำรวจทางโบราณคดีพร้อมทั้งบันทึกและศึกษารายละเอียดด้านสถาปัตยกรรมของ อาคารศุลกสถาน (The Custom House) หรือโรงภาษีร้อยชักสาม บนที่ราชพัสดุเนื้อที่ 5 ไร่ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อดำเนินการเนรมิตอาคารประวัติศาสตร์อายุกว่า 130 ปีแห่งนี้ ให้กลับมาเจริญรุ่งเรืองอีกครั้ง พร้อมทั้งยกระดับศักยภาพด้านการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ในย่านเจริญกรุง โดยจัดตั้งคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญระดับประเทศเข้าร่วมพัฒนาโครงการฯ
กรมธนารักษ์ ร่วมมือกับ “ยู ซิตี้” บูรณะอาคารประวัติศาสตร์อายุกว่า 130 ปี “โรงภาษีร้อยชักสาม” พลิกฟื้นพื้นที่ย่านเจริญกรุงสู่เมืองแห่งความรุ่งเรืองริมแม่น้ำเจ้าพระยา

บุคคลในภาพข่าว (จากซ้ายไปขวา):

  • นางประนอม คลังทอง รองอธิบดีกรมศิลปากรรักษาการแทนอธิบดี
  • นายอำนวย ปรีมนวงศ์ อดีตอธิบดีกรมธนารักษ์นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานคณะกรรมการ บริษัท ยู ซิตี้ จำกัด (มหาชน)
  • นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม
  • นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง
  • นายกวิน กาญจนพาสน์ กรรมการบริษัท ยู ซิตี้ จำกัด (มหาชน)
  • นางศุกร์ศิริ บุญญเศรษฐ์ รองอธิบดีด้านที่ราชพัสดุ กรมธนารักษ์
  • นางสาวปิยพร พรรณเชษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ยู ซิตี้ จำกัด (มหาชน)

เกี่ยวกับโรงภาษีร้อยชักสาม

อาคารศุลกสถานตั้งอยู่ในซอยเจริญกรุง 36 ถนนเจริญกรุง แขวงบางรัก เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร ออกแบบและก่อสร้างขึ้นระหว่างพ.ศ. 2427-2431 ด้วยฝีมือของสถาปนิกและช่างรับเหมาชาวอิตาเลียน โยอาคิม แกรซี่ (Joachim Grassi) ตัวอาคารเป็นสถาปัตยกรรมพาลลาเดียน (Palladianism) ซึ่งมีลักษณะผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าวางตัวขนานไปกับแม่น้ำเจ้าพระยา มีลักษณะเด่นอยู่ที่มุขกลางที่ประดับด้วยนาฬิกาและระเบียงด้านหน้าซึ่งปรากฏซุ้มหน้าต่างตลอดแนวอาคาร ในอดีตใช้เป็นอาคารที่ทำการของศุลกสถาน โดยเป็นอาคารสูง 3 ชั้น มีมุขกลางสูง 4 ชั้น ทรงนีโอคลาสสิก ถือเป็นแลนด์มาร์กสำคัญซึ่งอยู่คู่กับชุมชนริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยามาเป็นระยะเวลายาวนานและบอกเล่าเรื่องราวด้านประวัติศาสตร์การค้าขาย รวมถึงสถาปัตยกรรม วิถีชีวิต และการผสมผสานของวัฒนธรรมที่หลากหลายในพื้นที่ จนกระทั่งปี พ.ศ. 2502 สถานที่แห่งนี้ ถูกปรับเป็นที่ทำการสถานีตำรวจดับเพลิงบางรัก อยู่เป็นระยะเวลายาวนานกว่า 60 ปี ก่อนจะย้ายออกไป