TEAMG ลงนามกองทัพเรือ และ การรถไฟ ร่วมขับเคลื่อนโครงการ EEC

11 Oct 2019
TEAMG ที่ปรึกษาบริหารโครงการก่อสร้างทางวิ่งและทางขับที่ 2 ท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา และที่ปรึกษา โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ระยะที่ 2 ส่วนต่อขยายจังหวัด ระยอง จันทบุรี และตราด
TEAMG ลงนามกองทัพเรือ และ การรถไฟ ร่วมขับเคลื่อนโครงการ EEC

นายชวลิต จันทรรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ TEAMG เปิดเผยว่า บริษัทได้รับความไว้วางใจจาก กรมช่างโยธาทหารเรือ กองทัพเรือ ให้เป็นที่ปรึกษาบริหารโครงการก่อสร้างทางวิ่งและทางขับที่ 2 ของท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา มูลค่าโครงการ 176 ลบ. (รวม VAT) โดย ได้มีพิธีลงนามในสัญญาจ้างที่ปรึกษาบริหารโครงการก่อสร้างทางวิ่งและทางขับที่ 2 ระหว่างกรมช่างโยธาทหารเรือ กองทัพเรือ นำโดย พล.ร.ต.อภินันท์ เพ็งศรีทอง เจ้ากรมช่างโยธาทหารเรือ ให้เกียรติมาเป็นประธานในพิธี และลงนามร่วมกับกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา โดย นางสาวดรรชนี คงศิริวัฒนา กรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการหน่วยธุรกิจพัฒนาเมือง อาคาร และสาธารณูปโภค TEAMG ณ ห้องวิสสุกรรมสรรค์ กรมช่างโยธาทหารเรือ กองทัพเรือ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2562

"กองทัพเรือ โดยกรมช่างโยธาทหารเรือ ไว้วางใจ TEAMG ให้เป็นที่ปรึกษาบริหารโครงการก่อสร้างทางวิ่งและทางขับขี่ 2 ของท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ อำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง สำหรับโครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารของท่าอากาศยานอู่ตะเภาเป็น 60 ล้านคน/ปี รวมถึงเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับปริมาณสินค้าที่จะเพิ่มขึ้นจากการพัฒนาเชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรม ตลอดจนเป็นตัวขับเคลื่อนการพัฒนาโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) ของประเทศไทยในภาพรวม โดยมีระยะเวลาดำเนินการ 52 เดือน" นายชวลิต กล่าว

นายชวลิต กล่าวเพิ่มอีกว่า ในการเพิ่มศักยภาพการขับเคลื่อนโครงการ EEC เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกอย่างบูรณาการ TEAMG ยังได้ลงนามในสัญญาจ้างเป็นที่ปรึกษาวิเคราะห์และศึกษาความเหมาะสมด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ สังคม การเงิน และแนวทางการลงทุนที่เหมาะสม ตลอดจนงานออกแบบเบื้องต้น โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ระยะที่ 2 ส่วนต่อขยายจังหวัด ระยอง จันทบุรี และตราด ระยะเวลาดำเนินการ 8 เดือน กับการรถไฟแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 20 ก.ย. 2562 ด้วย สำหรับโครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาโครงข่ายทางรางในภาคตะวันออกให้มีความสมบูรณ์ โดยเป็นการศึกษาการพัฒนาโครงการต่อจากระยะที่ 1 ซึ่งจะเชื่อมโยงนิคมอุตสาหกรรม ท่าเรือ และท่าอากาศยานภาคกลางและภาคตะวันออกเข้าด้วยกัน และรองรับการจัดระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก (Eastern Fruit Corridor) ส่งเสริมการท่องเที่ยวในกลุ่มจังหวัดระยอง จันทบุรี และตราด อีกด้วย