ประเทศไทยยังคงประสบปัญหาภัยธรรมชาติ ทั้งภัยแล้งและน้ำท่วมอยู่เสมอ ส่วนการแก้ปัญหาที่ผ่านมา ทำได้เพียงแก้ไปตามสถานการณ์ แต่ยังขาดการวางแผนกับการจัดการภัยพิบัติเรื่องน้ำอย่างยั่งยืน ดังเช่นตำบลบ้านคา อำเภอบ้านคา จังหวัดราชบุรี เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของชุมชนที่ประสบความสำเร็จในการบริหารจัดการน้ำโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน ซึ่งนี่อาจเป็นต้นแบบในการแก้ไขปัญหาภัยพิบัติเรื่องน้ำให้กับพื้นที่อื่น ๆ ได้เป็นอย่างดี
ชาวบ้านตำบลบ้านคา อำเภอบ้านคา จังหวัดราชบุรี ประสบความสำเร็จในด้านการบริหารจัดการน้ำจากการเข้าร่วมดำเนินงานภายใต้โครงการการวิจัยน้ำโดยการมีส่วนร่วมของชุมชนตำบลบ้านคา อำเภอบ้านคา จังหวัดราชบุรี โดยการสนับสนุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ที่ใช้กระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม (Participatory Action Research หรือ PAR ) ซึ่งเป็นรูปแบบการวิจัยเพื่อท้องถิ่น ใช้พื้นที่ชุมชนเป็นฐานการวิจัย ตั้งแต่การพัฒนาโจทย์วิจัยการร่วมเรียนรู้เทคนิควิธีการแบบวิจัยชุมชน เพื่อพัฒนาโจทย์กระบวนการแก้ไขปัญหาชุมชนบนฐานของชุมชน ( Community Based Research : CBR ) โดยการศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับที่มาของแหล่งน้ำ ความต้องการการใช้น้ำของชุมชน เงื่อนไขของการบริหารจัดการน้ำโดยการมีส่วนร่วม ค้นหารูปแบบการบริหารจัดการน้ำโดยการมีส่วนร่วมของชุมชนตำบลบ้านคา
นายเส็ง ชื่นอุระ ตัวแทนนักวิจัยชุมชน เล่าว่า ที่ผ่านชุมชนของตนประสบปัญหาน้ำขาดแคลนมาโดยตลอด ชาวบ้านพยายามจัดการแก้ปัญหาด้วยการขุดบ่อน้ำเพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้เป็นประปาหมู่บ้านในหน้าแล้ง แต่กลับพบว่าปริมาณน้ำลดระดับลงอย่างรวดเร็วเมื่อถึงฤดูแล้งเพราะสภาพดินในชุมชนเป็นดินปนทรายทำให้การกักเก็บน้ำไม่มีประสิทธิภาพ ประกอบกับจำนวนประชากรในตำบลเริ่มขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้มีความต้องการใช้น้ำทั้งการเกษตรและการอุปโภคบริโภคมากขึ้น อีกทั้งชาวบ้านเองยังขาดความรู้เรื่องการจัดการน้ำ ทำให้ที่ผ่านมาไม่สามารถแก้ปัญหาเรื่องน้ำได้อย่างตรงจุด
ขั้นตอนการทำงานวิจัยของชาวบ้านเริ่มจากการเก็บข้อมูลการใช้น้ำอย่างละเอียด ซึ่งทำให้พบว่าตำบลบ้านคามีแหล่งน้ำทั้งหมดในหมู่บ้านจากบ่อ 4 ลูกเพื่อใช้ในการทำน้ำประปาหมู่บ้านแจกจ่ายให้กับประชาชนจำนวน 152 ครัวเรือน ปริมาณน้ำรวมจากบ่อทั้ง 4 ลูก 34 ล้านลิตร/ปี ปัญหาที่พบในการบริหารจัดการน้ำช่วงปี 2557-2558 คือ ท่อรั่วจากการเคลื่อนย้ายขณะที่ปล่อยน้ำไปตามบ่อต่างๆ แม้จะทำให้ครัวเรือนได้ใช้ประโยชน์ แต่พบว่าสภาพพื้นที่แห้งแล้งและอากาศร้อน มีการปลูกพืชเชิงเดี่ยวส่งผลให้ให้ปริมาณน้ำที่กักเก็บไว้ลดลงอย่างรวดเร็ว ที่สำคัญคือชาวบ้านขาดการมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาน้ำในบ่อสาธารณะ ขาดการมีส่วนร่วมในการเก็บรวบรวมข้อมูลแหล่งน้ำต้นทุน ปริมาณน้ำฝนและความต้องการการใช้น้ำประปาของชาวบ้านอย่างจริงจัง ทำให้ไม่มีข้อมูลเพื่อตัดสินใจในการบริหารจัดการระบบน้ำประปาหมู่บ้านอย่างชัดเจน นำมาซึ่งการพูดคุยกันระหว่างคนในชุมชน จนเกิดการกำหนดกฎกติกาในการดูแลบ่อน้ำสาธารณะร่วมกัน มีการจัดทำระเบียบและระบบข้อมูลการบริหารจัดการน้ำที่สามารถตรวจสอบได้ จัดประชุมทุกวันที่ 5 ของเดือนเพื่อนำเสนอข้อมูลรายเดือนและร่วมกันวางแผนการบริหารจัดการน้ำร่วมกันอย่างมีส่วนร่วม ทำให้ปัจจุบันชุมชนตำบลบ้านคาสามารถจัดการปัญหาน้ำแล้งและมีน้ำไว้ใช้ในการอุปโภคบริโภคตลอดปี
อีกทั้งมีการจัดทำฝายมีชิวิตเพิ่มขึ้น 2 บ่อ บ่อแรกมีเป้าหมายเพื่อในการอุปโภคบริโภค บ่อที่สองใช้สำหรับภาคการเกษตร จากบ่อของชุมชนสองบ่อที่มีการบริหารจัดการอย่างมีส่วนร่วมและมีประสิทธิภาพ ทำให้ได้รับการตอบรับจากทางภาครัฐเข้ามาสนับสนุนงบประมาณเพื่อใช้สร้างฝายปูนรอบหมู่บ้านตามลำห้วยจำนวน 8 จุด เพื่อใช้เป็นแนวสำหรับลำเลียงน้ำเข้าสู่การเกษตร
นายเส็งกล่าวทิ้งท้ายว่า "แต่เดิมน้ำถือเป็นปัญหาของชุมชนตำบลบ้านคาอย่างมากในอดีต ที่ผ่านมาชาวบ้านพยายามหาทางเพื่อให้ได้น้ำมา ตอนนั้นคิดแค่ว่าการขุดบ่อน้ำจะช่วยให้มีน้ำใช้ แต่กลับพบว่าเราขาดการจัดการและการดูแลรักษาน้ำ พองานวิจัยเข้ามาทำให้คนในชุมชนมองไปในทิศทางเดียวกันนั่นคือการสร้างฝาย เพื่อช่วยกักเก็บน้ำไว้ใช้ ได้เรียนรู้สอนการจัดการระบบภูมินิเวศน์รอบบ่อด้วยการปลูกต้นไม้เพื่อช่วยบรรเทาการระเหยของน้ำ และการปลูกไผ่เพื่อช่วยให้ดินชุ่มชื้น อีกสิ่งหนึ่งที่ได้จากงานวิจัยคือ การได้เรียนรู้ว่าจะต้องทำให้ชุมชนเห็น ว่าเราทำอะไรอยู่ เมื่อชุมชนตื่นตัวก็จะลุกขึ้นมามีส่วนร่วม จากทำกันเพียงกลุ่มนักวิจัยก็ค่อยๆ เพิ่มจำนวนขึ้นจนกลายเป็นคนทั้งหมู่บ้าน เพราะเราพยายามทำให้เขารู้สึกว่านี่เป็นฝายของเขาเหมือนกัน เพื่อที่จะได้ช่วยกันดูแลรักษา ทำให้ชุมชนจากที่เคยประสบปัญหาน้ำแล้ง แต่หลังจากเรามีการจัดการเรื่องน้ำที่ดี ทำให้ทุกวันนี้ชุมชนเรามีน้ำใช้ตลอดทั้งปี"
ด้านนายคำรณ นิ่งอนงค์ ผู้ช่วยผู้ประสานงาน ศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดสมุทรสงคราม สกสว. กล่าวว่า "ฝายมีชีวิตสำหรับชุมชนนี้ คือฝายที่อยู่ร่วมกันระหว่างสิ่งมีชีวิตกับคน และฝาย ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ของคนในชุมชน เมื่อมีน้ำ มีต้นไม้ มีสัตว์น้ำที่สามารถอาศัยน้ำจากฝายนี้ได้ ซึ่งกระบวนการวิจัยทำให้ชาวบ้านได้กลับมาใช้ข้อมูลที่ตนเองมีอยู่และนำข้อมูลที่ได้จากการวิจัยมาขยายผลชวนคุยกับชาวบ้านให้เห็นข้อมูลที่นำมาสู่การพูดคุย ใช้ข้อมูลในการตัดสินใจมากกว่าอารมณ์ เป็นสิ่งที่ชุมชนนี้ได้จากการร่วมกระบวนการวิจัย"
การบริหารจัดการน้ำของชุมชนบ้านคา ไม่เพียงแต่จะช่วยให้มีน้ำเพียงพอทั้งอุปโภคบริโภคและการเกษตรเท่านั้น แต่ยังทำให้ค่าใช้จ่ายในการสูบน้ำลดลง อีกทั้งพบว่าปริมาณการใช้น้ำของชาวบ้านเป็นไปอย่างรู้คุณค่า ควบคู่กับมีการบริหารจัดการน้ำอย่างสอดคล้องกับข้อมูลที่เก็บรวบรวมได้ ทำให้มีการสูบน้ำจากบ่อหมุนเวียนมาใช้ในการทำน้ำประปาอย่างเพียงพอ
บ้านคาจึงเป็นต้นแบบของชุมชนในการลุกขึ้นมาจัดการตนเองในเรื่องน้ำ โดยเริ่มจากการค้นหาสาเหตุแห่งปัญหาผ่านกระบวนการเก็บรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ที่มาของปัญหา และหาแนวทางแก้ไข ที่นำมาสู่การสร้างความเข้าใจร่วมกันกับคนในชุมชน นำมาซึ่งการสร้างกติกา สร้างการเปลี่ยนแปลงในชุมชนของตนเอง
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit