กรมธนารักษ์ ร่วมมือกับ “ยู ซิตี้” บูรณะอาคารประวัติศาสตร์อายุกว่า 130 ปี “โรงภาษีร้อยชักสาม” พลิกฟื้นพื้นที่ย่านเจริญกรุงสู่เมืองแห่งความรุ่งเรืองริมแม่น้ำเจ้าพระยา

10 Oct 2019
บริษัท ยู ซิตี้ (จำกัด) มหาชน พร้อมด้วยกรมศิลปากร เริ่มลงพื้นที่สำรวจทางโบราณคดีพร้อมทั้งบันทึกและศึกษารายละเอียดด้านสถาปัตยกรรมของ อาคารศุลกสถาน (The Custom House) หรือโรงภาษีร้อยชักสาม บนที่ราชพัสดุเนื้อที่ 5 ไร่ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อดำเนินการเนรมิตอาคารประวัติศาสตร์อายุกว่า 130 ปีแห่งนี้ ให้กลับมาเจริญรุ่งเรืองอีกครั้ง พร้อมทั้งยกระดับศักยภาพด้านการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ในย่านเจริญกรุง โดยจัดตั้งคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญระดับประเทศเข้าร่วมพัฒนาโครงการฯ
กรมธนารักษ์ ร่วมมือกับ “ยู ซิตี้” บูรณะอาคารประวัติศาสตร์อายุกว่า 130 ปี “โรงภาษีร้อยชักสาม” พลิกฟื้นพื้นที่ย่านเจริญกรุงสู่เมืองแห่งความรุ่งเรืองริมแม่น้ำเจ้าพระยา

สืบเนื่องจากการลงนามข้อตกลง "โครงการพัฒนาที่ราชพัสดุแปลงที่ตั้งโรงภาษีร้อยชักสาม" ระหว่าง กระทรวงการคลัง กับ ยู ซิตี้ เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ขณะนี้ โครงการพัฒนาโรงภาษีร้อยชักสาม ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญจากกองโบราณคดี กรมศิลปากร เริ่มต้นขั้นตอนการขุดค้นทางโบราณคดีโดยรอบพื้นที่ และสเก๊ตช์ภาพเพื่อบันทึกหลักฐานทางประวัติศาสตร์และรูปแบบโครงสร้างดั้งเดิมของตัวอาคารโดยละเอียด โดยคาดการณ์ว่าการสำรวจดังกล่าวจะเสร็จสิ้นในช่วงต้นปี 2563 ทั้งนี้ ข้อมูลจากการสำรวจและโครงสร้างเดิมที่ค้นพบจากการขุดค้นดังกล่าวจะถูกนำมาใช้อ้างอิงสำหรับการบูรณะอาคารโบราณสถานและก่อสร้างอาคารใหม่ที่จะเกิดขึ้นภายในพื้นที่ในอนาคต

นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานคณะกรรมการ บริษัท ยู ซิตี้ จำกัด (มหาชน) ในฐานะประธานโครงการพัฒนาโรงภาษีร้อยชักสาม ได้ต้อนรับตัวแทนจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องที่มาร่วมงานเริ่มเข้าพื้นที่สำรวจทางโบราณคดีและศึกษารายละเอียดด้านสถาปัตยกรรม ได้แก่ นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม, นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง, นายอำนวย ปรีมนวงศ์ อดีตอธิบดีกรมธนารักษ์, นางประนอม คลังทอง รองอธิบดีกรมศิลปากรรักษาการแทนอธิบดี และ ดร.ธเนศ วีระศิริ นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์

ในโอกาสนี้ นายคีรีได้กล่าวว่า "อาคารศุลกสถานหรือโรงภาษีร้อยชักสาม ถือเป็นอาคารเก่าแก่ซึ่งอยู่คู่กับย่านเจริญกรุงริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยามาอย่างยาวนาน และเป็นสัญลักษณ์ของความเจริญรุ่งเรืองทั้งในด้านของเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมในอดีตโดยเฉพาะในช่วงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ซึ่งหน่วยงานต่างๆ และชุมชน รวมถึง ยู ซิตี้ ตระหนักถึงความสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่ประเมินค่าไม่ได้ของทั้งตัวอาคารและชุมชนโดยรอบ จึงพร้อมใจสนับสนุนการดำเนินการพัฒนาเพื่อฟื้นฟูอาคารอันทรงคุณค่าที่ได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นโบราณสถานแห่งนี้ ให้ยังคงมีประโยชน์และคุณค่าสำหรับคนรุ่นหลังต่อไป โดยจะเน้นการพัฒนาฟื้นฟูอาคารอนุรักษ์เดิมแบบร่วมสมัย เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้คนได้มาชื่นชมความสวยงามในอดีตของริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยามากขึ้น"

บันทึกทางประวัติศาสตร์ระบุว่า อาคารศุลกสถานนับเป็นหนึ่งในอาคารที่มีสถาปัตยกรรมยุโรปที่ทันสมัยที่สุดในอดีต และเมื่อประกอบกับปัจจัยภายนอกอย่างการตัดถนนเจริญกรุงเพื่อขยายเมืองกรุงเทพฯ ในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 บริเวณโดยรอบโรงภาษีร้อยชักสามจึงถือเป็นย่านเศรษฐกิจที่เจริญรุ่งเรืองมากที่สุดแห่งหนึ่งในราชอาณาจักรสยาม อีกทั้งยังเป็นพื้นที่ที่มีกลุ่มชาวต่างชาติจำนวนมากเดินทางเข้ามาค้าขายและตั้งถิ่นฐานอันนำมาซึ่งการผสมผสานของวัฒนธรรมที่หลากหลายในพื้นที่ ปัจจุบันพื้นที่ดังกล่าวยังคงรายล้อมด้วยสถานที่สำคัญหลายแห่ง อาทิ สถานทูตฝรั่งเศส มัสยิดฮารูณ วัดม่วงแค ร้านค้าดั้งเดิม รวมถึงโรงเรียนและโบสถ์อัสสัมชัญ

ในอดีต นอกจากจะใช้เป็นที่ทำการเก็บภาษีสินค้าขาเข้าและขาออกที่เรียกว่า "ภาษีร้อยชักสาม" แล้วอาคารแห่งนี้ยังเคยเป็นสถานที่จัดงานเลี้ยงสังสรรค์ของเชื้อพระวงศ์และชาวต่างชาติ และเป็นส่วนหนึ่งของงานสมโภชเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จนิวัติพระนครหลังจากเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรก จนกระทั่งปี พ.ศ. 2502 อาคารศุลกสถานถูกปรับเป็นที่ทำการของสถานีตำรวจดับเพลิงบางรัก อยู่เป็นระยะเวลายาวนานกว่า 60 ปี ก่อนจะย้ายออกไป ปัจจุบันตัวอาคารถูกปิดการเข้าใช้งาน และอยู่ในสภาพทรุดโทรม โดยมีโครงสร้างส่วนหนึ่งชำรุดผุพัง

"ด้วยความช่วยเหลือจากทีมผู้เชี่ยวชาญทั้งในด้านศิลปกรรม สถาปัตยกรรม และวิศวกรรม รวมทั้งการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย โครงการพัฒนาโรงภาษีร้อยชักสามจะเป็นไปตามหลักการบูรณะอาคารที่ได้รับการยอมรับในระดับสากลในทุกขั้นตอน โดยเราจะยึดการอนุรักษ์ความงดงามของสถาปัตยกรรมดั้งเดิมเป็นหลัก และพลิกฟื้นกลิ่นอายของประวัติศาสตร์ในแนวทางสากลเพื่อฟื้นคืนชีพสถาปัตยกรรมให้สมบูรณ์ใกล้เคียงกับความเป็นจริงในอดีตมากที่สุด การบูรณะจะเริ่มต้นขึ้นทันทีหลังจากการศึกษาเสร็จสิ้น และทาง ยู ซิตี้ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า การบูรณะอาคารโบราณสถานครั้งนี้ จะทำให้อาคารแห่งนี้กลับมามีชีวิตอีกครั้งหนึ่ง และต้อนรับความศิวิไลซ์ครั้งใหม่ในย่านริมน้ำเจ้าพระยาไปพร้อมๆ กัน" นายคีรีกล่าวเสริม

อนึ่ง โครงการพัฒนาที่ราชพัสดุแปลงที่ตั้งโรงภาษีร้อยชักสาม บนพื้นที่ทั้งหมดรวม 5 ไร่ จะใช้เวลาดำเนินการรวมประมาณ 6 ปี ประกอบด้วยการสำรวจขุดค้นทางโบราณคดี การบูรณะซ่อมแซมอาคารเดิมจำนวน 3 หลัง ด้วยการเสริมโครงสร้างและความแข็งแรง การตกแต่งภายนอก และการตกแต่งภายใน รวมถึงการสร้างอาคารใหม่อีก 1 หลัง โดยคาดการณ์ว่าการดำเนินงานบูรณะซ่อมแซมอาคารและพัฒนาพื้นที่ทั้งหมดจะเสร็จสิ้นภายในปี พ.ศ. 2568 โดยใช้งบประมาณการลงทุนกว่า 4,600 ล้านบาท และในลำดับต่อไปของการพัฒนาโครงการฯ จะครอบคลุมไปถึงการปรับปรุงพื้นที่ให้เป็นห้องประชุมสัมมนา ห้องจัดเลี้ยง พร้อมด้วยห้องอาหาร และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ อย่างครบครัน

เกี่ยวกับโรงภาษีร้อยชักสาม

อาคารศุลกสถานตั้งอยู่ในซอยเจริญกรุง 36 ถนนเจริญกรุง แขวงบางรัก เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร ออกแบบและก่อสร้างขึ้นระหว่างพ.ศ. 2427-2431 ด้วยฝีมือของสถาปนิกและช่างรับเหมาชาวอิตาเลียน โยอาคิม แกรซี่ (Joachim Grassi) ตัวอาคารเป็นสถาปัตยกรรมพาลลาเดียน (Palladianism) ซึ่งมีลักษณะผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าวางตัวขนานไปกับแม่น้ำเจ้าพระยา มีลักษณะเด่นอยู่ที่มุขกลางที่ประดับด้วยนาฬิกาและระเบียงด้านหน้าซึ่งปรากฏซุ้มหน้าต่างตลอดแนวอาคาร ในอดีตใช้เป็นอาคารที่ทำการของศุลกสถาน โดยเป็นอาคารสูง 3 ชั้น มีมุขกลางสูง 4 ชั้น ทรงนีโอคลาสสิก ถือเป็นแลนด์มาร์กสำคัญซึ่งอยู่คู่กับชุมชนริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยามาเป็นระยะเวลายาวนานและบอกเล่าเรื่องราวด้านประวัติศาสตร์การค้าขาย รวมถึงสถาปัตยกรรม วิถีชีวิต และการผสมผสานของวัฒนธรรมที่หลากหลายในพื้นที่ จนกระทั่งปี พ.ศ. 2502 สถานที่แห่งนี้ ถูกปรับเป็นที่ทำการสถานีตำรวจดับเพลิงบางรัก อยู่เป็นระยะเวลายาวนานกว่า 60 ปี ก่อนจะย้ายออกไปเกี่ยวกับ ยู ซิตี้

บริษัท ยู ซิตี้ จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทด้านการลงทุนและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ซึ่งดำเนินธุรกิจมากว่า 30 ปี และจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีมูลค่าทรัพย์สินกว่า 54,000 ล้านบาท (ณ สิ้นไตรมาสที่ 2 ปี 2562) โดยกลยุทธ์ทางธุรกิจของ ยู ซิตี้ คือการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ที่มีคุณภาพทั้งในประเทศไทย และในต่างประเทศทั่วโลก เช่น โรงแรมในยุโรป ภายใต้แบรนด์เวียนนา เฮ้าส์ และแบรนด์อื่นๆภายใต้การบริหารของบริษัท จำนวน 71 แห่ง และโรงแรมในประเทศไทยอีก 7 แห่ง เช่น โรงแรมอีสตินแกรนด์ สาทร โรงแรมยูสาทร และโรงแรมยู เชียงใหม่ ซึ่งส่งผลให้บริษัทฯ กลายเป็นหนึ่งในผู้ดำเนินธุรกิจโรงแรมรายใหญ่ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ โดยจะมีจำนวนห้องพักภายใต้การบริหารจัดการที่คาดว่าจะเปิดให้บริการภายในปี พ.ศ. 2567 รวมสูงถึงประมาณ 30,215 ห้อง ซึ่งรวมถึง โรงแรมที่รับบริหารภายใต้แบรนด์ "เวียนนา เฮ้าส์" "ยู โฮเต็ล" "อีสติน" และ "เทรฟลอดจ์" ทำให้บริษัทฯ สามารถขยายธุรกิจได้อย่างคล่องตัว เป็นไปตามกลไกตลาด

นอกเหนือจากธุรกิจโรงแรมแล้ว ยู ซิตี้ ยังได้มีการลงทุนในโครงการอื่นๆ อีกหลายโครงการ เช่น โรงเรียนนานาชาติเวอร์โซบริเวณถนนบางนา-ตราด มูลค่าโครงการ 4,800 ล้านบาท โครงการยูนิคอร์น ซึ่งเป็นโครงการก่อสร้างอาคารประเภทใช้สอยรวม (Mixed-Use) ซึ่งมีโรงแรมและพื้นที่อาคารสำนักงานอยู่ด้วยกันที่บริเวณสถานีรถไฟฟ้าพญาไท มูลค่า 9,300 ล้านบาท และยังร่วมมือกับพันธมิตรอย่างแสนสิริในการพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมบนแนวรถไฟฟ้า 26 โครงการ เช่น เดอะไลน์จตุจักร โมนูเมนต์ทองหล่อ รวมมูลค่าโครงการกว่า 60,000 ล้านบาท

HTML::image( HTML::image( HTML::image(