นายแพทย์กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้อำนวยการโรงพยาบาล (รพ.) จิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ จ.นครราชสีมา ให้สัมภาษณ์ว่า วันที่ 10 ตุลาคมทุกปี สหพันธ์สุขภาพจิตโลก (The World Federation Mental Health) กำหนดให้เป็นวันสุขภาพจิตโลก เพื่อให้ประชาชนทั่วโลกให้ความสำคัญปัญหาสุขภาพจิต ซึ่งในปีนี้เน้นการป้องกันการฆ่าตัวตาย โดยรายงานทั่วโลกพบปีละเกือบ 800,000 ราย ในส่วนของรพ.จิตเวชนครราชสีมาฯ ในวันนี้ได้จัดกิจกรรมให้ความรู้ประชาชนทั้งในและนอกรพ. โดยจัดหน่วยสุขภาพจิตร่วมกับหน่วยงานต่างๆของจ.นครราชสีมา ให้บริการประชาชนในโครงการเสริมสร้างความจงรักภักดีต่อสถาบัน บำบัดทุกข์ บำรุงสุข สร้างรอยยิ้มประชาชน ที่สำนักงานเทศบาลต.ตะขบ อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา โดยมีนิทรรศการให้ความรู้การดูแลสุขภาพจิต การป้องกันฆ่าตัวตาย บริการตรวจวัดสุขภาพใจทั้งความเครียด ความเศร้า ความเสี่ยงฆ่าตัวตาย ส่วนภายในรพ.จัดบริการที่แผนกผู้ป่วยนอก มีนิทรรศการให้ความรู้ บริการตรวจประเมินความเครียด ให้คำปรึกษา และให้บริการนวดคลายเครียดโดยแพทย์แผนไทยฟรี ซึ่งประชาชนสามารถนำไปใช้เพื่อคลายเครียดเองที่บ้านได้ด้วย
นายแพทย์กิตต์กวีกล่าวว่า สถานการณ์ฆ่าตัวตายในเขตสุขภาพนครชัยบุรินทร์ ประกอบด้วย 4 จังหวัดอีสานตอนล่างในปีงบประมาณ 2562 ลดลงกว่าปี 2561 ร้อยละ 28 โดยมีรายงานฆ่าตัวตายรวม 268 ราย คิดเป็นอัตรา 3.92 ต่อประชากรแสนคนอยู่ในเกณฑ์เป้าหมายของกรมสุขภาพจิตที่กำหนดไว้ไม่เกินอัตรา 6.3 ต่อแสนประชากรแยกดังนี้ จ.นครราชสีมา 103 ราย ชัยภูมิ 99 ราย บุรีรัมย์ 36 ราย และสุรินทร์ 30 ราย เป็นชายมากกว่าหญิง 6 เท่าตัว ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุและวัยแรงงาน สาเหตุการฆ่าตัวตายอันดับ1 ร้อยละ 56 เกิดจากปัญหาชีวิตต่างๆ รองลงมาคือติดสุราร้อยละ 18 ป่วยซึมเศร้าร้อยละ 9
นายแพทย์กิตต์กวีกล่าวต่อว่า ในปีงบประมาณ 2563 นี้ รพ.จิตเวชฯ ได้ปรับแผนป้องกันการฆ่าตัวตายในพื้นที่เขตสุขภาพนครชัยบุรินทร์ ขยายการเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยงจาก 4 กลุ่มเดิมคือ กลุ่มป่วยเรื้อรังทั้งที่ติดเตียงติดบ้านกลุ่มป่วยทางจิต กลุ่มติดยาเสพติด/ติดสุรา และกลุ่มที่เคยฆ่าตัวตาย โดยเพิ่มอีก 2 กลุ่ม คือกลุ่มครอบครัวของผู้ที่ฆ่าตัวตายเนื่องจากผลการวิจัยขององค์การอนามัยโลก(WHO)พบว่าการฆ่าตัวตาย 1 คน จะส่งผลกระทบจิตใจกับคนที่ยังมีชีวิตเนื่องมาจากความสูญเสียได้ถึง 6 คน เช่น พ่อ แม่ ภรรยา/สามี ลูก เป็นต้น และกลุ่มคนปกติที่เผชิญปัญหาชีวิตเช่นปัญหาเศรษฐกิจ สังคมการทำงานเป็นต้น ตามข้อมูลที่ปรากฏในพื้นที่ซึ่งพบว่าเป็นสาเหตุการฆ่าตัวตายมากที่สุดและพบได้มากกว่าครึ่ง
ทั้งนี้มาตรการดำเนินงานจะเน้นการค้นหาและให้การปฐมพยาบาลทางใจอย่างทันท่วงที โดยเฉพาะในกลุ่มคนปกติที่เผชิญกับมรสุมชีวิตต่างๆจะเน้นการเอกซเรย์คัดกรองหาปัญหาเพื่อจัดระดับความเสี่ยง และดูแลเฝ้าระวังอย่างเหมาะสมและต่อเนื่อง ขณะนี้ได้อบรมพยาบาลจิตเวชประจำรพ.ศูนย์/ทั่วไปและรพ.ชุมชนทั้ง 4 จังหวัดแล้ว และจะอบรมเพิ่มในกลุ่มเจ้าหน้าที่สาธารณสุขประจำรพ.ส่งเสริมสุขภาพตำบลและอสม.เพื่อขยายผลครอบคลุมทุกหมู่บ้านซึ่งมี 10,000 กว่าหมู่บ้านโดยเร็วที่สุด สร้างความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังป้องกัน และการช่วยเหลือเบื้องต้นในชุมชนได้อย่างทันการขึ้น โดยจะประเมินผลในอีก 6 เดือน
" ครอบครัวมีส่วนสำคัญที่สุดในการป้องกันการฆ่าตัวตายเนื่องจากอยู่ใกล้ชิดกับปัญหามากที่สุด ผู้ที่เจอทางตันในชีวิตมักจะขอความช่วยเหลือจากคนในครอบครัวเป็นอันดับต้นๆ คำพูดอันตรายที่ครอบครัวไม่ควรใช้อย่างยิ่งในช่วงเวลานี้ก็คือ อย่าด่าซ้ำ อย่าตำหนิ อย่าสั่งสอน และอย่าตะเพิดไล่ส่ง เนื่องจากจะยิ่งซ้ำเติมความเครียดรุนแรงขึ้น และตอกย้ำการโทษตัวเองว่าไร้ค่า ซึ่งจะเป็นตัวเร่งสำคัญที่สุดทำให้ตัดสินใจฆ่าตัวตายหนีปัญหา " นายแพทย์กิตต์กวีกล่าว
นายแพทย์กิตต์กวีกล่าวต่ออีกว่า สิ่งที่ครอบครัวควรทำเพื่อป้องกันผู้ที่กำลังทุกข์ใจไม่ให้คิดสั้น มีข้อแนะนำ 5 ประการดังนี้ 1.ใช้สติใจเย็น ให้รับฟังให้มาก เพื่อให้เขาระบายทุกข์ที่อยู่ในใจออกมาพูดคุยถามปัญหาด้วยน้ำเสียงที่นุ่มนวล ท่าทีเป็นมิตรและจริงใจ 2. ให้กำลังใจ ช่วยคิดหาทางออก 3. ส่งเสริมให้เห็นคุณค่า ให้ผู้ที่มีปัญหามองข้อดีและความสามารถของตัวเอง เพื่อให้เขาเกิดความภาคภูมิใจว่าตัวเองไม่ได้ไร้ค่า 4. แจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่เพื่อช่วยเหลือในขั้นต่อไป และ 5.ช่วยกันเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง อย่าปล่อยให้อยู่คนเดียว
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit