นายอิทธิชัย ยศศรี รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรม เตรียมผลักดันอุตสาหกรรมอาหารแปรรูป (Food for Future) หนึ่งใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) เพื่อตอบสนองนโยบายภาครัฐและสอดรับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และใช้เป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต (New Engine of Growth) พร้อมก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางการผลิตอาหารอนาคตของอาเซียน ควบคู่กับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก โดยการต่อยอดและสร้างมูลค่าเพิ่มแก่สินค้าอาหารให้สอดรับกับเทรนด์อาหาร ที่จะเน้นอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ รวมทั้งโปรตีนทดแทน (Plant Based Food) เป็นหลัก ตามความนิยมบริโภคเพื่อรักษาสุขภาพลดความเสี่ยงของโรคที่เกิดจากการบริโภคอาหารประเภทเนื้อสัตว์ รวมทั้งเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่ไม่สร้างมลพิษในขั้นตอนการผลิต ประกอบกับเตรียมพร้อมรับมือกับภาวะขาดแคลนเนื้อสัตว์ในอนาคต
นายอิทธิชัย กล่าวต่อว่า สศอ. ได้ให้ความสำคัญต่อการเพิ่มขีดความสามารถด้านการผลิตเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าอาหารด้วยการยกระดับการผลิตจากสินค้า Commodity ไปสู่กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารมูลค่าสูง จึงได้พัฒนาศูนย์สารสนเทศอัจฉริยะอุตสาหกรรมอาหาร (Food Intelligence Center) อย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 14 ปี โดยนำเสนอข้อมูลสารสนเทศเชิงลึกอุตสาหกรรมอาหาร เช่น การติดตามสถานการณ์ความเคลื่อนไหวในแวดวงอุตสาหกรรมอาหาร ครอบคลุมทุกด้านไม่ว่าจะเป็น ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมการผลิตหรือสินค้า กฎระเบียบและมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง แนวโน้มด้านการตลาดและเมกะเทรนด์ที่สำคัญ รวมทั้งไฮไลท์สำคัญคือการศึกษาวิจัยเชิงลึกในประเด็นที่เป็นทิศทางในอนาคต ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารของไทยในวงกว้าง เพื่อเตรียมความพร้อมในการยกระดับอุตสาหกรรมอาหารให้เป็นอาหารอนาคต สามารถตอบสนองกับบริบทและแนวโน้มการบริโภคของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป สศอ. จึงได้จัดทำแนวทางการพัฒนาอาหารวีแกนเพื่อรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารไทย ซึ่งอาหารวีแกนเป็นอาหารที่มาแรงแซงอาหารทุกประเภทในหมวดเพื่อสุขภาพและได้รับความสนใจอย่างมากจากผู้ผลิตสินค้าชั้นนำระดับโลก อาทิ บริษัท Impossible Foods Burger King McDonald's และ KFC ที่ได้ออกผลิตภัณฑ์มาเปิดตลาดก่อน ไม่ว่าจะเป็น เบอร์เกอร์เนื้อไร้เนื้อ ไก่ทอดมังสวิรัติ และ บริษัท Kellogg Unilever และ บริษัท Nestle กำลังจะออกผลิตภัณฑ์ใหม่ตามมาในเร็วๆ นี้ รวมทั้งกระแสความนิยมของผู้บริโภคทั่วโลกโดยเฉพาะชาวอเมริกาและยุโรป
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ตลาดอาหารวีแกนเติบโตอย่างก้าวกระโดด ตามการขยายตัวของกลุ่มผู้บริโภคที่เป็นตลาดส่งออกอาหารที่สำคัญของไทย ทั้งในสหรัฐอเมริกาและยุโรป โดยคนวีแกนในสหรัฐฯ เพิ่มจำนวนขึ้นจาก 2 ล้านคนในปี 2557 เป็น 20 ล้านคนในปี 2561 หรือร้อยละ 80 ต่อปีในช่วง 4 ปีหลัง ในขณะที่ค่าใช้จ่ายด้านอาหารของคนวีแกนในยุโรปเพิ่มขึ้นจาก 74,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เป็น 120,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 13 ต่อปี ตลอดระยะเวลา 5 ปีหลัง (ปี 2557-2561) นอกจากนี้ สถิติจำนวนสินค้าใหม่ (New product launce) ที่ออกสู่ตลาดโลกใน ปี 2561 กลุ่มอาหารวีแกนมีจำนวนเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 20 จากปีก่อน ซึ่งสูงกว่าสินค้าอาหารทั่วไปที่เพิ่มขึ้นเพียง ร้อยละ 10 เท่านั้น ซึ่งตัวชี้วัดดังกล่าวยังแสดงให้เห็นถึงศักยภาพทางการตลาดอาหารวีแกนที่ผู้ประกอบการไทยไม่ควรมองข้าม อันจะนำไปสู่การพัฒนาธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการ รวมทั้งเป็นแนวทางในการวางนโยบายการพัฒนาของภาครัฐ เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของอุตสาหกรรมอาหารของไทยให้ก้าวไปสู่ความยั่งยืนต่อไป นายอิทธิชัย กล่าวปิดท้าย
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit