ก.แรงงาน ตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจ ตรวจสอบอุบัติภัยจากการทำงาน

24 Oct 2019
กระทรวงแรงงาน ตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจ ตรวจสอบการเกิดอุบัติภัยหรือการประสบอันตรายจากการทำงาน พร้อมลงพื้นที่ทันทีหากเกิดเหตุร้ายแรง ตั้งเป้าลดอันตรายจากการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ
ก.แรงงาน ตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจ ตรวจสอบอุบัติภัยจากการทำงาน

หม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า จากกรณีที่ปรากฎเหตุการณ์เกี่ยวกับอุบัติเหตุในการก่อสร้างหรือการประสบอันตรายจากการทำงานนำมาซึ่งความสูญเสียต่อชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของลูกจ้าง นายจ้าง กระทรวงแรงงาน ได้ให้ความสำคัญและถือเป็นภารกิจเร่งด่วนที่จะหาแนวทาง รวมถึงมาตรการในการดูแลและป้องกันเหตุดังกล่าว พร้อมทั้งบังคับใช้กฎหมายให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จึงได้มีคำสั่งกระทรวงแรงงานแต่งตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจตรวจสอบการเกิดอุบัติภัยหรือการประสบอันตรายจากการทำงานกรณีร้ายแรง โดยแต่งตั้งพนักงานตรวจความปลอดภัยเป็นคณะทำงานเฉพาะกิจ ประกอบด้วย ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน เป็นหัวหน้าคณะ รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ผู้อำนวยการกองนิติการ และผู้อำนวยการ กองความปลอดภัยแรงงาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เป็นคณะทำงาน มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุ รวบรวมพยานหลักฐานและแจ้งความดำเนินคดีกับผู้รับผิดชอบรวมถึงผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นที่สมควร ทั้งนี้ เมื่อเกิดเหตุการณ์อุบัติภัยร้ายแรงเกี่ยวกับการทำงานขึ้นทั่วราชอาณาจักร มีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต คณะทำงานเฉพาะกิจฯ จะเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ทันที เพื่อความปลอดภัยของพี่น้องผู้ใช้แรงงานและประชาชนทั่วไป ซึ่งคณะทำงานเฉพาะกิจฯ ดังกล่าวได้เริ่มปฏิบัติหน้าที่มาตั้งแต่วันที่ 17 ตุลาคม 2562

รมว.แรงงาน กล่าวต่อไปว่า เพื่อให้การลดการประสบอันตรายจากการทำงานมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น กระทรวงแรงงาน ได้ดำเนินมาตรการความปลอดภัยในการทำงานก่อสร้างอาคารสูงโดยส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจกำกับ ควบคุม ดูแลสถานประกอบกิจการประเภทงานก่อสร้างที่มีการใช้งานปั้นจั่นหอสูง หรือ Tower crane ให้ปฏิบัติ ให้ถูกต้องตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด นอกจากนี้ ยังมีมาตรการระยะยาวในการพัฒนาปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับงานก่อสร้างให้สอดรับกับสภาพปัญหาเพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุซ้ำ ตลอดจนเสริมสร้างความร่วมมือกับเครือข่ายและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการภายใต้โครงการความปลอดภัยและอาชีวอนามัยของประเทศไทย (Safety Thailand) และได้พัฒนาศักยภาพพนักงานตรวจความปลอดภัยในระดับพื้นที่ กำหนดแนวทางแผนงานด้านความปลอดภัยในการทำงานก่อสร้าง รวมทั้งประชุมชี้แจงมาตรฐานกฎหมายความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานสำหรับนายจ้าง ลูกจ้างและประชาชนทั่วไปอีกด้วย