น้องในโลกเงียบ กับศักยภาพที่พัฒนาได้ 'อาสากรุงศรี ออโต้’ ร่วมเป็นกระบอกเสียง เปิดประตูการเรียนรู้อย่างเท่าเทียม

24 Oct 2019
สังคมไทยในปัจจุบันมีความเข้าใจต่อกลุ่มคนที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน และเปิดรับความแตกต่างมากขึ้น ทว่ายังไม่ได้มีใครให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะให้กับพวกเขาอย่างจริงจัง แต่นั่นไม่ใช่สำหรับครูที่โรงเรียนโสตศึกษาเทพรัตน์ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และอาสาสมัครกรุงศรี ออโต้ ที่เชื่อมั่นว่านักเรียนที่มีข้อจำกัดทางการได้ยิน มีศักยภาพในการเรียนรู้ สามารถพัฒนาและเข้าไปมีส่วนร่วมทางสังคมที่เท่าเทียมกับนักเรียนกลุ่มปกติได้
น้องในโลกเงียบ กับศักยภาพที่พัฒนาได้ 'อาสากรุงศรี ออโต้’ ร่วมเป็นกระบอกเสียง เปิดประตูการเรียนรู้อย่างเท่าเทียม
  • บกพร่อง ใช่ว่าอ่อนแอและเรียนรู้ไม่ได้

คุณครูแสงเดือน ตรีนันทวัน ล่ามภาษามือ โรงเรียนโสตศึกษาเทพรัตน์ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ อีกหนึ่งแม่พิมพ์ของชาติที่พร้อมผลักดันให้ลูกศิษย์ทุกคนเข้าถึงการเรียนรู้อย่างที่พวกเขาสมควรได้รับ เล่าให้พวกเราฟังพร้อมสื่อสารภาษามือให้น้องๆ นักเรียนที่มีความบกพร่องทางการได้ยินที่นั่งอยู่ข้างๆ เข้าใจในบทสนทนาว่า "เด็กนักเรียนที่นี่มีทั้งหมดประมาณร้อยกว่าคน กว่า 70 % มีความบกพร่องทางการได้ยิน และอีกส่วนมีความบกพร่องทางร่างกายด้านอื่นหรือมีความผิดปกติทางสมอง เช่น นักเรียนที่มีความพิการซ้ำซ้อน หรือนักเรียนออทิสติก แต่เด็กนักเรียนทุกคนมีพัฒนาการ คุณครูทุกคนที่นี่ใช้หัวใจสร้างความเข้าใจในการดูแลเด็กๆ เราไม่ได้มองว่าเด็กนักเรียนที่มีความบกพร่องหรือมีข้อจำกัดคือเด็กที่อ่อนแอ แต่มองว่าพวกเขาคือเด็กนักเรียนที่มีความจำเป็นพิเศษที่จะต้องได้รับความช่วยเหลือในด้านหนึ่งด้านใด คุณครูทุกคนเชื่อว่าพวกเขาทำได้ เรียนรู้ได้ และพัฒนาได้ สมควรได้รับโอกาสและมีอนาคตที่ดีเหมือนเด็กทั่วไป"

  • เสียงจากหัวใจของน้องในโลกเงียบ ทุกคนอยากมีอนาคตที่สดใส

เด็กนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการได้ยินทุกคน ต่างก็มีความฝันและอยากมีอนาคตที่ดีไม่ต่างจากเด็กทั่วไป นอกเหนือจากการเรียนภาษามือควบคู่กับการเขียนและการอ่านภาษาไทยในห้องเรียนแล้ว กิจกรรมนอกบทเรียนเพื่อส่งเสริมพัฒนาการและเสริมทักษะชีวิตจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นและสำคัญมากสำหรับพวกเขา คุณครูเดือน เล่าให้ฟังถึงทักษะที่จำเป็นนอกห้องเรียน พร้อมชี้ไปที่สหกรณ์ออมทรัพย์ของโรงเรียน ที่คุณครูเข้ามามีส่วนในการช่วยบริหารจัดการเรื่องค่าใช้จ่ายในแต่ละวันให้เด็กๆ "นอกห้องเรียน เราก็จะพยายามสร้างวินัยการออมซึ่งเป็นหนึ่งในทักษะชีวิตที่สำคัญให้กับพวกเขา เชื่อไหมว่านักเรียนบางคนเขามีเงินออมฝากไว้ที่คุณครู พอเรียนจบเขาก็มีเงินก้อนพอที่จะใช้เป็นทุนเพื่อใช้ในการเรียนต่อ หรือนำเงินเก็บก้อนนี้ไปเป็นทุนตั้งต้นในการประกอบอาชีพให้มีรายได้เลี้ยงตนเองและครอบครัวต่อไป การเป็นผู้มีความบกพร่องทางการได้ยินก็ใช้ชีวิตยากกว่าคนทั่วไปอยู่แล้ว หลายๆครั้ง "โอกาส" เป็นสิ่งที่ได้มายากหรือบางครั้งก็แทบจะไม่มีใครหยิบยื่นให้พวกเขา ทักษะการออมเงินหรือการวางแผนทางการเงินที่ดีจึงเป็นสิ่งหนึ่งที่จะช่วยให้พวกเขามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและมีอนาคตที่มั่นคงสดใส"

  • ต้นทางของทุกโอกาส คือใจที่เปิดกว้าง(และความเชื่อมั่น)จากสังคม

กรุงศรี ออโต้ ได้จัดกิจกรรมและขยายผลโครงการ กรุงศรี ออโต้ สอนโสตฯ รอบรู้เรื่องเงิน มาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 โดยมีพนักงานอาสาสมัครจากทั้งสำนักงานใหญ่และสาขาในพื้นที่ เป็นแรงขับเคลื่อนหลักในการทำกิจกรรมกับนักเรียนทั่วประเทศ เพื่อปลูกฝังค่านิยมเรื่องการช่วยเหลือ การแบ่งปัน สร้างความตระหนักในการเป็นผู้ให้ ผ่านการมอบโอกาสทางการศึกษาให้กลุ่มคนที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน ที่ผ่านมาได้มีการดำเนินการในโรงเรียนโสตศึกษาทั่วประเทศมาแล้วทั้งหมด 14 แห่ง

นางสาวสิริพร ศุภรัชตการ ประธานคณะกรรมการอาสาสมัคร กรุงศรี ออโต้ ประจำปี 2562 กล่าวว่า "กรุงศรี ออโต้ ได้ดำเนินการจัดกิจกรรมเพื่อประโยชน์สำหรับเยาวชนที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน โดยมีการทำงานอย่างใกล้ชิดกับโรงเรียนโสตศึกษาในเครือมูลนิธิอนุเคราะห์คนหูหนวก ในพระบรมราชินูปถัมภ์ฯ ทั่วประเทศมาอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งที่เราเลือกมาจัดกิจกรรมที่โรงเรียนโสตศึกษาเทพรัตน์ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ในครั้งนี้ เป็นเพราะได้รับคำแนะนำจากท่านศุขสนั่น โชติกเสถียร ประธานกรรมการมูลนิธิฯ ที่มองว่าโรงเรียนในพื้นที่อำเภอบางสะพานยังขาดโอกาสอยู่มากและเป็นพื้นที่ห่างไกลที่หลายคนมองข้าม ครั้งนี้พวกเราไม่เพียงดีใจที่ได้มามอบโอกาส แบ่งปันความรู้และช่วยสร้างทักษะการเงินให้กับน้องๆ อย่างเช่นเรื่องการคิดก่อนใช้ เป็นสิ่งที่จำเป็นและควรปลูกฝังตั้งแต่พวกเขายังเด็ก เพราะทักษะนี้เองจะช่วยให้พวกเขารู้จักเก็บออม และบริหารเงินเพื่อไว้ใช้จ่ายในคราวจำเป็นในอนาคตได้ พวกเรายังมีความยินดีที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการจุดประกายความหวังให้กับน้องๆ นักเรียนจากโรงเรียนโสตศึกษาเทพรัตน์ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กว่า 50 คน และขอเป็นอีกหนึ่งกระบอกเสียงยืนยันว่าน้องๆ นักเรียนที่มีความบกพร่องทางการได้ยินกลุ่มนี้มีศักยภาพในการเรียนรู้ โดยในปีนี้เรายังได้ขยายกิจกรรมไปยังโรงเรียนโสตศึกษาอีก 2 แห่งในพื้นที่ห่างไกล ได้แก่ โรงเรียนโรงเรียนโสตศึกษาจังหวัดชัยภูมิ และโรงเรียนโสตศึกษาจังหวัดพังงา ต่อให้การเดินทางเป็นไปอย่างยากลำบากเพียงใด เพียงแค่ได้เห็นรอยยิ้มและแววตาของน้องๆ พวกเราชาวอาสาสมัครกรุงศรี ออโต้ ทุกคนก็หายเหนื่อยแล้วค่ะ เราหวังว่าโครงการฯ จะช่วยหยิบยื่นโอกาสในการเรียนรู้ให้กับกลุ่มเยาวชนที่หลายคนอาจมองข้ามไป และช่วยสร้างรากฐานที่มั่นคงในการใช้ชีวิตให้กับพวกเขาในอนาคตต่อไป"

นางสาววรุณภรณ์ รอดดี อาสาสมัคร กรุงศรี ออโต้ ประจำปี 2562 กล่าวเสริม "ตั้งแต่เริ่มต้นโครงการฯ ก็ได้เข้าร่วมกิจกรรมมาโดยตลอด ในครั้งแรกๆ รู้สึกท้าทายที่ต้องสอนทักษะการเงินกับน้องๆ ผ่านภาษามือ แต่หลังจากนั้น รู้สึกว่าภาษามือเป็นการสื่อสารที่มีเสน่ห์ ภายใต้โอกาสที่ทุกคนหยิบยื่นให้ สภาพแวดล้อมที่พวกเขาสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ น้องๆ ทุกคนสามารถเรียนรู้ได้ อยากให้ทุกคนในสังคมมอบโอกาสและสนับสนุนให้น้องๆกลุ่มนี้มีส่วนร่วมทางสังคมอย่างเต็มที่ ดีใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมนี้ และตั้งใจว่าจะมาร่วมกิจกรรมในครั้งหน้าอย่างแน่นอน"

"ผมขอขอบคุณพี่ๆ อาสาสมัครที่มาจัดกิจกรรมและมอบโอกาสในการเรียนรู้ทักษะการเงินเช่นนี้ให้กับพวกเรา ฐานกิจกรรมทั้ง 5 ฐานทำให้ผมได้เห็นความสำคัญของการออมเงิน การมีเงินเหลือเก็บเผื่อไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน หรือคราวจำเป็น ผมตั้งใจไว้ว่าจะนำความรู้ที่ได้นี้ไปใช้ เพื่อที่จะได้มีเงินออมสำหรับไว้เป็นทุนการศึกษาของผมในอนาคตครับ" ดช.สิริภพ แสงจันทร์ หรือน้องยอร์ช นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนโสตศึกษาเทพรัตน์ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ผู้มีความบกพร่องทางการได้ยินมาตั้งแต่กำเนิด สื่อสารกับพวกเราผ่านภาษามือ ด้วยรอยยิ้มและแววตาแห่งความหวังที่อบอุ่นไปถึงหัวใจของคุณครูและพี่ๆ อาสาสมัครกรุงศรี ออโต้ที่นั่งล้อมวงฟังบทสนทนาในวันนั้น

น้องในโลกเงียบ กับศักยภาพที่พัฒนาได้ 'อาสากรุงศรี ออโต้’ ร่วมเป็นกระบอกเสียง เปิดประตูการเรียนรู้อย่างเท่าเทียม น้องในโลกเงียบ กับศักยภาพที่พัฒนาได้ 'อาสากรุงศรี ออโต้’ ร่วมเป็นกระบอกเสียง เปิดประตูการเรียนรู้อย่างเท่าเทียม น้องในโลกเงียบ กับศักยภาพที่พัฒนาได้ 'อาสากรุงศรี ออโต้’ ร่วมเป็นกระบอกเสียง เปิดประตูการเรียนรู้อย่างเท่าเทียม