ศ. พญ. กนกวลัย กุลทนันทน์ ภาควิชาตจวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า เนื่องด้วยในวันที่ 1 ตุลาคม ของทุก ๆ ปี เป็นวันโรคลมพิษโลก โรงพยาบาลศิริราชจึงได้สานต่อจัดกิจกรรม "ศิริราชห่วงใย ชวนใส่ใจโรคลมพิษ ครั้งที่ 4" เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญของโรคลมพิษ ซึ่งถึงแม้จะไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต แต่ก็มีผลกระทบอย่างมากต่อการดำเนินชีวิตของผู้ป่วย รวมไปถึงการเข้าถึงการบำบัดรักษาที่เหมาะสม ในงานนี้ผู้ป่วยจะได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้และประสบการณ์ในการรักษา ภายในงานได้มีกลุ่มผู้ป่วย บุคคลทั่วไป และบุคลากรทางแพทย์เข้าร่วมงานจำนวนกว่า 100 คน และมีสถานีที่จัดขึ้นมาเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับความรู้เกี่ยวกับโรคลมพิษ จำนวน 4 สถานี ประกอบด้วย สถานีที่ 1 – ยาที่ใช้การรักษาโรคลมพิษ สถานีที่ 2 – แบบประเมินอาการผู้ป่วยโรคลมพิษ สถานีที่ 3 และ 4 – การทดสอบผื่นลมพิษจากการสาเหตุทางกายภาพ โดยทุกสถานีได้เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมงานได้รู้จักและทดลองทดสอบจริงกับอุปกรณ์ที่ใช้เพื่อการวินิจฉัย ทั้งยังสามารถสอบถามแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้อย่างใกล้ชิดตลอดงานอีกด้วย
โรคลมพิษ (Urticaria) เป็นโรคที่คนทุกเพศทุกวัยสามารถเป็นได้ เกิดจากร่างกายมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อตัวกระตุ้น ผิวหนังจะมีลักษณะเป็นผื่นหรือปื้นนูนแดง ไม่มีขุย มีขนาดตั้งแต่ 0.5 - 10 ซม. มักกระจายตามร่างกายอย่างรวดเร็ว และทำให้ผู้ป่วยมีอาการคันตามบริเวณที่มีผื่นขึ้น โดยทั่วไปแต่ละผื่นจะอยู่ไม่เกิน 24 ชั่วโมง แล้วผื่นนั้นก็จะราบไปโดยไม่ทิ้งร่องรอยใด ๆ แต่ก็สามารถมีผื่นใหม่ขึ้นที่อื่น ๆ ได้ ผื่นเกิดจากการที่ร่างกายปล่อยสาร "ฮีสตามีน" (Histamine) และสารอื่น ๆ ผู้ป่วยบางรายอาจมีริมฝีปากบวม ตาบวม ร่วมด้วย รายที่เป็นรุนแรงอาจมีอาการปวดท้อง แน่นจมูก หายใจไม่สะดวก หอบหืด เป็นลมจากความดันโลหิตต่ำได้ แต่ก็พบน้อยมาก ทั้งนี้สามารถแบ่งชนิดของโรคลมพิษเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ โรคลมพิษเฉียบพลัน (Acute Urticaria) ผื่นลมพิษที่จะเกิดขึ้นตามร่างกายในระยะเวลาติดต่อกันไม่เกิน 6 สัปดาห์ และ โรคลมพิษเรื้อรัง (Chronic Urticaria) ผื่นลมพิษที่จะมีอาการเป็น ๆ หาย ๆ อย่างต่อเนื่องนานเกินกว่า 6 สัปดาห์ขึ้นไป
โรคลมพิษมักจะส่งผลให้ผู้ป่วยมีความกังวลต่อการดำเนินชีวิตตลอดเวลา สิ่งที่ควรปฏิบัติหากรู้ว่าตนเองนั้นเป็นโรคลมพิษ เพื่อบรรเทาและป้องกันลมพิษได้ด้วยตัวเอง อีกทั้งยังช่วยให้การวินิจฉัยของแพทย์สามารถทำได้ง่ายขึ้น ดังเช่น
1. หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นให้เกิดลมพิษตามแพทย์แนะนำอย่างเคร่งครัด
2. ต้องนำยาต้านฮิสตามีนติดตัวไว้เสมอ เมื่อเกิดอาการจะใช้ได้ทันที
3. ทำจิตใจให้สบาย ไม่เครียด
4. ไม่แกะเกาผิวหนัง เพราะอาจทำให้เกิดผิวหนังอักเสบจากการเกา
5. รับประทานยาตามแพทย์สั่ง หากยาทำให้เกิดอาการง่วงซึม จนรบกวนการทำงานควรบอกแพทย์เพื่อเปลี่ยนยา
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit