จิตเวชโคราชจัดบริการ“คลินิกทันตกรรม” รักษาโรคช่องปากผู้ป่วยจิตเวช สร้างรอยยิ้ม! พร้อมแนะ 6 วิธีป้องกัน!

21 Oct 2019
รพ.จิตเวชนครราชสีมาฯ จัดบริการคลินิกทันตกรรม ตรวจรักษาโรคในช่องปากและทำฟันผู้ป่วยจิตเวชเป็นการเฉพาะเผยเป็นกลุ่มเสี่ยงเกิดฟันผุสูง สาเหตุมาจากอาการป่วยและผลข้างเคียงจากยาที่ใช้รักษา เช่น ยาต้านโรคจิตยาต้านเศร้า ทำให้ปากแห้งมีน้ำลายน้อยเป็นผลให้เชื้อแบคทีเรียสะสมได้ง่าย พร้อมแนะ 6 วิธีป้องกัน โดยในวันทันตสาธารณสุขแห่งชาติวันนี้ จัดบริการฟรีแก่ประชาชนทั่วไปเช่นอุดฟัน ถอนฟัน ขูดหินปูน เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล
จิตเวชโคราชจัดบริการ“คลินิกทันตกรรม” รักษาโรคช่องปากผู้ป่วยจิตเวช สร้างรอยยิ้ม! พร้อมแนะ 6 วิธีป้องกัน!

นายแพทย์กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้อำนวยการโรงพยาบาล(รพ.)จิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ จ.นครราชสีมา ให้สัมภาษณ์ว่ารพ.จิตเวชฯ ได้จัดคลินิกทันตกรรมเป็นบริการพิเศษแก่ผู้ป่วยจิตเวช มีเครื่องมือและทีมบุคลากรที่มีทักษะความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษในการดูแลสุขภาพในช่องปากของผู้ป่วย เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงเกิดโรคฟันผุได้สูงกว่าประชาชนทั่วไป สาเหตุมาจากทั้งตัวโรคและอาการของผู้ป่วยซึ่งมีความผิดปกติหลายด้านทั้งความคิด อารมณ์ การรับรู้ และพฤติกรรม ทำให้มีข้อจำกัดการทำกิจวัตรประจำวัน การดูแลสุขภาพตัวเองเช่นการอาบน้ำ แปรงฟัน และยังเกิดมาจากผลข้างเคียงของยาที่ใช้รักษาเพื่อปรับการทำงานของสมองเช่นยาต้านโรคจิต ยาคลายกังวล ยาต้านเศร้า เป็นต้น ทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการปากแห้ง มีน้ำลายลดลงจำเป็นต้องได้รับการดูแลเพื่อการรักษาและการป้องกันโรคฟันผุเช่นเดียวกับประชาชนทั่วไป ให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตดี มีรอยยิ้ม ลดความเครียดจากการปวดฟัน และเกิดความมั่นใจในการเข้าสังคม จัดว่าเป็นการช่วยฟื้นฟูสมรรถภาพทางใจผู้ป่วยจิตเวชอีกด้วยโดยขณะนี้นอกจากบริการผู้ป่วยจิตเวชแล้วยังเพิ่มการให้บริการแก่ประชาชนทั่วไปทุกสิทธิการรักษาในวันจันทร์ วันพุธ และวันศุกร์ด้วย

สำหรับวันที่ 21 ตุลาคม 2562 นี้ ซึ่งเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี พระมารดาแห่งการทันตแพทย์ไทย เป็นวันทันตสาธารณสุขแห่งชาติและเป็นวันพยาบาลแห่งชาติ รพ.จิตเวชฯได้จัดนิทรรศการที่แผนกผู้ป่วยนอก บริการประเมินความเครียด ซึมเศร้า และการให้คำปรึกษาฟรีโดยพยาบาลจิตเวช และจัดบริการตรวจรักษาโรคในช่องปากเช่นอุดฟัน ถอนฟัน ขูดหินปูน เคลือบฟลูออไรด์ให้แก่ประชาชนทั่วไปฟรี ตั้งแต่เวลา 8.30-14.30 น. เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล ทางด้านทันตแพทย์หญิงกิติมา ลี้สุรพลานนท์ รองผู้อำนวยการและหัวหน้ากลุ่มงานทันตกรรม รพ.จิตเวชฯกล่าวว่า น้ำลายมีส่วนสำคัญในการรักษาสุขภาพช่องปาก ทำหน้าที่หลายอย่างเช่น ทำความสะอาดช่องปาก ช่วยในการกลืนอาหาร ต้านเชื้อแบคทีเรีย ป้องกันการละลายของแร่ธาตุในฟัน การที่ปากแห้งมีน้ำลายน้อยจะมีผลให้เกิดการสะสมของเชื้อแบคทีเรียและเศษอาหาร ทำให้ฟันผุ เกิดโรคในช่องปาก มีกลิ่นปาก มีรายงานการศึกษาของกรมสุขภาพจิตในช่วงปี 2556-2557 ผู้ป่วยจิตเวชมีฟันผุร้อยละ 90 ซึ่งสูงกว่าประชาชนทั่วไป ซึ่งมีค่าเฉลี่ยฟันผุ อุด ถอน ร้อยละ 86.7 และพบภาวะเหงือกอักเสบร้อยละ 87

ทันตแพทย์หญิงกิติมากล่าวต่อว่าโดยทั่วไปผู้ป่วยจิตเวชสามารถให้การตรวจรักษาทางทันตกรรมได้ตามปกติ แต่จะต้องเพิ่มการดูแลทางด้านจิตใจควบคู่ไปด้วย เนื่องจากผู้ป่วยจิตเวชมักจะมีความกังวลสูง และกลัวการทำฟัน เช่นผู้ป่วยที่เป็นโรควิตกกังวล เมื่อมีปัญหาในช่องปากก็มักจะเกิดอาการวิตกกังวลมากยิ่งขึ้น ส่วนผู้ป่วยโรคซึมเศร้า มักจะขาดความสนใจดูแลช่องปาก และไม่ค่อยให้ความร่วมมือในการทำฟัน ซึ่งอาจเนื่องมาจากความกลัวหรือความกังวลในการรักษาส่วนในผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมซึ่งมักเป็นผู้สูงอายุ จะต้องเน้นตรวจสุขภาพช่องปากอย่างสม่ำเสมอ อาจใช้ฟลูออไรด์เคลือบฟันเฉพาะที่ เพื่อการป้องกันอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ต้องระมัดระวังเรื่องความปลอดภัยของยาที่ใช้ทางทันตกรรม เพื่อป้องกันการเกิดปฏิกิริยากับยารักษาโรคทางจิตด้วย ทั้งนี้ในปี 2561 ให้บริการทั้งรักษา ส่งเสริมและป้องกันรวม 5,233 คน

สำหรับญาติที่ดูแลผู้ป่วยจิตเวชที่บ้านมีข้อแนะนำในการดูแลสุขภาพช่องปากผู้ป่วยจิตเวช 6 ประการ ดังนี้ 1.ให้ผู้ป่วยดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว โดยให้จิบบ่อยๆ 2.กระตุ้นให้ผู้ป่วยดูแลความสะอาดในช่องปาก อย่างน้อยให้แปรงฟันหลังอาหารเช้า และก่อนนอนทุกวัน 3.แนะนำให้ใช้ยาสีฟันประเภทที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์ซึ่งสามารถซื้อในท้องตลาดทั่วไป 4.ผู้ป่วยจิตเวชที่เป็นโรคเบาหวานร่วมด้วย ต้องดูแลควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับปกติ โดยกินยาตามแผนการรักษาของแพทย์ 5.ลดกินอาหารหวาน เหนียวเนื่องจากอาหารประเภทนี้จะเกาะติดผิวฟันนาน ทำความสะอาดยากเสี่ยงเกิดฟันผุ และ6. พาผู้ป่วยไปพบทันตแพทย์ตามนัดทุกครั้งทันตแพทย์หญิงกิติมากล่าว

HTML::image( HTML::image(