มาตรการป้องกัน - ควบคุมการแพร่ระบาดของโรคระบบทางเดินหายใจ

21 Oct 2019
นายชวินทร์ ศิรินาค ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กทม. กล่าวว่า ตามที่ นพ.ประภาส จิตตาศิรินุวัตร โฆษกกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ระบุในช่วงปลายฤดูฝนต้นฤดูหนาว ประชาชนมีความเสี่ยงในการเกิดโรคระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ วัณโรค และปอดบวม โดยเฉพาะเด็กเล็กและผู้สูงอายุที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ จะมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคดังกล่าวได้ง่ายและอาจแพร่กระจายไปสู่คนในครอบครัว นั้น สำนักอนามัย ได้เตรียมความพร้อมดูแลสุขภาพประชาชนในช่วงอากาศเปลี่ยนแปลง โดยจัดทำข่าวสุขภาพและสนับสนุนสื่อสิ่งพิมพ์ เช่น โปสเตอร์ แผ่นพับ เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ความรู้การป้องกันโรคระบบทางเดินหายใจและภัยสุขภาพแก่ประชาชน ผ่านช่องทางต่าง ๆ ขณะเดียวกัน ศูนย์บริการสาธารณสุขทั้ง 68 แห่ง ได้จัดทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็ว (SRRT) ให้บริการสอบสวนและควบคุมโรคกรณีเกิดการระบาดของโรค นอกจากนี้ ยังมีมาตรการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคระบบทางเดินหายใจ ประกอบด้วย การเฝ้าระวังการระบาดจากรายงานของสถานพยาบาล เพื่อติดตามและประเมินสถานการณ์และเตรียมความพร้อมรับมือการระบาดของโรคตั้งแต่ระยะเริ่มต้น การจัดทำหนังสือแจ้งเตือนสถานการณ์โรคระบาดระบบทางเดินหายใจ รวมทั้งมาตรการรณรงค์ป้องกันควบคุมโรคไปยังศูนย์บริการสาธารณสุขทุกแห่งสำนักการศึกษา สำนักพัฒนาสังคม เพื่อให้ความรู้ในการดูแลตนเองจากกลุ่มโรคที่พบบ่อยในช่วงอากาศเปลี่ยนแปลง เช่น โรคไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ วัณโรค และปอดบวม แก่ประชาชน ผู้ปกครอง และนักเรียน
มาตรการป้องกัน - ควบคุมการแพร่ระบาดของโรคระบบทางเดินหายใจ

นายสุขสันต์ กิตติศุภกร รองผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ รักษาราชการผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กทม. กล่าวว่า สำนักการแพทย์ได้มีมาตรการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคระบบทางเดินหายใจและภัยสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นในช่วงอากาศเปลี่ยนแปลง ได้แก่ การวินิจฉัยและให้การรักษาที่ถูกต้องตามแนวทางการรักษาโรค และจัดการสำรองยาให้เพียงพอต่อการรักษาผู้ป่วย รวมถึงเตรียมวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขให้กับผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง ขณะเดียวกัน ได้จัดบริการเชิงรุก โดยรณรงค์ให้ความรู้การป้องกันโรคแก่ประชาชนและเครือข่ายรวมทั้งจัดทำโปสเตอร์ให้ความรู้โรคระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ วัณโรค และปอดบวมตามจุดบริการต่าง ๆ พร้อมทั้งเผยแพร่ข้อมูลความรู้ด้านสุขภาพผ่านเว็บไซต์สำนักการแพทย์ (MSD Information Literacy Center : MIL Center) http://prmsd.msdbangkok.go.th/wordpress และ Facebook Fanpage : สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร

HTML::image( HTML::image(