อัตราการใช้กำลังการผลิตในไตรมาสที่ 2 ปี 2562 อัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ระดับร้อยละ 65.58 ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา (ร้อยละ 71.26) และลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2561 (ร้อยละ 68.16) อุตสาหกรรมที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา ได้แก่ การผลิตน้ำตาล การผลิตยานยนต์ และการผลิตผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม เป็นต้น
ทั้งนี้ ยังระบุอีกว่าแนวโน้มไตรมาสที่ 3/2562 อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า คาดการณ์ว่า การผลิตปรับลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการชะลอตัวของอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง เช่น อุตสาหกรรมก่อสร้าง อุตสาหกรรมยานยนต์ และอุตสาหกรรมผลิตบรรจุภัณฑ์กระป๋องโลหะ อย่างไรก็ตาม มีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า ส่วนกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ คาดว่าจะมีการผลิตและการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ลดลง ร้อยละ 3.1 และ 7.9 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากความต้องการ HDD และความต้องการของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์โลกที่ชะลอตัว
ส่วนอุตสาหกรรมรถยนต์ ประมาณการในไตรมาสที่ 3 ปี 2562 จะมีการผลิตรถยนต์ประมาณ 520,000 คัน โดยแบ่งเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศร้อยละ 45-50 และการผลิตเพื่อส่งออกร้อยละ 50-55 รถจักรยานยนต์ ประมาณการในไตรมาสที่ 3 ปี 2562 จะมีการผลิตรถจักรยานยนต์ประมาณ 480,000 คัน โดยแบ่งเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศร้อยละ 80-85 และการผลิตเพื่อการส่งออกประมาณร้อยละ 15-20
สุธิดา กาญจนกันติกุล ผู้จัดการฝ่ายการตลาด แมนพาวเวอร์กรุ๊ป ประเทศไทย มีมุมมองและความคิดเห็นเกี่ยวกับการสำรวจดังกล่าวว่า แนวโน้มและทิศทางอุตสาหกรรมการผลิตมีอัตราการใช้กำลังการผลิตลดลงที่มีผลสืบเนื่องจากภาวะเศรฐกิจโลกซบเซา ทั้งนี้ จากรายงาน "โรงงานแห่งอนาคต" ของแมนพาวเวอร์
กรุ๊ปซึ่งวิเคราะห์ตลาดแรงงานในอุตสาหกรรมการผลิต กล่าวถึง ปัจจุบันเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงทุกอุตสาหกรรม ซึ่งทางด้านภาคการผลิตจะเป็นอุตสาหกรรมแรกของการเปลี่ยนแปลง ทั้งในแง่ของขนาดและความรวดเร็ว และการเพิ่มขีดความสามารถในแข่งขันทางธุรกิจ ตั้งแต่ผ่านยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมจากรุ่นหนึ่งตั้งแต่ปี ค.ศ. 1970 ถึง 2005 เป็นยุคที่ฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์สมัยใหม่ได้รับการพัฒนาให้เป็นระบบอัตโนมัติอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันเราอยู่ในช่วงปลายของรุ่นที่สอง ที่มีการการเปลี่ยนแปลงในการพัฒนาซอฟต์แวร์ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิตและมีการนำข้อมูลมาใช้อย่างมีประสิทธิผลมากขึ้น และในปีหน้าภาคการผลิตจะเริ่มก้าวเข้าสู่รุ่นที่สามซึ่งเครื่องจักรจะสามารถทำงานด้วยตนเอง รวมถึงการนำหุ่นยนต์เข้ามาใช้ในกระบวนการผลิต
อย่างไรก็ตาม แมนพาวเวอร์กรุ๊ป ในฐานะที่ปรึกษาตลาดแรงงานเชิงนวัตกรรม เห็นว่าแรงงานในกลุ่มนี้จะต้องมีการปรับตัวเพื่อรับการเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะการพัฒนาทักษะ การฝึกอบรมการทำงานซึ่งจะต้องทำอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถรองรับกับการใช้เทคโนโลยีใหม่ นอกจากนี้ บริษัทยังสามารถช่วยบรรเทาความกังวลของพนักงานเกี่ยวกับเทคโนโลยีใหม่ได้โดยการส่งเสริมสภาพแวดล้อมในการเรียนรู้ แม้เทคโนโลยีสมัยใหม่จะทำให้งานบางส่วนปรับลดไป แต่บุคลากรยังสามารถพัฒนาทักษะของตนเพื่อเรียนรู้ทักษะใหม่จากการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งหน้าที่ได้
ทางด้านบริษัทและองค์กรต่าง ๆ อาจคิดว่าจะสามารถบริหารจัดการกับความเปลี่ยนแปลงด้วยการนำระบบอัตโนมัติเข้ามาใช้ และกำลังเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิทัล แต่รุ่นต่อไปล้ำหน้ากว่าระบบอัตโนมัติด้วยการใช้ระบบที่เรียนรู้ด้วยตนเองและคาดการณ์ล่วงหน้าได้ เครื่องจักรไม่ได้ทำงานทางกายภาพเท่านั้นแต่ยังสามารถคิดเองได้โดยใช้ปัญญาประดิษฐ์หรือเทคโนฯ AI ซึ่งปรากฏการณ์นี้จะส่งผลกระทบต่อกำลังคนหรือแรงงานอย่างชัดเจน ดังนั้น การฝึกอบรมจะช่วยเพิ่มพูนทักษะที่จะช่วยให้บุคลากรสามารถทำงานร่วมกับปัญญาประดิษฐ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
จากรายงาน "มนุษย์ที่เป็นที่ต้องการ" ของแมนพาวเวอร์กรุ๊ป ระบุว่า ขณะที่พนักงานทั้งหมดต้องเพิ่มพูนทักษะ สำหรับพนักงานร้อยละ 35 ของทั้งหมดจะเป็นการฝึกอบรมระยะสั้นไม่เกินหกเดือนสำหรับการพัฒนาศักยภาพให้เพิ่มสูงขึ้น และอีกร้อยละ 9 ต้องการการฝึกอบรมเป็นเวลา 6 ถึง 12 เดือน ในขณะที่อีกร้อยละ 10 ต้องใช้เวลากว่าหนึ่งปีในการเพิ่มพูนทักษะเพื่อก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งสูงขึ้น พบข้อสรุปว่า การเพิ่มพูนทักษะในระยะสั้นและเน้นเฉพาะจุดเป็นระยะเวลา 6 เดือนหรือน้อยกว่าเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพสูงสุด
อย่างไรก็ตาม ระบบดิจิทัลไม่ได้ทำให้งานหมดไป แต่จะมีผลกระทบอย่างมหาศาลต่อตำแหน่งงานส่วนใหญ่ แม้ว่าแนวโน้มและทิศทางของอุตสาหกรรมการผลิตลดลง แต่แรงงานยังคงต้องพัฒนาทักษะต่อไป การเพิ่มพูนทักษะจึงเป็นสิ่งจำเป็นในช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงนี้ ไม่มีใครสามารถคาดเดาอนาคตได้ แต่หากมีทักษะที่เหมาะสม วัฒนธรรมการเรียนรู้ และการมุ่งเน้นช่วยเหลือบุคลากรให้พัฒนาอาชีพของตนสำหรับตำแหน่งงานที่เป็นที่ต้องการ เราจะพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ได้ดียิ่งขึ้น
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit