นักวิจัยทางการแพทย์และนักวิทยาศาสตร์ที่ทำงานกับสายการบินแควนตัสรายงานว่าระหว่างเที่ยวบินเดินทางมีการมอนิเตอร์คลื่นสมองนักบิน ระดับฮอร์โมนเมลาโทนิน และการตื่นตัวจากการออกกำลังกายภายในห้องโดยสารของผู้โดยสาร รวมถึงการปรับแสงภายในห้องโดยสารและอาหารที่ให้บริการที่คาดว่าจะช่วยลดอาการเจ็ทแล็ค (jetlag) หรืออาการอ่อนเพลียจากการเดินทางด้วยเครื่องบินเป็นเวลานาน
เมื่อเดินทางถึงนครซิดนีย์ประเทศออสเตรเลีย มร.อลัน จอยส์ ประธานกรรมการบริหารแควนตัสกรุ๊ปซึ่งร่วมเดินทางในเที่ยวบินครั้งนี้ด้วยเผยว่า "นับเป็นครั้งแรกจริงๆ สำหรับโลกการบิน และหวังว่านี่จะเป็นตัวอย่างของเที่ยวบินที่ให้บริการตามปรกติที่จะช่วยให้ผู้คนสามารถเดินทางจากซีกโลกหนึ่งไปอีกซีกโลกหนึ่งได้ เราทราบดีว่าเที่ยวบินระยะไกลพิเศษมีความท้าทายอย่างมากแต่นั่นก็เป็นเรื่องจริงเสมอว่าเทคโนโลยีได้ช่วยให้เราสามารถบินได้ไกลมากยิ่งขึ้น งานวิจัยที่เรากำลังดำเนินการอยู่นี้น่าจะช่วยให้เรามีกลยุทธ์ที่ดียิ่งขึ้นในการปรับปรุงความสะดวกสบายและการมีสุขภาพดีตลอดการเดินทาง"
"ตามปรกติระหว่างเที่ยวบินในช่วงเวลากลางคืนจะเสิร์ฟอาหารเย็นก่อนปิดไฟ แต่สำหรับเที่ยวบินไกลพิเศษเราเริ่มเสิร์ฟอาหารกลางวันแล้วเปิดไฟต่อไปอีก 6 ชั่วโมง เพื่อให้สอดคล้องกับวันที่เราจะเดินทางถึงจุดหมายปลายทาง นั่นหมายความว่าเราได้เริ่มลดอาการเจ็ทแล็ค ที่น่าสนใจคือเราจะสามารถย่นระยะเวลาการเดินทางได้เท่าไร สำหรับเที่ยวบินปรกติ QF12 เส้นทางนิวยอร์กไปซิดนีย์ที่หยุดพัก 1 ครั้ง ซึ่งออกเดินทางล่วงหน้าไป 3 ชั่วโมงก่อนเที่ยวบินตรงของเรา แต่ปรากฏว่าเที่ยวบินตรงของเรากลับเดินทางถึงก่อนอยู่หลายนาที นั่นหมายความว่าเราสามารถประหยัดเวลาการเดินทางได้โดยที่ไม่ต้องหยุดพัก"
กัปตันซีน โกลดิง กัปตันสายการบินแควนตัสซึ่งนำนักบิน 4 คน ปฏิบัติงานในเที่ยวบินไกลพิเศษนิวยอร์ก-ซิดนีย์ กล่าวว่า "เที่ยวบินจากนิวยอร์กไปซิดนีย์เป็นไปด้วยความเรียบร้อย มีลมปะทะตลอดคืนทำให้ในช่วงแรกเราบินได้ช้าซึ่งเป็นไปตามแผนงานที่วางไว้ และจากการที่เราทราบว่าจะใช้ระยะเวลาบินนานเท่าไร ทำให้สามารถบินได้ตามเส้นทางการบิน เราสนใจงานควบคุมจราจรทางอากาศอย่างมากเมื่อบินผ่านน่านฟ้าต่างๆ เนื่องจากความพิเศษของเที่ยวบินระยะไกลพิเศษนี้ นอกจากนั้นเรายังมีสัญญาณพิเศษจากหอควบคุมการบินทั้งในช่วงที่ออกเดินทางจากนิวยอร์กและช่วงที่เดินทางถึงซิดนีย์ซึ่งปรกติแล้วจะไม่มีทุกวัน โดยรวมแล้วพวกเรามีความสุขกับเที่ยวบินระยะไกลพิเศษนี้ที่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย และยังได้รวบรวมข้อมูลที่จะช่วยให้สามารถประเมินก่อนให้บริการเที่ยวบินตามปรกติในอนาคตต่อไป"
ก่อนถึงสิ้นปี 2562 นี้จะมีเที่ยวบินวิจัยอีก 2 เที่ยวบิน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการประเมินโครงการซันไร้ซ์ ได้แก่ เที่ยวบินจากลอนดอนไปซิดนีย์ในเดือนพฤศจิกายน และเที่ยวบินนิวยอร์กไปซิดนีย์อีกครั้งในเดือนธันวาคม โดยปริมาณของเสียในเที่ยวบินเพื่อการวิจัยทั้งหมดจะมีการลดลงด้วย ทั้งนี้คาดว่าการตัดสินใจเกี่ยวกับเที่ยวบินในโครงการซันไร้ซ์จะมีขึ้นปลายปีนี้
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit